ผลทดลองใช้ยาต้านโควิด-19 "โมลนูพิราเวียร์" พร้อมไทม์ไลน์นำเข้าใช้ในไทย


โดย PPTV Online

เผยแพร่




ผลทดลองใช้ยาต้านโควิด-19 "โมลนูพิราเวียร์" พบต้านได้ทุกสายพันธุ์ พร้อมไทม์ไลน์นำเข้าใช้ในไทย ล่าสุด ร่างสัญญาซื้อขายแล้วเสร็จ หากขึ้นทะเบียน อย.สหรัฐ พร้อมนำเข้าทันที คาดเริ่มใช้ ช่วง พ.ย.64 ถึง ต้นปี 65

นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ ความคืบหน้ายาต้านไวรัสโมลนูพิราเวียร์ หรือยาต้านไวรัสโควิด-19 ชนิดเม็ด ซึ่งออกฤทธิ์โดยการต้านการจำลองตัวเองของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) เมื่อเชื้อเข้าไปอยู่ในเซลล์แล้วเชื้อไวรัสจะไปแบ่งตัวเพื่อจำลองตัวเองทำให้มีจำนวนเชื้อไวรัสเพิ่มมากขึ้น ซึ่งยาต้านไวรัสโมลนูพิราเวียร์ จะไปยับยั้งการจำลองดังกล่าว แต่ไม่ได้ออกฤทธิ์ต่อตัวหนามของไวรัส

รู้จัก "ยาโมลนูพิราเวียร์ (Molnupiravir )" รัฐบาลเตรียมนำเข้ารักษาโควิด-19

หลายชาติเจรจาซื้อยาเม็ดต้านโควิด ของ “เมอร์ค” หลังผลทดลองดีเกินคาด

จึงสามารถที่จะไปยับยั้งการเพิ่มจำนวนตัวเองของทุกสายพันธุ์ ณ ปัจจุบันที่มีอยู่ คือ สายพันธุ์ดั้งเดิม (อู่ฮั่น) สายพันธุ์อัลฟา สายพันธุ์เดลตา สายพันธุ์แกรมมา  สายพันธุ์มิว ก็สามารถยับยั้งได้ ซึ่งเรียกว่า MOVe-OUT Trial

ผลการทดลองได้ผลดีในผู้ป่วยอาการเล็กน้อย ถึง ปานกลาง

โดยการทดลอง MOVe-OUT Trial ใช้ในผู้ป่วยที่มีอาการเล็กน้อย ถึง ปานกลาง มีปัจจัยเสี่ยงอย่างใดอย่างหนึ่งคือ อ้วน มะเร็ง หัวใจ เบาหวาน หรือ อายุ 60 ปีขึ้นไป และที่เคยไม่ได้รับวัคซีน  โดยจะให้ยาภายใน 5 วันตั้งแต่เริ่มมีอาการ  ปรากฏว่าการทดลองมีผลสำเร็จในระยะที่ 1 และ 2 จึงเดินหน้าในเฟสที่ 3 ต่อ

จากการศึกษาวิเคราะห์เบื้องต้น ผู้ป่วยทั้งหมด 775 คน ได้รับยาโมลนูพิราเวียร์จริง 385 คน และยาหลอก 377 คน ซึ่งผู้ที่รับยาโมลนูพิราเวียร์ 385 คน จะใช้ในปริมาณ 800 มิลลิกรัมวันละ 2 เวลา เช้า - เย็น เป็นระยะเวลา 5 วัน พบว่า ลดความเสี่ยงการนอนโรงพยาบาล 50% และไม่มีผู้เสียชีวิต

ในส่วนของผู้ป่วยอาการหนัก ก่อนหน้านี้มีการทดลองใช้แต่ไม่ได้ผลดี จึงระงับการทดลองไป

ไทม์ไลน์นำเข้า ยาต้านโควิด-19 โมลนูพิราเวียร์ ใช้รักษาผู้ป่วยโควิด-19 ในประเทศไทย

สำหรับการนำเข้า ยาโมลนูพิราเวียร์ ประเทศไทยได้ทำการเจรจากับ  บริษัท เมอร์ค จำกัด ซึ่งขณะที่กำลังอยู่ระหว่างการยื่นขอขึ้นทะเบียนใช้ในกรณีฉุกเฉินกับ อย.สหรัฐ (FDA) หากขึ้นทะเบียนแล้วจะเป็นยาต้านโควิด-19 ชนิดเม็ดตัวแรก จากนั้นบริษัท เมอร์ค ตั้งเป้าจะผลิตยา ยาโมลนูพิราเวียร์  สำหรับผู้ป่วยโควิด-19 ให้ได้ 10 ล้านคนภายในสิ้นปี 2564 

นอกจากนั้นบริษัท เมอร์ค  จะทำสัญญากับการฐานการผลิตในประเทศอินเดีย เพื่อให้ได้ยาโมลนูพิราเวียร์ ในราคาถูกและขายให้กับประเทศที่มีรายได้น้อย ถึง ปานกลาง (ไทย) 

ดังนั้น หากไปดูไทม์ไลน์ ยาต้านโควิด-19 ชนิดเม็ด โมลนูพิราเวียร์ ที่คาดว่าจะเข้ามาใช้ในประเทศไทย คือ 

ก.ย.-ส.ค.64        บริษัท เมอร์ค หารือ กรมการแพทย์ วิจัยยาต้านไวรัสโควิด-19

ส.ค. - ก.ย.64      บริษัท เมอร์ค หารือ กรมการแพทย์ จัดหา จัดซื้อ สั่งจอง

ก.ย.-ต.ค.64        ไทยร่างสัญญาซื้อขายภาษาไทยและอังกฤษ ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนทางกฎหมาย

ต.ค.-พ.ย.64        คาด FDA สหรัฐฯ อนุมัติ ใช้ในกรณีฉุกเฉิน

พ.ย. 64 - ต้นปี 65 : อย.ไทยอนุมัติ - เริ่มใช้ยาโมลนูพิราเวียร์ในไทย

นอกจากนั้น ในช่วงเดือน ธ.ค. บริษัท เมอร์ค เตรียมที่จะเข้ามาศึกษาทดลองกับไทย ในรูปแบบ MOVe-AHEAD STUDY โดยเป็นการศึกษาการใช้ ยาโมลนูพิราเวียร์ เพื่อป้องกันโควิด-19 ในผู้ที่สัมผัสหรือผู้ที่ติดเชื้อโควิด-19 แล้ว ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของการขออนุมัติจาก คณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในคน (Ethic Committee)

ยาโมลนูพิราเวียร์ ฉุด หุ้นผู้ผลิตวัคซีน mRNA ร่วง ขณะที่ เมอร์ค หุ้นพุ่งสวนทาง

อย่างไรก็ตาม หลังจากที่มีการเปิดเผยประสิทธิภาพของยาโมลนูพิราเวียในการรักษาโรคโควิด-19 ซึ่งนับเป็นความหวังในการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ราคาหุ้นของไฟเซอร์ดิ่งลง 3% และโมเดอร์นาดิ่งลง 10% ในการซื้อขายที่ตลาดหุ้นวอลล์สตรีท เมื่อวันที่ 1 ต.ค.64 ขณะที่ราคาหุ้นบริษัทเมอร์ค พุ่งขึ้นสวนทางไป 11%  หลังออกมาประกาศเตรียมยื่นขออย.สหรัฐ (FDA) เพื่อใช้ในกรณีฉุกเฉิน

 

TOP สุขภาพ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ