ปิดฉาก “ไทยสมายล์” จ่อควบรวม “การบินไทย” สิ้นปี 66 โอนย้ายพนักงาน 800 คน
มุมมองเศรษฐา ทวีสิน คนไทยมีบ้านเป็นของตัวเองยากขึ้น?
นายเทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม รองกรรมการผู้อำนวยการ และหัวหน้าสายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส (ASPS) ระบุว่า ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 13 ก.ย. 2561 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประกาศว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นภายในเดือน ก.พ. ปี 2562 ตลาดหุ้นไทยตอบรับทันทีด้วยการปิดที่ 1,717.96 จุด เพิ่มขึ้นจากวันก่อนหน้า (12 ก.ย.61) ราว 38.57 จุด
ปริมาณการซื้อขายหนาแน่นเกือบ 80,000 ล้านบาท จากแรงซื้อของนักลงทุนสถาบันและนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าการเมืองเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งต่อการลงทุน
ขณะที่ปัจจุบัน บรรยากาศการเลือกตั้งกำลังกลับมาอีกครั้ง เมื่อรัฐบาลกำลังจะครบวาระในวันที่ 23 มี.ค. 66 นี้ และจะมีการเลือกตั้งในวันที่ 7 พ.ค. 66 เช่นกัน หรือหากมีการยุบสภาก่อนรัฐบาลจะอยู่ครบวาระก็จะมีการเลือกตั้งเร็วขึ้น ซึ่งมีแนวโน้มจะส่งผลต่อบรรยากาศการลงทุนในตลาดหุ้นไทยด้วยเช่นกัน
โดยการตอบสนองของดัชนีหุ้นไทยในช่วงต้นปีนี้ 2566 ยังไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน เนื่องจากกําหนดการที่จะนําไปสู่การเลือกตั้งได้ถูกคาดหมายไว้ล่วงหน้าอยู่แล้ว แต่ปฏิกิริยาของตลาดหุ้นจะชัดเจนขึ้นอีกก็ต่อเมื่อสามารถคาดการณ์ผลการเลือกตั้ง และหน้าตาของรัฐบาลใหม่ที่จะเกิดขึ้นว่าจะเป็นอย่างไร และมีเสถียรภาพมากน้อยแค่ไหน
หากนักลงทุนประเมินว่าการเลือกตั้งจะมีผลต่อการลงทุน ดังนั้นควรเตรียมแผนการลงทุนให้สอดคล้องกับบรรยากาศที่เหลือไม่เกิน 3 เดือน
ทั้งนี้จากผลการศึกษาผลตอบแทนตลาดหุ้นไทยช่วงก่อนและหลังวันเลือกตั้งที่ดีที่สุดในปี 2544 – 2562 พบว่าดัชนีหุ้นไทยมักให้ผลตอบแทนที่ดีในช่วง 3 เดือน ก่อนการเลือกตั้งเฉลี่ย 3.90% รองลงมาได้แก่ ก่อนเลือกตั้ง 2 สัปดาห์ ให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 2.09% ขณะที่หลังการเลือกตั้งไปแล้ว 1 สัปดาห์จะให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 3.81% และหลังการเลือกตั้งผ่านไปแล้ว 2 สัปดาห์จะให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 3.55%
สำหรับหุ้นกลุ่มที่มักจะให้ผลตอบแทนดีกว่าตลาดโดยรวมในช่วง 3 เดือนก่อนการเลือกตั้ง 5 อันดับแรก ได้แก่ กลุ่มไอซีที สื่อและสิ่งพิมพ์ พาณิชย์ อาหารและเครื่องดื่ม เงินทุนและหลักทรัพย์ โดยให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 9.40%, 7.80%, 6.40%, 5.50% และ 5.20% ตามลำดับ
อย่างไรก็ตาม แม้ปัจจัยการเมืองจะมีผลต่อการลงทุน แต่ก็เป็นปัจจัยระยะสั้น ดังนั้นนักลงทุนควรเพิ่มความระมัดระวังในการลงทุน เพราะราคามีโอกาสที่จะปรับขึ้นลงอย่างรวดเร็ว จึงควรพิจารณาปัจจัยอื่น ๆ ที่อาจกดดันบรรยากาศการลงทุนร่วมด้วย เช่น ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน นโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย หรือปัจจัยภายนอกที่ถ่วงเศรษฐกิจโลก โดยให้พิถีพิถันในการเลือกหุ้น โดยเน้นหุ้นปัจจัยพื้นฐานแข็งแกร่งที่ราคายังปรับขึ้นไม่มาก