เตือน "โรคอุจจาระร่วง" โรคที่มากับน้ำท่วม


โดย PPTV Online

เผยแพร่




ระวัง “โรคอุจจาระร่วง” โรคที่มากับน้ำท่วม แนะ กินอาหาร "สุก ร้อน สะอาด" ส่วนข้าวกล่องบริจาค ควรปรุงไม่เกิน 4 ชั่วโมง

ช่วงนี้มีฝนตกอย่างต่อเนื่องในหลายพื้นที่ บางแห่งตกหนัก ทำให้เกิดน้ำท่วมขัง หรือเกิดน้ำป่าไหลหลาก ได้รับความเดือดร้อนเป็นวงกว้าง ยังคงต้องติดตามดูสถานการณ์น้ำตลอดเวลา

ซึ่งในช่วงสถานการ์น้ำท่วม มักจะมีโรคภัยไข้เจ็บที่มาพร้อม ๆ กับน้ำท่วม โดยเฉพาะ "โรคอุจจาระร่วง" ซึ่งเป็นโรคติดต่อที่ต้องระมัดระวัง เพราะเกิดจากการรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำที่มีเชื้อโรคปนเปื้อน

แนะ 5 วิธีป้องกันโรคและภัยสุขภาพจากน้ำท่วม-น้ำป่าไหลหลาก

ผู้ประสบภัยน้ำท่วมต้องระวัง 3 โรคภัยที่มากับสายน้ำ

แนะแจกจ่ายอาหารบริจาคพื้นที่น้ำท่วมให้หมดก่อน 4 ชม. หลังปรุงสุก

อาการของ "โรคอุจจาระร่วง"
-ถ่ายอุจจาระเหลวอย่างน้อย 3 ครั้งขึ้นไป
-ถ่ายเป็นน้ำอย่างน้อย 1 ครั้ง
-ถ่ายมีมูกเลือดหรือมูกปนเลือด 
-อาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน
-ในอาการที่รุนแรง ถ่ายเป็นน้ำคล้ายน้ำซาวข้าว คราวละมาก ๆ จะทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำและเกลือแร่ เกิดภาวะขาดน้ำเป็นอันตรายต่อชีวิตได้
-ผู้สูงอายุต้องระวังเป็นพิเศษ อาจจะมีอาการรุนแรงได้

การปฐมพยาบาลเบื้องต้น
-ดื่มสารละลายผงน้ำตาลเกลือแร่ ผสมน้ำสะอาดตามสัดส่วนที่ระบุข้างซอง ดื่มแทนน้ำบ่อย ๆ หรือ
-ใช้น้ำตาลทราย 2 ช้อนโต๊ะ กับเกลือป่นครึ่งช้อนชา ละลายในน้ำต้มสุกที่เย็นแล้ว 1 ขวดกลม หรือประมาณ 750 ซีซี ควรดื่มให้หมดภายใน 1 วัน
-ต้องระวังภาวะขาดน้ำ ผู้ที่มีอาการควรดื่มน้ำหรือกินอาหารเหลว
-ไม่ควรกินยาเพื่อให้หยุดถ่าย เพราะจะทำให้เชื้อโรคคั่งค้างอยู่ในร่างกาย เป็นอันตรายได้
-หากอาการยังไม่ดีขึ้น ควรรีบไปสถานพยาบาลใกล้บ้าน

วิธีป้องกัน
-กินอาหารที่ปรุงสุก ใหม่ ร้อน ๆ
-หลีกเลี่ยงอาหารที่มีแมลงวันตอม
-ดื่มน้ำสะอาด เช่น น้ำต้มสุกหรือน้ำดื่มบรรจุขวด
-หากเป็นอาหารข้ามมื้อ ให้อุ่นร้อนอย่างทั่วถึง
-หลีกเลี่ยงอาหารสุก ๆ ดิบ ๆ ที่ไม่ได้ผ่านการฆ่าเชื้อจากความร้อน
-ล้างมือด้วยด้วยน้ำและสบู่ทุกครั้ง ก่อนปรุงหรือกินอาหาร และภายหลังขับถ่ายหรือสัมผัสสิ่งสกปรก
-กำจัดสิ่งปฏิกูล ขยะมูลฝอยให้มิดชิด
-ถ่ายอุจจาระลงส้วม ไม่ถ่ายอุจจาระและไม่ทิ้งขยะลงน้ำ เพื่อลดความสกปรกในน้ำท่วมขัง

กรณีอาการบริจาค อย่าง "ข้าวกล่อง" ควรปรุงไม่เกิน 4 ชั่วโมง หลีกเลี่ยงเมนูที่บูดเสียง่าย อาทิ อาหารที่ปรุงจากกะทิ ควรเป็นอาหารที่สามารถเก็บไว้ได้ 1-2 วัน เช่น ข้าวเหนียวนึ่ง หมูทอด เนื้อทอด ปลาทอด ส่วนผู้ประสบภัยควรบริโภคอาหารบริจาคภายใน 4-6 ชั่วโมง ไม่ควรเก็บไว้นาน หรือเก็บข้ามคืน 

ส่วนกรณี "อาหารสำเร็จรูป" และ "อาหารกระป๋อง" ควรดูสภาพสี กลิ่น กระป๋องหรือภาชนะบรรจุ ที่ปิดสนิท ไม่ฉีกขาด กระป๋องไม่ปูดบวม หรือเป็นสนิม และสังเกตวันหมดอายุ ก่อนบริโภค ควรอุ่นให้ร้อน โดยนำมาใส่ภาชนะอื่นก่อน แล้วทำการอุ่นให้เดือด ห้ามอุ่นอาหารทั้งกระป๋องโดยเด็ดขาด

ที่มา กรมควบคุมโรค, กรมอนามัย

PR - ตารางคะแนน-2_B PR - ตารางคะแนน-2_B
TOP สุขภาพ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ