ข้อได้เปรียบการรักษาโควิด-19 ด้วย “โมโนโคลนอลแอนติบอดี”


โดย PPTV Online

เผยแพร่




เปิดข้อได้เปรียบการรักษาโควิด-19 ด้วย “โมโนโคลนอลแอนติบอดี” ซึ่งคาดว่าในอนาคต จะเป็นวิธีรักษาผู้ป่วยที่น่าสนใจ

นพ.พงศกร จินดาวัฒนะ ผู้อำนวยการอาวุโสด้านการสื่อสาร โรงพยาบาลกรุงเทพ ให้ข้อมูลว่า หลักการของโมโนโคลนอลแอนติบอดีคือการสกัดแอนติบอดีหรือภูมิคุ้มกันจากเซลล์เม็ดเลือดขาว

ซึ่งข้อดีของวิธีการรักษาแบบนี้คือ “มันจะจำเพาะต่อโรคได้มาก เพราะเลือกได้ว่าจะสังเคราะห์ออกมาสำหรับโรคอะไร วิธีการนี้มีการวิจัยและพัฒนามาระยะหนึ่งแล้ว ก่อนหน้าที่จะมีการระบาดของโควิด-19 เขาก็มุ่งเน้นที่จะให้ใช้ในการรักษาโรคที่รักษายาก เช่น มะเร็ง”

ประเทศใดบ้างในโลก ฉีดวัคซีนโควิด-19 เข็มที่ 4 แล้ว

รู้จัก “โมโนโคลนอลแอนติบอดี” ทางเลือกรักษาโควิด-19 เยอรมนีบริจาคให้ไทย

ทั้งนี้ การรักษาด้วยวิธีโมโนโคลนอลแอนติบอดีเป้นสิ่งใหม่ ยังอยู่ในขั้นของการศึกษาและพัฒนา แต่ผลการลองเอามาใช้จริงในหลายประเทศ ก็ทำให้มีข้อมูลในระดับหนึ่ง จนองค์การอาหารและยาสหรัฐฯ (FDA) อนุมัติให้ใช้รักษาผู้ป่วยโควิด-19 ได้กรณีฉุกเฉิน เหมือนวัคซีนหลาย ๆ ตัวที่ความจริงแล้วยังไม่มีผลการทดลองสมบูรณ์ ก็มีการนำมาใช้แล้วในบางประเทศ

“ส่วนคำถามที่ว่า ได้ผลดีมั้ย จากงานวิจัยของหลายประเทศพบว่า ช่วยได้ เป็นอีกหนึ่งทางเลือกของการรักษาโควิด-19 แทนที่จะใช้ยาต้านไวรัส เช่น ฟาวิพิราเวียร์ เพราะข้อจำกัดของยาต้านไวรัสคือ อีกสักหน่อยพอไวรัสกลายพันธุ์ไปมาก ๆ จะเกิดการดื้อยาได้ ฉะนั้นโมโนโคลนอลแอนติบอดีก็เป็นตัวเลือกที่ดี” นพ.พงศกรกล่าว

สำหรับประเทศไทยเอง ได้มีการอนุมัติใช้ในกรณีฉุกเฉินโดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แล้ว เป็นการอนุมัติใช้ฉุกเฉินให้สามารถนำมาใช้ได้ แต่วิธีการรักษานี้ จำเป็นต้องรักษาเฉพาะคนไข้ในโรงพยาบาล ไม่สามารถแจกให้คนไข้เอาไปใช้เองได้เหมือนฟาวิพิราเวียร์ เนื่องจากต้องมีการติดตามคนไข้อย่างใกล้ชิด

อีกทั้งการรักษาด้วยโมโนโคลนอลแอนติบอดีจะให้ยาทางหลอดเลือด ส่วนปริมาณแล้วแต่สภาวะของคนไข้ รวมถึงต้องพิจารณาตามอายุ น้ำหนัก ส่วนสูง แต่ให้ทุกวัน จนคนไข้อาการดี จึงจำกัดไว้สำหรับผู้ป่วยในโรงพยาบาลที่มีบุคลากรการแพทย์ดูแลเท่านั้น ไม่สามารถจัดหามารักษาเองได้

นพ.พงศกรบอกว่า ผู้ป่วยที่จะได้พิจารณารับการรักษาด้วยโมโนโคลนอลแอนติบอดีต้องมีข้อบ่งชี้ด้วย โดยส่วนใหญ่จะให้ในผู้ป่วยโควิด-19 กลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงมาก ๆ เช่น สูงอายุมาก อยู่ในกลุ่ม 7 โรคร้ายแรง อ้วน ฯลฯ และจะใช้ได้ผลดีก็ต่อเมื่อให้ยาเร็ว พบว่าผลบวกแล้วอยู่ในกลุ่มเสี่ยงสูง ก็สามารถให้ได้เลย ไม่ต้องรอให้มีอาการ ไม่อย่างนั้นอาจจะช้าไป

โมโนโคนอลแอนติบอดีในไทยที่ใช้อยู่เป็นลูกผสม ครึ่งหนึ่งสกัดจากเซลล์หนู อีกครึ่งสกัดจากเซลล์เม็ดเลือดขาวของผู้ที่เคยป่วยเป็นโควิด-19 แล้วหายดีแล้ว แล้วนำมาผสมกันเป็นยา ในไทยปัจจุบันจะมีอยู่ในโรงพยาบาลที่เป็นโรงเรียนแพทย์ โรงพยาบาลใหญ่ ๆ ส่วนเคสที่พบว่ารักษาโควิด-19 ด้วยโมโนโคลนอลแอนติบอดีในไทยตอนนี้คาดว่ายังน้อยอยู่

แม้แต่กับมะเร็ง โมโนโคลนอลแอนติบอดีก็ยังอยู่ในขั้นวิจัย บางประเทศใช้แล้ว ไทยเองก็มีบ้าง แต่น่าจะเป็นคนไข้ที่อยู่ในโครงการวิจัย ยังไม่มีการใช้แพร่หลายทั่วไป

แม้กระนั้น มีการคาดการณ์ว่า การรักษาผู้ป่วยด้วยโมโนโคลนอลแอนติบอดีในอนาคตจะแพร่หลายมากขึ้น

“ผมว่าน่าจะเป็นวิธีที่ใช้เยอะขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะกับเคสเที่มีความเสี่ยงสูงเพราะให้ผลดี ต่อไปพอมันเริ่มแพร่หลาย ที่เราเห็นกาชาดให้คนหายโควิด-19 มาบริจาคเลือด ส่วนหนึ่งก็เอาเซลล์มาพัฒนาโมโนโคลนอลแอนติบอดีได้ด้วย” นพ.พงศกรกล่าว

 

ภาพจาก Getty Image / Shutterstock

TOP สุขภาพ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ