Perfect Storm กำลังมา! เศรษฐกิจถดถอย ส่อลากยาวถึงปีหน้า


โดย PPTV Online

เผยแพร่




หลายปัจจัยกระหน่ำเศรษฐกิจโลกกำลังเข้าสู่ภาวะถดถอย และจะหนักขึ้น หากความเสี่ยงด้านภูมิศาสตร์ที่ยังยืดเยื้อยาวนานและยังไม่มีแนวโน้มจะจบลง

EIC ธนาคารไทยพาณิชย์ ระบุว่าเศรษฐกิจโลกเผชิญปัจจัยเสี่ยงรุมเร้าต่อเนื่องมากว่า 2 ปีแล้ว ตั้งแต่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19  ที่รุนแรงส่งผลให้เศรษฐกิจทั่วโลกเข้าสู่ภาวะถดถอยในปี 2020 และแม้ว่าเศรษฐกิจจะทยอยฟื้นตัวในครึ่งหลังของปี 2021 แต่ยังต้องเผชิญแรงกดดันจากการกลายพันธุ์ของโควิด-19 ทั้งสายพันธุ์เดลตา (Delta) ในช่วงกลางปี 2021 และโอมิครอน (Omicron) ในช่วงปลายปี 2021

อั้นไม่ไหว! กนง.เตรียมขึ้นดอกเบี้ย สกัดเงินเฟ้อ-ลดความเสี่ยง

เฟดขึ้นดอกเบี้ย 0.75% เดือนหน้าขึ้นดอกเบี้ย 0.50-0.75% ในเดือนก.ค.

 

 

ดัชนีดาวโจนส์ในรอบ 1 ปี

ขณะที่การเข้าถึงวัคซีนที่ไม่เท่าเทียมในระยะแรกส่งผลให้ประเทศเศรษฐกิจพัฒนาแล้วที่ประชากรได้รับวัคซีนทั่วถึงฟื้นตัวได้เร็วกว่าประเทศเศรษฐกิจกำลังพัฒนา

เศรษฐกิจโลกในปี 2022 กำลังเผชิญความเสี่ยงที่จะกลับเข้าสู่ภาวะถดถอยอีกครั้ง จาก 3 ปัจจัยหลัก ประกอบด้วย

  1. สงครามรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลให้ปัญหาอุปทานคอขวดกลับมาแย่ลงและยืดเยื้อกว่าที่คาด อีกทั้ง ราคาสินค้าโภคภัณฑ์โดยเฉพาะในภาคพลังงานและอาหารยังมีแนวโน้มอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง
  2. มาตรการล็อกดาวน์และควบคุมการแพร่ระบาดที่เข้มข้นจากนโยบาย Zero Covid ของจีน กระทบต่ออุปสงค์ภายในประเทศจีนและซ้ำเติมปัญหาอุปทานโลกเพิ่มเติม จากบทบาทของจีนที่เป็นประเทศผู้ผลิตสินค้ารายใหญ่ และหนึ่งในศูนย์กลางการขนส่งของโลก
  3. การดำเนินนโยบายการเงินตึงตัวของธนาคารกลางของเศรษฐกิจหลัก โดยเฉพาะในสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป ที่เร็วและแรงเพื่อสกัดเงินเฟ้อ กดดันการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกและเพิ่มความผันผวนในภาคการเงินโลก

ความเสี่ยงดังกล่าวส่งผลให้ 3 เศรษฐกิจหลักของโลก อันได้แก่ สหรัฐฯ ยุโรป และจีน มีแนวโน้มชะลอตัวลงในเวลาเดียวกัน แม้ด้วยปัจจัยที่แตกต่างกันไป ซึ่งจะส่งผลให้เศรษฐกิจโลกในปีนี้มีแนวโน้มชะลอตัวลงอย่างมีนัยสำคัญ
 
เศรษฐกิจยุโรปที่มีแนวโน้มเข้าสู่ภาวะถดถอยมากที่สุด

เนื่องจากได้รับผลกระทบรุนแรงจากสงครามรัสเซียและยูเครน เศรษฐกิจยุโรปมีการพึ่งพาการนำเข้าพลังงานจากรัสเซียสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเศรษฐกิจสำคัญของภูมิภาค ได้แก่ เยอรมนี และอิตาลี ทำให้ได้รับผลกระทบโดยตรงจากวิกฤตการขาดแคลนพลังงาน ส่งผลให้ระดับราคาพลังงานและอัตราเงินเฟ้อปรับตัวเพิ่มขึ้นรุนแรง กดดันการฟื้นตัวของการใช้จ่ายภาคเอกชน รวมถึงส่งผลให้ธนาคารกลางของยุโรปต้องดำเนินนโยบายการเงินที่ตึงตัวเร็วขึ้น ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงด้านภาระต้นทุนการกู้ยืมให้เพิ่มขึ้นและกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ให้ปรับแย่ลง โดยเฉพาะอิตาลี และกรีซ ที่มีระดับหนี้ต่อ GDP สูงกว่า 100%
 
เศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้มชะลอตัวลงเร็วจากการดำเนินนโยบายทางการเงินที่ตึงตัวรุนแรงที่สุดในรอบเกือบ 30 ปี

เพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้นเร็วสุดในรอบกว่า 40 ปี จากความไม่สมดุลของด้านอุปสงค์และอุปทาน กล่าวคือ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ร้อนแรงในปีที่ผ่านมาส่งผลให้อุปสงค์อยู่ในภาวะแข็งแกร่ง ประกอบกับตลาดแรงงานที่อยู่ในภาวะตึงตัวมากส่งผลให้ระดับค่าจ้างปรับตัวสูงขึ้นเร็ว ขณะที่อุปทานสินค้ายังฟื้นตัวไม่เต็มที่

อีกทั้ง สงครามในยูเครนได้ซ้ำเติมปัญหาเงินเฟ้อให้รุนแรงขึ้นจากระดับราคาพลังงานที่จะอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง ส่งผลให้ธนาคารกลางของสหรัฐฯ ต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% หรือ 75 bps ในการประชุมในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสูงกว่าอัตราที่ตลาดเคยคาดการณ์ไว้ และเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อครั้งที่มีขนาดสูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 1994

นอกจากนี้ ธนาคารกลางมีแนวโน้มจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 50-75 bps ในการประชุมครั้งต่อไป จึงเพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะเศรษฐกิจถดถอยจากภาวะการเงินที่ตึงตัวขึ้นเร็วได้
 
เศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มชะลอตัวลงจากปัจจัยภายในประเทศเป็นหลัก และถูกซ้ำเติมด้วยจากการชะลอตัวของอุปสงค์โลก

โดยที่ผ่านมาทางการจีนได้ดำเนินนโยบาย Zero Covid ต่อเนื่อง เพื่อวัตถุประสงค์ทางด้านสาธารณสุขที่มุ่งเน้นให้อัตราการติดเชื้อและการเสียชีวิตอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากจำนวนประชากรของจีนที่สูงมาก จะส่งผลให้จำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตในจีนอาจสูงมากแม้อัตราการติดเชื้อจะต่ำ นโยบายที่เข้มงวดส่งผลให้เกิดการหยุดชะงักของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในภาคการผลิต และการชะลอตัวของอุปสงค์ภายในประเทศที่ฟื้นตัวช้าเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว รวมถึงทำให้อัตราการว่างงานกลับมาอยู่ในระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2020

ภาคอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นกิจกรรมสำคัญของเศรษฐกิจจีน (เกือบ 30% ของ GDP) มีแนวโน้มชะลอตัวลงต่อเนื่อง จากมาตรการควบคุมด้านสินค้าเพื่อลดความร้อนแรงที่อาจกลายเป็นความเสี่ยงต่อระบบเศรษฐกิจ นอกจากนี้ ภาคการส่งออกที่เคยเป็นปัจจัยสำคัญสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจจีนก็มีแนวโน้มชะลอตัวลงในปีนี้จากอุปสงค์ทั่วโลกที่ชะลอตัวลงเช่นกัน

เศรษฐกิจโลกอาจเข้าสู่ภาวะถดถอยในระยะต่อไปมากขึ้น

ปัจจัยเสี่ยงรุมเร้าข้างต้นจะกดดันการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในระยะต่อไป ส่งผลให้ความน่าจะเป็นที่เศรษฐกิจโลกจะเข้าสู่ภาวะถดถอยในระยะต่อไปมีเพิ่มมากขึ้น จากการชะลอตัวลงพร้อมกันของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยุโรป และจีน อีกทั้ง นโยบายทางการเงินมีแนวโน้มตึงตัวขึ้นเร็วพร้อมกันทั่วโลกเพื่อควบคุมเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มอยู่ในระดับสูงกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้

ทั้งนี้ความเสี่ยงที่เศรษฐกิจโลกจะเข้าสู่ภาวะถดถอยรุนแรงในปีนี้มีอยู่ต่ำ เนื่องจากเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้น ยังต่ำกว่าอัตราเงินเฟ้อเมื่อเทียบกับวิกฤตในอดีต เช่น วิกฤตปี 1970 ที่อัตราเงินเฟ้อปรับเพิ่มขึ้นสูงกว่า 10%

อีกทั้ง เศรษฐกิจอยู่ในภาวะแข็งแกร่งกว่า สะท้อนจากอัตราการว่างงานในปัจจุบันที่อยู่ในระดับต่ำ รวมถึงสถานะทางการเงินภาคเอกชนที่อยู่ในภาวะเข้มแข็ง สะท้อนจากระดับหนี้ที่ยังไม่สูงมาก และอัตราเงินออมที่อยู่ในระดับสูงผลจากข้อจำกัดในการใช้จ่ายในช่วงโควิด-19 ซึ่งปัจจัยดังกล่าวจะสนับสนุนการใช้จ่ายภาคเอกชน ทำให้สามารถรองรับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นจากภาวะทางการเงินที่ตึงตัวขึ้นต่อไปได้

ทั้งนี้ความเสี่ยงที่เศรษฐกิจโลกจะเข้าสู่ภาวะถดถอยจะมีเพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะในปีหน้า หากปัจจัยเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์โลกยังคงยืดเยื้อ และธนาคารกลางทั่วโลกไม่สามารถควบคุมเงินเฟ้อให้กลับเข้าสู่ระดับเป้าหมายในระยะต่อไปได้ ทำให้ต้องดำเนินนโยบายการเงินที่ตึงตัวเร็วและรุนแรงมากขึ้นอีก ท่ามกลางปัจจัยสนับสนุนการใช้จ่ายภาคเอกชนที่จะทยอยอ่อนแรงลงในระยะต่อไป จึงอาจนำไปสู่การหดตัวของเศรษฐกิจที่รุนแรงได้

PR - ตารางคะแนน-2_B PR - ตารางคะแนน-2_B
TOP หุ้น การลงทุน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ