“แอมเนสตี้” เรียกร้อง “กัมพูชา” เพิ่มความพยายามสอบสวนคดี “วันเฉลิม”


โดย PPTV Online

เผยแพร่




แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล แถลงเรียกร้องให้กัมพูชาเพิ่มความพยายามในการสืบสวนกรณีวันเฉลิม และแก้ไขปัญหาการสอบสวนที่ล่าช้า

กัมพูชายืนยันสืบสวนเหตุอุ้มหาย “วันเฉลิม”

ภาคประชาชนจี้รัฐเร่งประสานช่วยตามตัว“วันเฉลิม”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้(8 ธ.ค.) แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล แถลงว่า ทางการกัมพูชาต้องเพิ่มความพยายามเป็นสองเท่า ในการสอบสวนอย่างรอบด้าน ไม่ลำเอียง และเป็นอิสระต่อการหายตัวไปของวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ นักกิจกรรมฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลจากไทย

วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ นักกิจกรรมวัย 37 ปี ถูกบุคคลไม่ทราบฝ่ายลักพาตัวไปจากอพาร์ตเมนต์ของเขาในกรุงพนมเปญ เมื่อวันที่ 4 มิถุนายนปีนี้ โดยก่อนหน้านี้เขาถูกออกหมายจับโดยทางการไทย จากการแสดงความเห็นวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลไทย

สิตานันท์ สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ พี่สาวของวันเฉลิม อยู่ระหว่างการเข้าให้การกับผู้พิพากษาศาลแขวงกรุงพนมเปญในวันนี้ โดยเป็นส่วนหนึ่งของการสอบสวนของทางการกัมพูชาในกรณีนี้

กว่าหกเดือนนับแต่การหายตัวไป ทางการกัมพูชารายงานความคืบหน้าของการสอบสวนเพียงเล็กน้อย แม้ว่ามีหลักฐานสำคัญที่มีรายงานต่อสาธารณะในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา จนถึงปัจจุบัน ยังไม่มีผู้ใดทราบชะตากรรมและที่อยู่ของวันเฉลิม  

“ข้อบกพร่องชัดเจนของการสอบสวนครั้งนี้จนถึงปัจจุบันทำให้เห็นว่า กัมพูชาอาจไม่ได้ปฏิบัติตามพันธกรณีที่จะจัดให้มีการสอบสวนอย่างรอบด้าน ไม่ลำเอียง และเป็นอิสระ”

“การสอบสวนดำเนินไปอย่างเชื่องช้า และดูเหมือนว่ามีการเพิกเฉยต่อพยานหลักฐานสำคัญ ทางการกัมพูชาต้องแสดงให้เห็นว่า พวกเขาทำการสอบสวนอย่างน่าเชื่อถือ ไม่เช่นนั้นอาจมีการตั้งคำถามอย่างจริงจังว่าที่ผ่านมาได้ทำงานอย่างสุจริตใจหรือไม่”  ยามินี มิชรา ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าว

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเรียกร้องทางการกัมพูชา ให้แก้ไขปัญหาการสอบสวนที่ชัดเจนนี้อย่างเร่งด่วน ให้เปิดเผยข้อมูลใด ๆ ที่มีเกี่ยวกับชะตากรรมและที่อยู่ของวันเฉลิมโดยทันที และประกันให้เกิดความจริง ความยุติธรรม และการเยียวยากับวันเฉลิมและครอบครัวของเขา

ความล้มเหลวของทางการกัมพูชาในการดำเนินงานให้เกิดความก้าวหน้าด้านการสอบสวนอย่างเพียงพอ ทำให้เกิดคำถามว่า ได้มีการปฏิบัติตามมาตรฐานการสอบสวนตามที่กำหนดไว้ในอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองมิให้บุคคลสูญหาย (CED) ซึ่งกัมพูชาเป็นรัฐภาคีหรือไม่

การสอบสวนที่ขาดความคืบหน้าในช่วงหกเดือนที่ผ่านมา หลังการบังคับบุคคลให้สูญหายชี้ให้เห็นว่า ทางการกัมพูชาไม่ได้ปฏิบัติตามพันธกรณีตามอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองมิให้บุคคลสูญหาย เพื่อจำแนกชะตากรรมและที่อยู่ของบุคคลที่ถูกบังคับให้สูญหาย โดยมีความมุ่งหวังว่าจะนำตัวผู้ต้องสงสัยว่าได้กระทำผิดทางอาญาเข้าสู่กระบวนการพิจารณาที่เป็นธรรม 

“ทางการกัมพูชาต้องรายงานความคืบหน้าในการสอบสวนให้ครอบครัวของวันเฉลิมทราบ โดยมีความโปร่งใสอย่างเต็มที่ ข้อมูลจากคำตอบของทางการกัมพูชาที่มอบให้กับองค์การสหประชาชาติชี้ว่า พวกเขาอาจได้ซักถามพยานสำคัญที่ปรากฏตัวในภาพกล้องวงจรปิด ที่ถ่ายไว้ได้ขณะที่เกิดการลักพาตัววันเฉลิมแล้ว พวกเขาจึงต้องจัดให้มีมาตรการคุ้มครองพยานทุกคนอย่างเหมาะสม เพื่อประกันไม่ให้พยานต้องถูกตอบโต้” ยามินี มิชรา กล่าว

ระยะเวลาที่ใช้ในการสอบสวนเป็นข้อกังวลสำคัญ หกเดือนหลังการหายตัวไป หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในกรณีนี้แทบไม่ได้รายงานความคืบหน้าของการสอบสวนเลย ทำให้ไม่สามารถจำแนกได้ว่าใครอยู่เบื้องหลังการลักพาตัวและปัจจุบันวันเฉลิมอยู่ที่ไหน

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พนักงานอัยการของศาลแขวงกรุงพนมเปญเพิ่งจะส่งหมายขอให้มีการสอบสวนไปที่ศาลเมื่อเดือนกันยายน 2563 กว่าสามเดือนหลังการหายตัวไปของวันเฉลิม แม้ว่าสิตานันท์ สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ได้ทำการร้องทุกข์กล่าวโทษกับพนักงานอัยการตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ความล่าช้าเช่นนี้ไม่สอดคล้องกับพันธกรณีของกัมพูชาที่จะประกันให้เกิดการสอบสวนตามข้อกล่าวหาว่ามีการบังคับบุคคลให้สูญหายอย่างไม่ชักช้าเลย

นอกจากนั้น ทางการกัมพูชาเคยตอบคำถามขององค์การสหประชาชาติ เกี่ยวกับการสอบสวนที่เกิดขึ้นอย่างล่าช้าและไม่ครอบคลุมเพียงพอ โดยในวันที่ 19 มิถุนายน รัฐบาลกัมพูชาระบุว่า “ไม่มีทั้งข้อมูลและเบาะแสเกี่ยวการหายตัวไปของนายวันเฉลิม ตามที่มีการกล่าวหาเลย”

ในวันที่ 12 สิงหาคม รัฐบาลกัมพูชารายงานว่า ได้สอบสวน “พยาน” สามคนซึ่ง “ยืนยัน” ว่า ไม่มีรายงานการลักพาตัวบุคคลในพื้นที่เกิดเหตุ และพวกเขา “ได้พยายามค้นหาพยานหลักฐานจากกล้องวงจรปิดในพื้นที่ที่มีรายงานว่าเกิดเหตุ” แต่ไม่มี “เบาะแส”

อย่างไรก็ดี หลักฐานที่เผยแพร่โดยสื่อมวลชน ดูเหมือนจะขัดแย้งกับข้ออ้างที่ว่า ภาพจากกล้องวงจรปิดไม่ได้ให้ “เบาะแส” และเน้นให้เห็นว่าทางการอาจต้องสอบสวนให้รอบด้านกว่านี้ ภาพจากกล้องวงจรปิดที่มีการเผยแพร่ผ่านสื่อแขนงต่าง ๆ แสดงภาพประจักษ์พยานที่เป็นผู้ชายอย่างน้อยสองคน ซึ่งดูเหมือนจะเห็นเหตุการณ์ขณะที่มีการลักพาตัววันเฉลิม ทางการกัมพูชาควรจัดทำยุทธศาสตร์การสอบสวน เพื่อประกันให้มีการรวบรวมและการวิเคราะห์อย่างเป็นระบบของหลักฐานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด รวมทั้งภาพจากกล้องวงจรปิด 

ควรมีการซักถามพยานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดอย่างเร่งด่วน และจัดให้มีมาตรการคุ้มครองพยานที่เหมาะสม เพื่อเป็นหลักประกันว่า พวกเขาจะสามารถเข้าร่วมการสอบสวนได้ ทั้งนี้ตามที่กำหนดในข้อ 12 ของอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองมิให้บุคคลสูญหาย

นอกจากนั้น ทางการควรเจ้งให้ครอบครัวของวันเฉลิมทราบข้อมูลเกี่ยวกับความคืบหน้าและผลการสอบสวนอย่างสม่ำเสมอ ทั้งนี้เพื่อประกันให้เกิดการสอบสวนที่มีประสิทธิภาพ ดังที่คณะทำงานว่าด้วยการบังคับให้สูญหายหรือโดยไม่สมัครใจแห่งสหประชาชาติตั้งข้อสังเกตว่า “การมีส่วนร่วมในการสอบสวนอย่างแข็งขันของผู้เสียหายและครอบครัว ยังเป็นแนวทางที่ดีสุดที่จะประกันให้เกิดความโปร่งใสและการตรวจสอบได้ของกระบวนการสอบสวน”

กฎหมายกัมพูชาไม่กำหนดให้การบังคับบุคคลให้สูญหายเป็นความผิดอาญาอย่างชัดเจน แม้ว่ากัมพูชามีพันธกรณีต้องกำหนดฐานความผิดเช่นนั้น สอดคล้องตามข้อ 4 ของอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองมิให้บุคคลสูญหาย แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเรียกร้องทางการกัมพูชาให้เอาผิดทางอาญากับการบังคับบุคคลให้สูญหาย สอดคล้องตามอนุสัญญานี้ ทั้งนี้เพื่อประกันให้เกิดการสอบสวนกรณีการสูญหายของบุคคลโดยพลัน อย่างรอบด้าน และอย่างไม่ลำเอียง

วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ วัย 37 ปี เป็นนักกิจกรรมชาวไทยที่ลี้ภัยในกัมพูชา สิตานันท์ซึ่งเป็นพี่สาว เป็นผู้รายงานข้อมูลการลักพาตัวเขาเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน โดยสื่อมวลชนได้นำภาพจากกล้องวงจรปิดภายหลังเกิดเหตุลักพาตัวมาเผยแพร่ แสดงให้เห็นภาพรถยนต์โตโยต้ารุ่นไฮแลนเดอร์ สีน้ำเงิน ขณะที่ขับออกจากที่เกิดเหตุไม่นานหลังจากนั้น ในภาพยังมีชายสองคนซึ่งดูเหมือนจะเป็นประจักษ์พยานต่อการอุ้มหายครั้งนี้

ก่อนหน้านี้ทางการไทยได้แจ้งข้อหาอาญากับวันเฉลิม ครั้งล่าสุดเมื่อปี 2561 เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ โดยกล่าวหาว่าเขาโพสต์ข้อมูลต่อต้านรัฐบาลในลักษณะล้อเลียนในเพจเฟซบุ๊ก มีรายงานว่า ทางการไทยได้ร้องขอให้ทางการกัมพูชาส่งตัววันเฉลิมเป็นผู้ร้ายข้ามแดนในช่วงเวลานั้น แม้ว่าทางการกัมพูชาไม่เคยออกมายอมรับอย่างเปิดเผยว่ามีการร้องขอเช่นนั้นหรือไม่ ทางการไทยยังแจ้งข้อหาต่อเขาจากการไม่มารายงานตัวตามคำสั่งเมื่อปี 2557 ซึ่งเป็นคำสั่งแบบเดียวกับนักกิจกรรมและนักการเมืองจำนวนมากได้รับ ภายหลังการทำรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคมปีเดียวกัน

ก่อนหน้านี้ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้แสดงความกังวลถึงความปลอดภัยของผู้ลี้ภัยชาวไทยในประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งเป็นบุคคลที่ทางการไทยร้องขอให้มีการส่งตัวเป็นผู้ร้ายข้ามแดน การหายตัวไปของวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์สอดคล้องกับแบบแผนที่น่าตกใจอย่างยิ่งของปฏิบัติการลักพาตัวและสังหาร ที่เกิดขึ้นนับแต่เดือนมิถุนายน 2559 และเกิดขึ้นกับนักกิจกรรมชาวไทยระหว่างการลี้ภัยอย่างน้อยเก้าคนในประเทศเพื่อนบ้าน รวมทั้งลาวและเวียดนาม โดยไม่ทราบตัวคนร้าย

ในแต่ละกรณี ทางการไทยได้พยายามจับกุม หรือขอให้ส่งตัวเป็นผู้ร้ายข้ามแดนในข้อหาอาญา ซึ่งเป็นการดำเนินคดีเนื่องจากการใช้สิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออก โดยมักเป็นการแสดงความเห็นทางออนไลน์ และในบางกรณีเป็นการแสดงความเห็นระหว่างที่ลี้ภัย

จากแบบแผนของการทำให้สูญหาย การสังหาร และการลอยนวลพ้นผิดที่มักเกิดขึ้นในภูมิภาคนี้ เป็นเหตุให้ก่อนหน้านี้แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกระตุ้นให้คณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (AICHR) ซึ่งเป็นหน่วยงานดูแลภาพรวมของสิทธิมนุษยชนของสมาคมประชาชาติเอเชีย ตะวันออกเฉียงใต้ (ASEAN) ให้ใช้อำนาจหน้าที่ของตน “เพื่อร้องขอข้อมูลจากรัฐภาคีอาเซียน เกี่ยวกับการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน” ทั้งนี้เพื่อเผยให้เห็นปัญหาของการบังคับบุคคลให้สูญหาย รวมทั้งกรณีของวันเฉลิม โดย AICHR ควรทำงานอย่างเข็งขันมากขึ้น เพื่อสนับสนุนความร่วมมือระหว่างประเทศอาเซียน ให้จัดทำมาตรการความร่วมมือที่ดีสุดเพื่อช่วยเหลือเหยื่อของการบังคับบุคคลให้สูญหาย และการค้นหา ระบุสถานที่ และปล่อยตัวบุคคลที่ถูกบังคับให้สูญหายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

เปิดใจ !! พี่สาว “วันเฉลิม” เชื่อน้องชาย ยังมีชีวิตอยู่  

“ปารีณา” ตอบคำถามปม “มารีญา”โพสต์ #Saveวันเฉลิม

 

 

 

 

PR - ตารางคะแนน-2_B PR - ตารางคะแนน-2_B
TOP อาชญากรรม
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ