หุ้นทั่วโลกดิ่ง กลัวเศรษฐกิจถดถอยอีกรอบ สงครามยูเครนจ่อซ้ำเติม


โดย PPTV Online

เผยแพร่




นักลงทุนกลับกังวลเศรษฐกิจถดถอยอีกครั้ง ทำให้ตลาดหุ้นทั่วโลกถูกเทขายยกแผง โดยเฉพาะยุโรปที่ยังคงมีความเสี่ยงกับปัญหาเชิงภูมิรัฐศาสตร์ หลังท่อก๊าซนอร์ดสตรีม 2 รั่วไหล อาจผลักดันราคาก๊าซให้แพงมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม ท่ามกลางฤดูหนาวที่กำลังจะมาเยือนปลายปีนี้

ค่าเงินบาทเปิด "แข็งค่า" เล็กน้อย แนวโน้มอ่อนจากเฟดเร่งขึ้นดอกเบี้ย

ราคาทองวันนี้ "ยังวิ่งขึ้นต่ออีก 100 บาท" ในการเปิดตลาดครั้งแรก

ตลาดหุ้นโลกวานนี้ (ก.ย.65) ปรับตัวลงยกแผง โดยในสหรัฐฯปรับตัวในแดนลบ ดัชนีหุ้นดาวโจนส์ (Dow Jones) ปิดตลาดปรับลด 458.13 จุด หรือ -1.54% อยู่ที่ระดับ  29,225.61 จุด  ดัชนีแอสแอนด์พี 500 (S&P 500) ปิดตลาดปรับลด 78.57 จุด หรือ  -2.11% อยู่ที่ระดับ  3,640.47 จุด  และดัชนีแนสแด็ก (Nasdaq) ปรับลด 314.13 จุด หรือ - 2.84 % อยู่ที่ระดับ 10,737.51 จุด

ด้านฝั่งยุโรปปรับตัวลดลงราว -1.5% ถึง -1.7% เช่น ดัชนี STOXX 600 ปรับลด 1.67% ที่ระดับ  382.89 จุด

ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมนี ลดลง 1.71% ที่ระดับ 11,975.55 จุด และดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศส ปรับลด 1.53% ที่ระดับ 5,676.87 จุด 

 

ฝ่ายวิจัย บริษัท เอเซียพลัส หรือ (ASPS) ระบุว่า สาเหตุที่ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวลดลง เนื่องจากนักลงทุนยังคงมีความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) ที่จะกลับมาอีกครั้งหนึ่ง โดยเศรษฐกิจของสหรัฐมีความกังวลเข้ามาเพิ่มเติม ประกอบด้วย

- เศรษฐกิจสหรัฐฯเข้าสู่ภาวะถดถอยทางเทคนิค (Technical Recession) หลังการประกาศยืนยันตัวเลข GDP ในไตรมาส 2/65 รอบสุดท้าย (ครั้งที่ 3) หดตัวลง 0.6% จากไตรมาสก่อนหน้า (QoQ) ตามเดิม ขณะที่ไตรมาส 2/65 หดตัวลง 1.6% QoQ ซึ่งเป็นการลดลงติดต่อกัน 2 ไตรมาสติด ทำให้เข้าสู่ภาวะถดถอยทางเทคนิคตามนิยาม

- ตลาดแรงงานยังคงแข็งแกร่ง หลังล่าสุดกระทรวงแรงงานสหรัฐฯ เปิดเผยตัวเลขผู้ขอยื่นสวัสดิการว่างงาน ที่ลดลงจากสัปดาห์ก่อนหน้าจากระดับ 209,000 ราย สู่ระดับ 193,000 ราย ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ เม.ย.65 และต่ำกว่าที่คาดไว้ที่ระดับ 215,000 ราย ประเด็นดังกล่าวทำให้นักลงทุนกังวลว่าตลาดแรงงานสหรัฐฯที่ยังแข็งแกร่ง อาจเป็นปัจจัยหนุนให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ เฟด (FED) ดำเนินนโยบายการเงินตึงตัวเชิงรุกมากขึ้น เพื่อกดดันเงินเฟ้อให้ลดลงเข้าสู่เป้าหมายที่ระดับ 2%

- ดัชนีค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ (Dollar Index) ที่เริ่มอ่อนค่าลง โดยดัชนีค่าเงินดอลลาร์ร่วงลงจากจุดสูงสุดที่ระดับ 115 จุด มาสู่ระดับ 112.25 จุด หรือราว -2.4% ทำให้เกิดความกังวลว่า จะส่งผลกระทบเชิงลบต่อกำไรของบริษัทจดทะเบียนในสหรัฐฯ ที่มีรายได้จากต่างประเทศลดลงได้

- อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ (Bond Yield) ดีดตัวขึ้นเฉพาะอย่างยิ่ง ระยะสั้น โดย อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ อายุ 2 ปี ล่าสุดอยู่ที่ 4.20% และ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ อายุ 10 ปี ล่าสุดอยู่ที่ 3.75% ทำให้Inverted Yield curve ล่าสุดอยู่ที่ 45 Bps. และเกิดความกังวลว่าเศรษฐกิจจะถดถอยในอนาคตจนเกิดการย้ายเม็ดเงินสู่สินทรัพย์เสี่ยงต่ำมากขึ้นไปอีก

 

ขณะที่เศรษฐกิจฝั่งยุโรปมีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะถดถอยอย่างต่อเนื่อง จากความกังวลปัญหาเชิงภูมิรัฐศาสตร์ที่มีแนวโน้มยืดเยื้อต่อไป โดยล่าสุดยุโรปมีการตรวจพบเหตุก๊าซรั่วไหลจากท่อก๊าซนอร์ดสตรีม 2  ซึ่งอาจส่งผลทำให้ราคาพลังงานปรับตัวสูงขึ้น ท่ามกลางความกังวลว่าจะขาดแคลนพลังงานในช่วงฤดูหนาวที่กำลังจะมาถึงนี้ อีกทั้งเงินเฟ้อของประเทศในยุโรปยังอยู่ระดับสูง หลังเยอรมันประกาศอัตราเงินเฟ้อเดือน ก.ย.65 ที่พุ่งสู่ระดับ 10.9% จากปีก่อน (YoY) จึงคาดว่าจะส่งผลให้เกิดภาวะถดถอยตามมา

 

คอนเทนต์แนะนำ
จับตา "น้ำมันขาขึ้น" กลุ่มโอเปกพลัสประชุม 5 ต.ค. จ่อหั่นกำลังการผลิต
แบงก์ชาติ แจง กรณีพบธนบัตรพอลิเมอร์ ราคา 20 บาท มีลักษณะบกพร่อง

TOP หุ้น การลงทุน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ