นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก สกพอ. หรือ อีอีซี ร่วมกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย, ก.ล.ต. และธนาคารแห่งประเทศไทย จัดทำโครงการพัฒนาแหล่งระดมทุน EEC Fundraising Venue เพื่อให้นักลงทุนสามารถทำธุรกรรมการเงิน ระดมทุนในต้นทุนที่เหมาะสม โดยเฉพาะจากกลุ่มบริษัทข้ามชาติ กลุ่มทุนผู้ประกอบการไทยขนาดใหญ่ กลุ่มสตาร์ทอัพ ใน 12 อุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษ
เลขาธิการ อีอีซี เปิดเผยว่า หากธุรกิจจากต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศ แล้วจดทะเบียนบริษัทในประเทศไทย ก็จะสามารถนำมาระดมทุนในตลาดทุนไทยได้ง่ายขึ้น ซึ่งครั้งนี้ถูกพัฒนาให้สามารถเทรดด้วยสกุลเงินต่างประเทศ เริ่มต้นที่สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ ทั้งแพลตฟอร์ม SET กับ Mai
ประกอบกับอีกหนึ่งรูปแบบคือ "สินทรัพย์ดิจิทัล" ในศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลในไทย เพื่อเป็นทางเลือกใหม่ให้กับผู้ประกอบการในธุรกิจมูลค่าสูง ที่ต้องการระดมทุนในรูปแบบโปรเจกต์ไฟแนนซ์ รวมถึงกลุ่มสตาร์ทอัพ และกลุ่มนวัตกรรม
"ในพื้นที่ อีอีซี มีนักลงทุนต่างชาติราว 2,000 ราย สัดส่วนเป็นรายใหญ่ 60-70% หากเขาจะระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ต้องจดทะเบียน ต้องใช้เวลาจัดพอร์ตการเงินราว 2-3 ปี แต่การพัฒนาครั้งนี้เราสร้างความพร้อมไว้ให้ทันที รวมถึงกฎระเบียบที่เป็นบริษัทต่างชาติ 100% ก็สามารถนำเข้ามาระดมทุนได้เช่นกัน อีกทางหนึ่งนักลงทุนไทยที่ไปลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ต่างประเทศราว 5,000 ล้านเหรียญ เขาก็สามารถกลับมาระดมทุนในบ้านเราได้เช่นกัน" -เลขาธิการ อีอีซี กล่าว
ขณะที่ ดร.ภาดร ปีตธวัชชัย กรรมการผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ระบุว่า สิ่งที่ทั้ง 4 หน่วยงานร่วมกันพัฒนาครั้งนี้ คือ การเตรียมตัวสร้างทางเลือกให้กับนักลงทุน เมื่อใดที่บริษัทใน อีอีซี มีปริมาณความต้องการ จะสามารถพัฒนาต่อได้ทันที ส่วนกฎระเบียบการดูแลนักลงทุนยังไม่ต่างกัน สิ่งสำคัญ คือ มีทางเลือกในการลงทุนด้วยสกุลเงินต่างประเทศ ไม่ต้องสลับไปมาให้เสียส่วนต่างการแลกเปลี่ยนซ้ำไปมา จึงถือเป็นการสร้างความสมบูรณ์ให้กับตลาดทุนมากยิ่งขึ้น
EEC ชูโครงสร้างพื้นฐาน อนาคตเมืองการบินพร้อมแล้ว คาดเปิดปี 2567
EEC ปังไม่หยุด! 2 เดือนแรก ต่างชาติหอบเงินลงทุนกว่า 2,078 ล้านบาท
2 เดือนแรกไทยรับต่างชาติลงทุน โต 305% จีนพลิกขึ้นนำมูลค่าลงทุนอันดับ 1