เงินบาทยังแข็ง คาดสัปดาห์นี้ 32.50-33.30 ตลาดจับตาประชุม “แบงก์ชาติญี่ปุ่น”


โดย PPTV Online

เผยแพร่




เงินบาทยังมีแนวโน้มแข็งค่า “กรุงศรี” คาดสัปดาห์นี้เคลื่อนไหว 32.50-33.30 บาท/ดอลลาร์ เหตุเงินดอลลาร์อ่อนค่าจากแรงกดดันเงินเฟ้อผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว ขณะเดียวกันตลาดกำลังติดตามประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่นพรุ่งนี้ (18 ม.ค.66) ซึ่งอาจทบทวนนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายมากเป็นพิเศษ

ราคาทองวันนี้ ปรับแรง 100 บาท เงินบาทแข็งต่อช่วยหนุนดีดขึ้น

ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้านี้ "อ่อนค่าเล็กน้อย" จากแรงซื้อคืนดอลลาร์

กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) เปิดเผยบทวิเคราะห์ทิศทางค่าเงินบาทว่า สัปดาห์นี้มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 32.50-33.30 บาท/ดอลลาร์ หลังจากสัปดาห์ที่ผ่านมาเงินบาทปิดแข็งค่าที่ 32.98 บาท/ต่อดอลลาร์ โดยเงินบาทแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบกว่า 10 เดือน ซึ่งเงินดอลลาร์อ่อนค่าเมื่อเทียบกับทุกสกุลเงินสำคัญ ดัชนีดอลลาร์แตะระดับต่ำสุดในรอบ 7 เดือน

กราฟแสดงเงินบาทเทียบกับดอลลาร์ ณ ช่วงเช้าวันที่ 17 ม.ค. 66

ทั้งนี้ตลาดมั่นใจมากขึ้นว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ เฟด (FED) จะลดความแข็งกร้าวในการปรับขึ้นดอกเบี้ย หลังดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ทั่วไปของสหรัฐฯ เดือน ธ.ค.65 ลดลง 0.1% จากเดือนก่อนหน้า นับเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 2 ปีครึ่ง และเพิ่มขึ้น 6.5% จากปีก่อนหน้า ซึ่งการเพิ่มขึ้นต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน ต.ค. 64

ขณะที่ CPI พื้นฐานที่ไม่รวมอาหารและพลังงานเพิ่มขึ้น 5.7% จากปีก่อนหน้า ซึ่งเพิ่มขึ้นน้อยสุดตั้งแต่เดือนธ.ค. 64  

ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจจากฝั่งยุโรปที่แข็งแกร่งเกินคาด ได้เพิ่มแรงกดดันต่อค่าเงินดอลลาร์อีกส่วนหนึ่ง

 

สำหรับสัปดาห์นี้ ตลาดจะติดตามผลการประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น หรือ บีโอเจ (BOJ) ซึ่งคาดว่าอาจจะพิจารณาทบทวนนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายมากเป็นพิเศษ ผ่านการปรับมาตรการควบคุมเส้นอัตราผลตอบแทน (Yield Curve Control) ในการประชุมวันที่ 17-18 ม.ค. แม้การประกาศยกเลิก YCC ในรอบนี้ไม่ใช่สมมติฐานหลัก แต่ยอมรับว่ามีโอกาสมากขึ้นเพื่อปูทางสำหรับการปรับนโยบายเข้าสู่ภาวะปกติในอนาคต เนื่องจากเงินเฟ้อและค่าแรงในญี่ปุ่นอาจเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้กรณีที่บีโอเจไม่ปรับ YCC ในสัปดาห์นี้อาจทำให้เงินเยนพักตัวระยะสั้นได้ นอกจากนี้ ตลาดจะติดตามยอดค้าปลีกเดือนธ.ค.ของสหรัฐฯเพื่อประเมินทิศทางดอกเบี้ยเฟดต่อไป

สำหรับกระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายและการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง คาดว่ามีแนวโน้มผันผวนสูง โดยการแข็งค่าอย่างรวดเร็วและต่อเนื่องของเงินบาทอาจมีแรงขายทำกำไรสลับกลับมาบ้าง อย่างไรก็ตาม ในภาพใหญ่ระยะกลางถึงยาวเราประเมินว่าเงินเฟ้อสหรัฐฯที่จะชะลอลง ความคาดหวังต่อการกลับทิศของนโยบายเฟด และการฟื้นตัวอย่างมีนัยสำคัญของภาคท่องเที่ยว เป็นปัจจัยหนุนเงินบาทในปีนี้

TOP หุ้น การลงทุน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ