จิตแพทย์เด็ก เผยอีกวิธีช่วยรักษาเด็กสมาธิสั้นด้วยการเน้นปรับพฤติกรรม


โดย PPTV Online

เผยแพร่




จิตแพทย์เด็กเผยอีก 1 วิธีในการรักษาเด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้น นอกจากการใช้ยา ซึ่งหนึ่งในนั้นคือการปรับพฤติกรรม ที่ต้องทำควบคู่กันไป

อย่างที่รู้กันดีว่าปัจจุบัน มีหลายครอบครัวที่ประสบปัญหาการเลี้ยงลูก ที่ไม่อยู่นิ่ง และไม่มีสมาธิจดจ่อกับอะไรได้นานๆ จนบางคนแพทย์วินิจฉัยว่าเป็นโรคสมาธิสั้น หรือ เรียกย่อๆว่า ADHD มาจากชื่อในภาษาอังกฤษ “Attention deficit/ hyperactivity disorder” ซึ่งเมื่อเด็กกลุ่มนี้ได้รับการยืนยันโรค ก็ต้องเข้ากระบวนการรักษาด้วยการรับประทานยา เพื่อให้เด็กมีสมาธิและพร้อมที่จะเรียนรู้ ในสิ่งที่พ่อ แม่ ผู้ปกครองจะสอนให้ 

แนะผู้ใหญ่ “หงุดหงิดง่าย” – “สมาธิไม่ดี” พบแพทย์ตรวจ “โรคสมาธิสั้น” ก่อนอาการรุนแรง

หมอจิตเด็ก เผย 9 วิธี เลี้ยงลูกผิดจนเป็นเหตุให้ "เด็กติดเกม"

ซึ่งการรับประทานยาเป็นเพียง 1 วิธีช่วย ที่สามารถช่วยให้เด็กกลุ่มนี้มีสมาธิขึ้น และพร้อมรับข้อมูลที่จะถูกป้อนให้ แต่ถ้าจะให้พัฒนาการเด็กดีขึ้น งานนี้ก็ต้องทำควบคู่ไปกับการปรับพฤติกรรม โดย รศ.นพ.ชาญวิทย์ พรนภดล จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เจ้าของเพจ ‘สมาธิสั้นแล้วไง’ ระบุว่า การปรับพฤติกรรมต้องเริ่มจากความเข้าใจในตัวโรคและพฤติกรรมของลูก สิ่งสำคัญหรือพ่อแม่ต้องมีสติ มีความอดทน ใจเย็นในการเลี้ยงดูลูก และไม่หยุดหาความรู้เพิ่มเติมเพื่อนำมาปรับใช้กับพฤติกรรมของลูกในเรื่องต่างๆ เช่น ความใจร้อน การไม่ชอบอดทนรอ โดยคุณหมอแนะนำว่าให้เลือกพฤติกรรมที่มีปัญหาที่สุดมาก่อน และค่อยๆปรับไปทีละอย่าง
 
ขณะที่ครู และโรงเรียนก็เป็นอีกส่วนสำคัญในการช่วยรักษาเด็กสมาธิสั้นค่ะ บทบาทของคุณครูอาจมีได้ตั้งแต่การจัดสถานที่ให้เด็กสมาธิสั้นนั่งอยู่บริเวณที่จะไม่มีสิ่งรบกวนมากนัก เช่น หลีกเลี่ยงการนั่งติดหน้าต่าง อาจมีการสอนเสริมในส่วนที่เด็กเรียนไม่ทัน หาจุดดีของเด็กมาเพื่อให้กำลังใจเด็ก รวมถึงการลดตราบาป (stigma) ในห้องเรียน

พร้อมกันนี้ รศ.นพ.ชาญวิทย์  ยังแนะนำให้จัดการพฤติกรรมมที่มักพบได้ในเด็กสมาธิสั้น และทำให้พ่อแม่และครูปวดหัวอยู่บ่อยๆ อาทิ ปัญหาไม่มีวินัย ปัญหาผัดวันประกันพรุ่ง ขาดแรงจูงใจ ด้วยวิธีดังต่อไปนี้ 

ปัญหาไม่มีวินัย 
อย่างแรก ต้องทำความเข้าใจก่อนว่าการสร้างวินัยและการจัดลำดับงานเป็นเรื่องยากมากสำหรับเด็กสมาธิสั้น เนื่องจากเด็กกลุ่มนี้จะมีการจัดลำดับความสำคัญแตกต่างจากเด็กปกติ โดยจะเอาสิ่งที่รู้สึกสนุกหรือน่าสนใจขึ้นมาไว้สำคัญอันดับแรกๆ ส่วนสิ่งที่ไม่ชอบก็จะไม่สนใจ ชอบหมกงานดองงานจนถึงวันกำหนดส่ง 

บทบาทของพ่อแม่คือการช่วยลูกจัดลำดับความสำคัญของงานต่างๆ โดยเริ่มจากการอธิบายความสำคัญและความเร่งด่วนของงานแต่ละชิ้น พ่อแม่สามารถใช้ตัวช่วยจัดการเวลาต่างๆ เช่น ในเด็กเล็กๆอาจใช้เป็น Timer ที่มองเห็นได้และส่งเสียงเตือนได้ ในวัยรุ่นอาจใช้แอปพลิเคชั่น (application) ช่วยจัดการตารางเวลา เช่น google calendar

ปัญหาผัดวันประกันพรุ่ง ขาดแรงจูงใจ
สมองของเด็กสมาธิสั้นจะถูกขับเคลื่อนด้วยการให้รางวัล (reward) เป็นหลัก การสร้างแรงจูงใจที่เหมาะสมจึงเป็นสิ่งสำคัญมากที่จะกระตุ้นให้เด็กทำงาน แล้วแรงจูงใจที่เหมาะสมคืออะไร ? 

คือสิ่งที่เด็กสนใจ ทำแล้วสนุก มีความสุข หรือทำแล้วได้รับคำชม โดยสิ่งนี้ควรเป็นสิ่งที่มาจากภายในตัวเด็กเอง พ่อแม่จึงควรพูดคุยกับเด็กเพื่อตกลงกันถึงรางวัลและแรงจูงใจนี้ค่ะ และหากเด็กทำงานไปแล้วล้มเลิกกลางคัน อาจจะต้องมีการกระตุ้นด้วยวิธีหลากหลาย เช่น การชม “ทำดีแล้ว อีกนิดเดียว” หรืออาจนำของรางวัลมากระตุ้นเด็กอีกครั้งค่ะ

การรักษาโรคสมาธิสั้นเป็นสิ่งที่ต้องใช้ความร่วมมือจากทุกส่วน ตั้งแต่คุณหมอที่จ่ายยาและให้คำแนะนำ ควบคู่กับการปรับพฤติกรรมโดยครอบครัว และตัวผู้ป่วยเองที่ต้องพยายามทำตามข้อตกลงและกินยาอย่างสม่ำเสมอ เข้าสู่การรักษาด้วยกัน ประคับประคองกันให้ผ่านไปให้ได้

เพื่อให้เด็กสมาธิสั้นคนหนึ่งเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ได้โดยไม่แตกสลาย

 

ที่มา 
รศ.นพ.ชาญวิทย์ พรนภดล จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล 

TOP สุขภาพ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ