กลยุทธ์ลงทุนอย่างไร เมื่อ “เฟด” ขึ้นดอกเบี้ยสูง ฉุดเศรษฐกิจถดถอย


โดย PPTV Online

เผยแพร่




เปิดกลยุทธ์ลงทุนอย่างไร ท่ามกลาง เฟด ขึ้นดอกเบี้ยสูงต่อสู้กับเงินเฟ้อ ฉุดเศรษฐกิจถดถอย ส่อกระทบผลกำไรธุรกิจจำนวนมาก

"เงินบาทอ่อน" มีผลต่อเงินในกระเป๋า-การลงทุน? พร้อมวิธีบริหารจัดการ

หุ้นทั่วโลกดิ่ง กลัวเศรษฐกิจถดถอยอีกรอบ สงครามยูเครนจ่อซ้ำเติม

จากการที่ธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา หรือ เฟด (Fed) ได้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.75 ในการประชุมครั้งล่าสุดในเดือนกันยายน ซึ่งนับเป็นการเพิ่มขึ้นมาทั้งหมดร้อยละ 3 ตั้งแต่ต้นปี 2565 โดยอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นนั้นส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจ ผู้บริโภคลดการใช้จ่ายและส่งผลกระทบต่อผลกำไรที่ลดลงของธุรกิจจำนวนมาก ท่ามกลางสถานการณ์ของอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น

นายยุทธชัย เตยะราชกุล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่บุคคลธนกิจ ธนาคารยูโอบี ประเทศไทย  เปิดเผยถึงมุมมองเกี่ยวกับกลยุทธ์การลงทุนในช่วงนี้ว่า

เศรษฐกิจของสหรัฐฯ เข้าสู่ภาวะถดถอยเชิงเทคนิค จากข้อมูลผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 2/65 ลดลงร้อยละ 0.9 GDP และลดลงร้อยละ 1.6 ในไตรมาสแรก ซึ่งหมายความว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ หดตัวติดต่อกัน 2 ไตรมาส

ในมุมมองของธนาคารยูโอบี คาดว่าเศรษฐกิจจะชะลอตัว ตามมาด้วยภาวะเศรษฐกิจถดถอยแบบตื้น เนื่องจากงบดุลของภาคครัวเรือนยังแข็งแรง และหนี้สินที่ยังไม่มากเกินไป โดยการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยอาจไม่รุนแรง สิ่งสำคัญที่สุดคืออยู่ในช่วงปลายของวัฏจักรเศรษฐกิจพร้อมกับการเติบโตที่ชะลอตัวลง และถึงเวลาที่ต้องเตรียมรับมือ และกลยุทธ์การลงทุนเมื่อธนาคารกลางแห่งสหรัฐฯ ขึ้นอัตราดอกเบี้ย ประกอบด้วย

 

ลงทุนอย่างต่อเนื่องพร้อมตระหนักถึงเป้าหมายและความเสี่ยงที่รับได้

ขั้นตอนแรกในการลงทุน คือ การทำความเข้าใจวัตถุประสงค์ของการลงทุน กำหนดระดับความเสี่ยงที่นักลงทุนยอมรับได้ และประเภทผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมกับความเสี่ยง การมีเป้าหมายทางการเงินที่ชัดเจนสามารถช่วยกำหนดกรอบเวลาการลงทุน และทราบถึงระดับความเสี่ยงที่นักลงทุนสามารถทนต่อความผันผวนของการลงทุน

 

กระจายแหล่งรายได้ด้วยสินทรัพย์ที่หลากหลาย เช่น ตราสารหนี้ที่มีคุณภาพ, หุ้นปันผล และสินทรัพย์ที่แท้จริง เช่น อสังหาริมทรัพย์

การลงทุนในตราสารหนี้ ยูโอบี มองว่าตราสารหนี้คุณภาพสูงที่มีการจัดอันดับ BBB ขึ้นไป และออกโดยบริษัทที่มีพื้นฐานที่ดี มีอัตราการกู้ยืมต่ำ และมีแหล่งรายได้จากหลากหลายช่องทางเป็นตัวเลือกที่ดี บริษัทเหล่านี้มีแนวโน้มที่จะมีสถานะกระแสเงินสดที่แข็งแกร่ง มีความสามารถในการชำระคืนที่ดีและให้รายได้ที่มั่นคงสำหรับนักลงทุน สินทรัพย์ประเภท อสังหาริมทรัพย์ เช่น โครงสร้างพื้นฐาน ที่ดิน และทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REIT) เป็นวิธีการในการกระจายแหล่งที่มาของรายได้ให้กับนักลงทุน ดังนั้นนักลงทุนสามารถพิจารณาสินทรัพย์เหล่านี้นอกเหนือจากตราสารหนี้และตราสารทุนทั่วไปเพื่อเป็นทางเลือกในการสร้างรายได้

 

ลงทุนเพื่อรับประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างในระยะยาว และภูมิภาคที่เพิ่งเริ่มฟื้นตัวเพื่อโอกาสในการเติบโต

แม้เศรษฐกิจโลกอาจได้รับผลกระทบจากความผันผวนในระยะสั้น เช่น การระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ หรือความตึงเครียด ความขัดแย้งทางการเมือง นักลงทุนสามารถมุ่งเน้นไปที่การลงทุนในโครงสร้างระยะยาวที่มีเสถียรภาพในการเติบโต โดยแนะนำสามเมกะเทรนด์สำคัญที่ส่งผลกระทบต่อการลงทุนในปัจจุบัน และเป็นพลังขับเคลื่อนโลกแห่งอนาคต ประกอบด้วย  

1. เครื่องมือแห่งอนาคต  เครื่องมือแห่งอนาคตประกอบด้วยการพัฒนาพลังงานสะอาด พลังงานหมุนเวียนเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงเทคโนโลยีที่เร่งการเติบโตของธุรกิจและขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในทุกภาคส่วนของเศรษฐกิจโลก นักลงทุนสามารถพิจารณาลงทุนในเทคโนโลยีที่เข้ามาช่วยจัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการเปลี่ยนแปลงด้านพลังงาน ตลอดจนบริษัทที่ได้รับประโยชน์จากการนำระบบ AI มาใช้

 

2. การบริโภคแห่งอนาคต การเปลี่ยนแปลงทางประชากรนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมของผู้บริโภค ซึ่งจะส่งผลต่อรูปแบบการใช้จ่ายของคนในรุ่นต่างๆ ปริมาณชนชั้นกลางที่มีความมั่งคั่งเพิ่มมากขึ้นในประเทศกำลังพัฒนาจะนำไปสู่ความต้องการสินค้าและบริการที่มีคุณภาพมากขึ้น ในขณะเดียวกัน บางประเทศกำลังเผชิญกับประชากรสูงอายุ ซึ่งหมายความว่าจะมีการใช้จ่ายสินค้าและบริการที่เกี่ยวข้องกับการดูแลสุขภาพเพิ่มขึ้น

เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงของคนในรุ่นต่างๆ องค์กรจะต้องปรับกลยุทธ์และลำดับความสำคัญใหม่เพื่อตอบสนองความต้องการของคนรุ่นมิลเลนเนียลและเจเนอเรชัน Z ซึ่งเป็นคนยุคดิจิทัลที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืนและความรับผิดชอบต่อสังคม นักลงทุนสามารถพิจารณาลงทุนในธุรกิจที่เข้าถึงดิจิทัลอย่างยั่งยืน เพื่อได้รับประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการบริโภคนี้

 

3. ผู้นำเศรษฐกิจในอนาคต  การแข่งขันเชิงกลยุทธ์ระหว่างผู้นำเศรษฐกิจที่ทรงอำนาจของศตวรรษนี้  โดยสหรัฐอเมริกา และจีน  มักจะใช้อิทธิพลเหนือกรอบการกำกับดูแล นโยบายเศรษฐกิจ และการปรับเปลี่ยนตลาดของประเทศอื่น ๆ ตลาดการเงินที่มีขนาดใหญ่ของทั้งในสหรัฐอเมริกาและจีน จะสร้างโอกาสให้กับนักลงทุนในการแสวงหาผลตอบแทนจากการลงทุนในทั้ง 2 ประเทศ

 

อย่างไรก็ตาม นักลงทุนต้องตระหนักถึงความเสี่ยงที่รับได้ของตนเองและรักษาพอร์ตการลงทุนที่หลากหลาย เพื่อลดความเสี่ยงอันเนื่องมาจากเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝัน ด้วยหลักการ Risk-First ของธนาคารยูโอบี จะช่วยให้การลงทุนของนักลงทุนราบรื่นขึ้น โดยแนะนำกลยุทธ์การลงทุนที่หลากหลาย และเหมาะกับความเสี่ยงของนักลงทุนแต่ละราย ก่อนตัดสินใจลงทุนใด ๆ ผู้ลงทุนควรตรวจสอบให้แน่ใจเสมอว่ามีความชัดเจนเกี่ยวกับสิ่งที่พวกเขากำลังลงทุนและได้พิจารณาปัจจัยเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น

 

คอนเทนต์แนะนำ
หลายบริษัท อาจปลดพนักงานซ้ำรอย Shopee เหตุสภาวะเศรษฐกิจ
กสิกรขึ้นดอกเบี้ยฝาก 0.10-0.50% ดอกเบี้ยกู้ 0.25% เฉพาะรายใหญ่
ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยนายก 8 ปี “ประยุทธ์” อยู่ต่อ กลับนั่งเก้าอี้เดิม

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์


TOP หุ้น-การลงทุน

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ