ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ ปิดตลาดวันนี้ (14 มี.ค.) ลดลง 49.18 จุด หรือ 3.13% ปิดที่ 1,523.89 จุด มูลค่าการซื้อขายหนาแน่น 103,833.09 ล้านบาท โดยนักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 4,727.13 ล้านบาท ขณะที่นักลงทุนทั่วไปเป็นกลุ่มเดียวที่ซื้อสุทธิ 9,770.89 ล้านบาท
ตลาดหุ้นไทยเผชิญกับแรงเทขายตั้งแต่เปิดตลาดวันจันทร์ จากความวิตกว่าตลาดเงินตลาดทุนจะได้รับผลกระทบจากการปิด ซิลเวอร์เกต แคปิตอล (Silvergate Capital) ซิลิคอน วัลเลย์ แบงก์ (SVB) และซิกเนเจอร์ แบงก์ (Signature Bank) ลุกลามไปภาคเศรษฐกิจอื่น
ราคาทองวันนี้ ปิดตลาดเพิ่มขึ้น 200 บาท เทรดเดอร์มองระยะสั้น ขาขึ้น
ทำไมถึงไม่เรียกว่า "อุ้มแบงก์" จากสหรัฐงัดมาตรการแก้แบงก์ล้ม
แม้จะเผชิญกับแรงเทขายในตลาดหุ้นจากนักลงทุนต่างชาติ แต่เป็นการปรับพอร์ตเพื่อลดความเสี่ยงมากกว่าถอนการลงทุนออกจากตลากเงินตลาดทุนไทย จะเห็นได้จากค่าเงินบาทในช่วงเย็นยังแข็งค่าจากช่วงเช้า โดยเคลื่อนไหวที่ 34.51 บาท/ดอลลาร์ จากช่วงเปิดตลาดที่ 34.50 บาท/ดอลลาร์
แม้ว่านักลงทุนต่างชาติจะเทขายหุ้น 4,727.13 ล้านบาท แต่กลับซื้อตลาดพันธบัตร โดยมีเงินต่างชาติไหนเข้า 4,400 ล้านบาท เป็นพันธบัตรระยะสั้น 1,397 ล้านบาท และตราสารหนี้ระยะยาวมากกว่า 1 ปี 3,003 ล้านบาท ทำให้มียอดการถือครองนักลงทุนต่างชาติ ณ วันที่ 14 ต.ค. รวม 1,065,148 ล้านบาท เพิ่มจากวันศุกร์ที่มียอดการถือครอง 1,063,600 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม จากความไม่แน่นอนในตลาดเงินตลาดทุนตั้งแต่ต้นปี จากนโยบายดอกเบี้ยของเฟด จนถึงวิกฤติสถาบันการเงินในสหรัฐ ทำให้นักลงทุนต่างชาติขายหุ้นออกมาอย่างต่อเนื่อง ณ วันที่ 14 มี.ค. มียอดขายสุทธิ 46,834.51 ล้านบาท ในขณะที่ปีที่ผ่านมา มียอดซื้อสุทธิสะสมกว่า 1.25 แสนล้านบาท
บล.เอเชียพลัส มองว่าปัญหาการปิดตัวลงของสถาบันการเงิน 3 แห่ง ภายในระยะเวลาเพียงแต่ 1-2 สัปดาห์ โดยต้นเหตุของปัญหาสามารถเกิดขึ้นได้ทั่วไป เกิดจากการขาดสภาพคล่องและการปล่อยเงินกู้ให้กับอุตสาหกรรมที่มีความเสี่ยง อย่าง Start up หรือ Digital Asset มากจนเกินไป บวกกับผลจากการที่ Fed ปรับขึ้นดอกเบี้ยแรงขณะที่คุณภาพสินทรัพย์ของสถาบันการเงินลดลง ซึ่งความเสี่ยงเหล่านี้อาจขยายวงกว่าไปยังธนาคารต่างๆ ได้เช่นกัน โดยต่อไป ต้องจับตาสถานการณ์ของ First Republic Bank ซึ่งราคาหุ้นปรับลดลงกว่า 61%
ขณะที่ปัจจัจจุบันเริ่มเห็นสัญญานการเกิดเศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะ Recession มากขึ้น ตั้งแต่เหตุการณ์แห่ซื้อพันธบัตรในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย ทำให้ Bond yield สหรัฐ 2 ปี และ 10 ปี ปรับตัวลงมาเกิน 1% ภายในระยะเวลาเพียงแค่ 3 วัน ประกอบกับ Fed มีโอกาสปรับขึ้นดอกเบี้ยอีกเพียง 0.25% ในรอบเดือน มี.ค. (ล่าสุด Fed Watch Tool ให้น้ำหนักสูงถึง 65%) และดอกเบี้ยอาจทยอยลดลงในช่วงครึ่งปีหลัง
เมื่อพิจารณาจากข้อมูลในอดีตประกอบ เห็นได้ว่าในช่วงที่ Fed เร่งปรับลดดอกเบี้ย มักจะเป็นเกิดวิกฤตในช่วงนั้น ส่งผลให้ตลาดหุ้นปรับตัวลงหลังจากนั้น
สรุป ต้นเหตุของปัญหาการปิดตัวลงของสถาบันการเงิน 3 แห่งของสหรัฐ เป็นความเสี่ยงทั่วไป ทำให้มีโอกาสลุกลามไปยังสถาบันการเงินอื่นได้เช่นกัน และอาจส่งผลให้
ภาพรวมเศรษฐกิจเผชิญกับความเสี่ยงเข้าสู่ภาวะ Recession ตลอดจนเกิดความผันผวนในตลาดการเงิน ซึ่งเป็น Sentiment เชิงลบต่อบ้านเราที่น่าจะหลีกเลี่ยงได้ยาก
นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า การที่ดัชนีหุ้นไทยร่วงแรง 49.18 จุด หรือ 3.13% ปิดที่ 1,523.89 จุด เป็นการปรับตัวลงตามตลาดหุ้นภูมิภาคที่ปรับลดลง 2-3 % โดยนักลงทุนต่างชาติ และ สถาบันในประเทศ เทขายหนัก โดย นักลงทุนต่างประเทศ ขายสุทธิ 4,727.13 ล้านบาท และ สถาบันในประเทศ ขายสุทธิ 2,442.04 ล้านบาท แต่นักลงทุนรายย่อยเป็นผู้ซื้อสุทธิ ถึง 9,770.89 ล้านบาท เป็นปฏิกิริยาที่ Over-React จากความไม่แน่นอนใน Global Market ไม่ใช่ปัจจัยในประเทศ ซึ่งเชื่อว่าเมื่อตลาดหุ้นสหรัฐ และ ยุโรปเปิดทำการซื้อขาย นักลงทุนจะได้ข้อมูลที่ชัดเจนมากขึ้น
ตลาดหลักทรัพย์มองว่า มาตราการที่ทางการสหรัฐ และ อังกฤษ นำมาแก้ปัญหาการล้มละลายของธนาคารซิลิคอน วัลเลย์ แบงก์ (SVB) และ Signature Bank มีความเข้มแข็ง และ ดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว และเพียงพอ ซึ่งจะช่วยให้วิกฤติครั้งนี้ ไม่ลุกลาม
ดังนั้นจึงอยากให้นักลงทุนพิจารณาข้อมูลให้สมเหตุสมผล ขอให้นักลงทุนอย่าตื่นตระหนก เพราะเราเห็นสัญญาณที่ดีขึ้นจากยุโรป และ สหรัฐ ไม่ได้ตื่นตระหนกเหมือนเมื่อวานนี้
“ช่วงท้ายตลาดที่ดัชนีหุ้นไทยปรับลงมาแรงมาก เพราะตลาดหุ้นไทยเป็นตลาดสุดท้ายในเอเชียที่ยังเกิดทำการซื้อขายเกิดอยู่ จึงมีคำสั่งขายจากตลาดอื่น ๆ เข้ามา ไม่ใช่ ฟอร์ซเซล หรือ ชอร์ตเซล ที่มากกว่าปกติ เพราะตามปกติจะอยู่ต่ำกว่า 10 % วันนี้ทุกอย่างที่เกิดขึ้นอยู่ในสหรัฐอเมริกา และ ยุโรป ยังไม่รู้ว่าตลาดทั้ง 2 แห่ง เปิดมาจะเป็นอย่างไร จึงเกิดความไม่แน่นอนในตลาดเอเซีย ทำให้เกิดโอเวอร์รีแอคชั่นในตลาดเอเชีย ที่มาจากการคาดเดาได้” นายภากร กล่าว
สำหรับแรงขายหุ้นที่มีจำนวนมาก เป็นหุ้นในกลุ่มพลังงาน ซึ่งน้ำหนักในการคำนวณดัชนีประมาณ 20 % จากข่าวราคาน้ำมันโลก ที่ปรับตัวลดลง นอกจากนี้ยังมีแรงขายหุ้นในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ และ อิเล็คทรอนิคส์ ซึ่งมีน้ำหนักในการคำนวณดัชนีกลุ่มละ 15 %
นายภากร ย้ำว่า วิกฤติแบงก์สหรัฐล้มในครั้งนี้ ไม่กระทบเศรษฐกิจไทย ความสามารถทำกำไรของบริษัทจดทะเบียน โดยบริษัทจดทะเบียนยังมีผลการดำเนินงานที่ดี โดยเฉพาะกลุ่มท่องเที่ยว โรงแรม อาหาร และ โรงพยาบาล ที่ได้รับผลดีจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และ การเปิดประเทศ