"ไกด์บุ๊กตรวจสุขภาพประจำปี" รายการที่จำเป็นสำหรับคนทำงาน


โดย PPTV Online

เผยแพร่




การเช็กสุขภาพร่างกายในวัยทำงานถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ ในการตรวจเช็กต้องทำอะไรบ้างเรามีวิธีมาบอก

หลังจากทุ่มเททำงานหนักมาตลอดทั้งปี หลายคนก็อาจมองหาสถานที่พักผ่อนเพื่อผ่อนคลายความเครียด แต่บางครั้งการทำงานหนักก็อาจส่งผลกระทบกับสุขภาพของเราโดยไม่รู้ตัว ดังนั้นการตรวจสุขภาพประจำปี จึงมีความสำคัญเพราะจะเป็นการเช็กสภาพร่างกาย ว่าเป็นอย่างไร และมีจุดใดที่ต้องทำการรักษาก่อนจะสายเกินแก้  ซึ่งในการตรวจสุขภาพคนทำงานแบบเราจะต้องตรวจอะไรบ้าง วันนี้เรามีรายละเอียดมาบอกกัน 

 

ประกันสังคม เชิญชวนผู้ประกันตนตรวจสุขภาพฟรีใน รพ.ตามสิทธิ

ขอเถอะ! “โบนัส- วันหยุด-วันลา-ประกันสุขภาพ” ชาวออฟฟิศอยากได้

 

สิ่งจำเป็นที่คนวัยทำงาน (ช่วงอายุ 20 – 60 ปี) จำเป็นต้องตรวจ

-ตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (Complete Blood Count: CBC) เป็นการตรวจเพื่อดูลักษณะของเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว และเกล็ดเลือดว่าสมบูรณ์ดีหรือไม่ เช่น มีภาวะโลหิตจางหรือไม่ และมีภาวะการอักเสบเกิดขึ้นในร่างกายหรือไม่ เป็นต้น

-ตรวจระดับน้ำตาลในเลือด (Fasting Blood Sugar) เป็นการตรวจเพื่อดูความเสี่ยงของโรคเบาหวาน ในบุคคลอายุระหว่าง  40 – 70 ปี

- ตรวจระดับไขมันในเลือด (Lipid Profiles) เป็นการตรวจเพื่อดูความเสี่ยงของหลอดเลือดและหัวใจ ถ้ามีปริมาณมาก ก็จะมีความเสี่ยงของหลอดเลือดและหัวใจมากขึ้น

- ตรวจการทำงานของตับและไต เนื่องจากอวัยวะทั้งสองมีหน้าที่ในการกำจัดของเสียออกจากร่างกาย สร้างสมดุลของเกลือแร่ในร่างกาย ถ้าค่าการทำงานของตับและไตปกติ ก็จะสามารถบอกถึงความสามารถในการกำจัดของเสียออกจากร่างกายที่ปกติ แต่ถ้าค่าผิดปกติ ก็จำเป็นจะต้องดูสาเหตุของการทำงานที่ผิดปกติโดยแพทย์อีกครั้ง

 

สิ่งที่ต้องตรวจสุขภาพเพิ่มเติม เฉพาะกลุ่ม

เพศชาย   แนะนำให้เพิ่มการตรวจคัดกรองมะเร็งต่อมลูกหมาก ในบุคคลกลุ่มเสี่ยงที่มีอายุตั้งแต่ 55 – 69 ปี

เพศหญิง  แนะนำให้ตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก ในอายุมากกว่า 35 ปี หรือผู้หญิงที่เคยมีเพศสัมพันธ์แล้ว อันเนื่องมาจากความเสี่ยงของการรับเชื้อไวรัส HPV รวมถึงการคัดกรองมะเร็งเต้านม แนะนำให้เข้ารับการตรวจแมมโมแกรม(การเอกซเรย์เต้านมด้วยปริมาณรังสีขนาดต่ำ) ในหญิงอายุระหว่าง 50 – 74 ปี

 

นอกจากนั้น คนวัยทำงานที่ทำงานในสถานประกอบการยังจำเป็นต้องตรวจคัดกรองความเสี่ยงจากการทำงาน เช่น การสัมผัสฝุ่น สารเคมี โลหะหนักบางชนิด หรือการสัมผัสเสียงดัง โดยแนะนำให้ตรวจตามความเสี่ยงรายแผนก หรือเฉพาะบุคคล นอกจากจะเป็นการตรวจเพื่อคัดกรองและป้องกันความเสี่ยงแล้ว ยังเป็นการตรวจเพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายกำหนดไว้อีกด้วย

ที่มา : คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

TOP สุขภาพ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ