ปลายปีทั้งที่ มองหา กองทุน SSF หรือ RMF เลือกอะไรดี?


โดย PPTV Online

เผยแพร่




ช่วงปลายปีแบบนี้ 2 กองทุนยอดฮิตอย่าง SSF และ RMF ลองมาเปรียบเทียบว่าต้องพิจารณาจากอะไร ถึงจะคุ้ม

 “กองทุน SSF” กับ “กองทุน RMF” จะเลือกกองทุนไหนดี?

ได้เวลาทองเล็งหา "กองทุน" SSF & RMF ตัวช่วยประหยัดภาษี

เรื่องต้องรู้ก่อน "ยื่นภาษี" หักลดหย่อนเลี้ยงดูพ่อ-แม่ กรณีมีลูกหลายคน

ความเหมือนของกองทุน SSF กองทุนรวมเพื่อการออม (Super Saving Fund) และกองทุน RMF กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (Retirement Mutual Fund, RMF)  ทั้ง 2 กองทุน คือการใช้วงเงินในการลดหย่อนภาษีเดียวกัน คือ รวมกันไม่เกิน 500,000 บาท (และต้องรวมการออมเพื่อการเกษียณอายุอื่นๆ เช่น กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และประกันชีวิตแบบบำนาญ)  

มาเปรียบเทียบทั้ง 2 กองทุน 

 

 


 

เงื่อนไขการลงทุน 

  • กองทุนรวมเพื่อการออม (Super Saving Fund, SSF)  30% ของเงินได้พึงประเมิน ลดหย่อนสูงสุดได้ไม่เกิน 200,000 บาท
  • กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (Retirement Mutual Fund, RMF) 30% ของเงินได้พึงประเมิน สูงสุดได้ไม่เกิน 500,000 บาท

เงื่อนไขวงเงินลดหย่อน

  • นับรวม RMF, SSF, PVD, กบข. ประกันชีวิตแบบบำนาญแล้วไม่เกิน 500,000 บาท

ระยะเวลาถือครอง 

  • SSF  10 ปีนับจากวันที่ซื้อ 
  • RMF 5 ปีนับจากวันซื้อครั้งแรก อายุไม่ต่ำกว่า 55 ปี ณ วันขาย

ปีที่ใช้สิทธิลดหย่อนภาษี 

  • SSF ต้องซื้อระหว่างปี 2563 - 2567
  • RMF ลงทุนได้เรื่อยๆ ยังไม่มีข้อกำหนดในการสิ้นสุดการลงทุน

หลักทรัพย์ที่ลงทุน ทั้ง RMF, SSF ลงทุนได้ทุกหลักทรัพย์

จำนวนซื้อขั้นต่ำ

  • SSF  ไม่มีการกำหนดจำนวนซื้อขั้นต่ำ และไม่ต้องซื้อต่อเนื่องทุกปี
  • RMF  ไม่มีการกำหนดจำนวนซื้อขั้นต่ำ และไม่ต้องซื้อต่อเนื่องทุกปี (เดิมซื้อขั้นต่ำ 3% ของเงินได้ หรือไม่น้อยกว่า 5,000 บาท)
     

ถ้าลงทุนเพื่อการเกษียณอายุ RMF จะตอบโจทย์ ถ้าเน้นที่การออมระยะยาวประมาณ 10 ปี SSF จะตอบโจทย์

ต่อมาคือ พิจารณาที่ "อายุ" กับ "ระยะเวลาในการลงทุน"

ถ้าอายุไม่เกิน 45 ปี ถ้าเลือกลงทุนในกอง  SSF จะใช้ระยะเวลาในการลงทุนสั้นกว่า เพราะกำหนดเอาไว้ที่ 10 ปี ถ้าเริ่มซื้อกองทุนตอนอายุ 35 ปี จะขายคืนหน่วยลงทุนได้ตอนอายุ 45 ปี จึงจะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี

ส่วนกองทุน RMF จะขายคืนหน่วยลงทุนได้ตอนอายุ 55 ปี ซึ่งจะเห็นว่าจะใช้ระยะเวลาในการลงทุนนานกว่า

ในทางกลับกันหากอายุ 50 ปี  เลือกลงทุนในกองทุน RMF จะใช้ระยะเวลาในการลงทุนสั้นกว่า เพราะจะสามารถขายคืนหน่วยลงทุนได้ตอนอายุ 55 ปีบริบูรณ์ เท่ากับใช้เวลาลงทุนเพียง 5 ปี แต่ถ้าเลือกลงทุนในกองทุน SSF ต้องใช้ระยะเวลาลงทุน 10 ปี  ทำให้จะสามารถขายคืนได้ก็เมื่ออายุ 60 ปี

เพราะฉะนั้น เมื่อพิจารณาความต้องการในการลงทุนต้องถามก่อนว่าจุดประสงค์ในการลงทุนคืออะไร 

พิจารณาความเสี่ยงและนโยบายการลงทุนของกองทุน

แต่ละกองทุนมีความเสี่ยงที่แตกต่างกัน และสินทรัพย์แต่ละประเภทก็มีความเสี่ยงมากน้อยต่างกัน ถ้ารับความเสี่ยงต่ำก็เน้นกระจายการลงทุนไปสินทรัพย์ประเภทเสี่ยงต่ำ เช่น พันธบัตร ในสัดส่วนที่สูง แต่ถ้ารับความเสี่ยงได้สูงก็อาจพิจารณากองทุนที่ลงทุนในสินทรัพย์ที่เสี่ยงสูงขึ้นได้  เช่น หุ้น ทองคำ เป็นต้น

สิ่งที่สำคัญ คือ การหมั่นทบทวนพอร์ตการลงทุนอย่างสม่ำเสมอ เพราะเมื่อเวลาเปลี่ยน อายุเปลี่ยน สถานการณ์ทางการเงินเปลี่ยน ความสามารถในการรับความเสี่ยงของคุณอาจเปลี่ยนตามก็เป็นได้

พิจารณาความยากง่ายในการหาข้อมูลในการลงทุน

กองทุน RMF  เปิดกองมานานจะมีความหลากหลายในการลงทุน ให้สามารถหาข้อมูลการลงทุนได้ง่ายกว่า เปรียบเทียบแต่ละ บลจ.ได้ แต่ กองทุน SSF เป็นกองเปิดใหม่ ดังนั้นถ้ามีเป้าหมายที่จะลงทุนเพื่อการเกษียณอายุอยู่แล้ว การลงทุนใน RMF ก็น่าที่จะตอบโจทย์เป้าหมายเกษียณอายุของคุณมากกว่า

นอกจากนี้ ระยะเวลาถือครองของกองทุน SSF ที่ 10 ปีเหมือนจะยาว แต่จากสถิติการลงทุนที่ผ่านมา การลงทุนยิ่งยาวยิ่งสร้างผลตอบแทนเฉลี่ยได้สูง และช่วยลดความผันผวนจากการลงทุนลงได้

อย่างไรก็ตาม ทุกการลงทุนมีความเสี่ยงโปรดศึกษาข้อมูลทุกครั้งก่อนการลงทุน

ข้อมูล :  นิภาพันธ์ พูนเสถียรทรัพย์ นักวางแผนการเงินอิสระ นักเขียนและวิทยากร ธนาคารไทยพาณิชย์

PR-โปรแกรมผลบอล-2_B PR-โปรแกรมผลบอล-2_B
TOP หุ้น การลงทุน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ