ทำไมราคาน้ำมันวิ่งใกล้ 100 เหรียญ จากความกังวลรัสเซียบุกยูเครน


โดย PPTV Online

เผยแพร่




สัญญาณเตือนว่ารัสเซียเตรียมบุกยูเครนเริ่มดังขึ้นเรื่อย ๆ ได้เขย่าตลาดน้ำมันครั้งใหญ่ ดันราคาขยับใกล้ 100 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรลอย่างรวดเร็ว

ตลาดมองว่าความขัดแย้งที่เกิดขึ้นจะทำให้การส่งออกน้ำมันของรัสเซียหยุดชะงักลง ท่ามกลางความต้องการเพิ่มขึ้น โดยอุปสงค์หรือความต้องการน้ำมันทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้นมากกว่ากำลังการผลิตที่ออกสู่ตลาด ขณะที่เศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัวจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด หากความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครนเพิ่มสูงขึ้นนำไปสู่สงคราม จะกระทบต่อการส่งออกน้ำมัน ซึ่งรัสเซียเป็นผู้ผลิตน้ำมันอันดับ 3 ของโลก

จับตารัสเซียเคลื่อนกำลังบุกยูเครน ทองคำวิ่งทะลุ 1,900 ดอลลาร์

5 ผลกระทบใหญ่ทั่วโลกที่ "ต้องรู้" หากรัสเซียบุกยูเครน

หลายชาติแจ้งพลเรือนเร่งอพยพจากยูเครน

การเคลื่อนไหวราคาน้ำมัน

นักวิเคราะห์กล่าวว่าสถานการณ์ความตรึงเครียดระหว่างรัสเซียกับยูเครนในช่วงไม่กี่วันมานี้ ดันราคาน้ำมันเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยราคาน้ำมันในตลาดโลกพุ่งขึ้นสูงสุดรอบ 8 ปี และราคายังไม่เคยขยับขึ้นเหนือ 100 เหรียญ/บาร์เรล ตั้งแต่ปี 2014

สถานการณ์ในยูเครนเป็นปัจจัยหลัก ซ้ำเติมตลาดน้ำมันที่ตรึงตัวอยู่แล้ว และดูเหมือนว่าสิ่งที่เกิดขึ้นสร้างความปั่นป่วนในตลาด

สถานการณ์ดังกล่าวยังส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นทั่วโลก ที่กำลังปรับตัวกับสถานการณ์เงินฟ้อและการปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางหลายแห่ง ขณะที่รัสเซียไม่เพียงแต่ส่งออกน้ำมันรายใหญ่เท่านั้น ยังมีสินค้าอื่น ร่วมถึงข้าวสาลี ซึ่งความขัดแย้งจนกลายเป็นสงครามจะส่งผลกระทบต่อราคาสินค้าทั่วโลก

แม้ว่านักวิเคราะห์การเมืองบางคนมองว่าสถานการณ์อาจไม่รุนแรงอย่างที่คาดการณ์ไว้ เพราะขณะนี้สหรัฐก็ยังไม่ได้ระบุชัดเจนว่ามาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่ออุตสาหกรรมน้ำมันรัสเซียนั้นเป็นอย่างไร และในทางกลับกันรัสเซียก็พึ่งพารายได้จากการส่งออกน้ำมันในแต่ละปีมหาศาล

ทำเนียบขาวออกมาเตือนหลายครั้งว่าจะมีมาตรการคว่ำบาตรรัสเซีย หากมีการบุกยูเครน และสงครามอาจนำไปสู่สถานการณ์ที่ไม่อาจคาดเดาได้ โดยสหรัฐเตือนเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาว่ารัสเซียอาจทำการบุกยูเครนได้ทุกเวลา จากทหารนับแสนนายตามแนวชายแดน แม้ว่ารัสเซียจะปฏิเสธว่าไม่มีแผนการเช่นนั้น

แต่ทำไมราคาน้ำมันและก๊าซพุ่งทะยานขึ้นจากความขัดแย้งที่เกิดขึ้น?

ปัจจุบันรัสเซีย มีบทบาทอย่างมากในตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ของโลก โดยส่งออกน้ำมันวันละ 5 ล้านบาร์เรล หรือราว 12% ของการค้าน้ำมันทั่วโลก และส่งออกผลิตภัณฑ์ปืโตรเลียม วันละ 2.5 ล้านบาร์เรล หรือ ประมาณ 10% ของการค้าโลก โดยรัสเซียส่งออกน้ำมันไปยุโรป  60% และไปที่อื่นอีก 30% โดยเฉพาะจีน

ความตรึงเครียดระหว่างรัสเซียกับยูเครน เกิดขึ้นในช่วงที่กลุ่มโอเปก และพันธมิตร หรือรู้จักกันในนาม OPEC+ กำลังพิจารณาเพิ่มกำลังการผลิตป้อนตลาด จากความต้องการน้ำมันเพิ่มขึ้น เนื่องมาจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ

นักวิเคราะห์กล่าวว่ากลุ่ม OPEC+ ตกลงจะเพิ่มกำลังการผลิตวันละ 400,000 บาร์เรล แต่ก็ยังห่างเป้าหมายที่ 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ขณะนี้ตลาดกำลังต้องคำถามใหม่ว่า OPEC+ จะรักษาระดับการผลิตไว้เท่ากับก่อนโควิด-19 ได้หรือไม่

ซาอุดิอาระเบีย และอาหรับอามิเรตส์ เป็นเพียง 2 ประเทศในกลุ่ม OPEC+ ที่มีกำลังการผลิตเหลืออยู่ ขณะที่ตลาดคาดว่าอุปสงค์น้ำมันจะเพิ่มขึ้น 3.8-4 ล้านบาร์เรล/วัน จากการฟื้นตัวเศรษฐกิจหลังสิ้นสุดการระบาดของโอมิครอน

ขณะที่ผู้ผลิตน้ำมันในสหรัฐ เพิ่มกำลังการผลิตเมื่อราคาน้ำมันขยับสูงขึ้น แต่การเพิ่มกำลังการผลิตยังห่างไกลจากอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้น บริษัทน้ำมันที่ผลิตจากเชลออยล์ ไม่ได้เพิ่มการลงทุนจากช่วงราคาน้ำมันร่วงลง เนื่องมาจากสงครามราคากับกลุ่มโอเปกพลัส และปันผลให้กับผู้ถือหุ้นโดยไม่ได้ลงทุนเพิ่ม ทำให้ไม่สามารถป้อนน้ำมันเข้าสู่ตลาดได้เพียงพอ โดยคาดว่าสหรัฐจะเพิ่มกำลังการผลิตได้เพียง 240,000 บาร์เรล/วันจนถึงสิ้นปี 2022

พลังงานในยุโรปจะหยุดชะงัก จากความขัดแย้งที่เกิดขึ้น โดยรัสเซียส่งออกก๊าซประมาณวันละ 2.3 หมื่นล้านลูกบาศก์ฟุต คิดเป็นประมาณ 25% ของการค้าโลก และ 85% ส่งไปยังยุโรป

โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่อส่งก๊าซที่ผ่านยูเครนจะหยุดชะงักลงหากเกิดความขัดแย้งนำไปสู่สงคราม จะส่งผลกระทบการใช้ก๊าซในยุโรป เพราะท่อส่งผ่านยูเครนมีมากถึง 4 พันล้านลูกบาศก์ฟุต

ความขัดแย้งจะกระทบอย่างหนักต่อการส่งก๊าซไปยุโรป หากรัสเซียเลิกส่งก๊าซ หรือ สหรัฐประกาศคว่ำบาตร จะทำให้บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านพลังงานในยุโรปจำเป็นต้องจัดหาแหล่งก๊าซอื่นมาทดแทน โดยเฉพาะ LNG ซึ่งมีผู้ส่งออกรายใหญ่คือ สหรัฐ กาตาร์ และออสเตรเลีย แต่มีความสามารถการผลิตเพื่อทดแทนค่อนข้างจำกัดในระยะสั้น

รัฐเซียเองอาจต้องจ่ายในราคาแพงหากเดินหน้าสู่ความขัดแย้ง หากยอดขายพลังงานจากฟอสซิลลดลง เพราะประมาณครึ่งหนึ่งของงบประมาณรายจ่ายประจำปีมาจากรายได้จากน้ำมันและก๊าซ 

ผลกระทบยิ่งกว่านั้น หากสหรัฐทำตามที่ประกาศไว้ คือ จะไม่มีการใช้ท่อก๊าซที่ส่งจากรัสเซียเส้นใหม่ หรือ  Nord Stream 2 ให้กับเยอรมนี ซึ่งจะทำให้บริษัทน้ำมันของรสเซีย คือ Gazprom ประสบปัญหาการชำระหนี้

หากการส่งก๊าซให้ยุโรปลดลงก็จะส่งผลกระทบต่อตลาดน้ำมันมากยิ่งขึ้น เพราะจะทำให้โรงไฟฟ้าและอุตสาหกรรมอื่นที่พึ่งพาก๊าซรัสเซีย ต้องหันไปพึ่งน้ำมัน และนั่นจะทำให้ราคาขยับขึ้นไปอีก

นักวิเคราะห์ประเมินว่าหากรัสเซียเคลื่อนกำลังทหาร จะทำให้ราคาน้ำมันพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว ไม่ต้องพูดถึงที่ระดับ 100 เหรียญ แต่เป็นระดับที่สูงกว่านั้น และยิ่งความขัดแย้งยืดเยื้อยาวนาน ผลกระทบก็มีมากขึ้น

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์


TOP หุ้น-การลงทุน

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ