ออกกฎห้าม! ข้อมูล 9 ประเภท ตำรวจห้ามโพสต์ ห้ามแชร์ เต้น ตลก คอมเม้นต์ ออกสื่อทำได้แค่ไหน!


โดย PPTV Online

เผยแพร่




ผบ.ตร.สั่งจเรตำรวจแห่งชาติ ออกแนวทางคุมตำรวจใช้สื่อโซเชียล ให้เหมาะสม เปิด 9 ข้อห้าม 5 ข้อควรทำ

เมื่อวันที่ 11 มีนาคม ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอตสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) พล.ต.อ.วิสนุ ปราสาททองโอสถ จเรตำรวจแห่งชาติ(จตช.) แถลงเปิด โครงการจัดทำแนวทางการใช้สื่อสังคมออนไลน์ เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ อินสตาแกรม TIKTOK ของข้าราชการตำรวจ ซึ่ง ผบ.ตร.ได้ตั้งคณะทำงาน โดยมี พล.ต.อ.วิสนุ จตช. เป็นประธาน ศึกษารายละเอียด และจัดทำแนวทางปฏิบัติในรูปของสื่อวีดีทัศน์ เพื่อใช้เผยแพร่แก่ข้าราชการตำรวจ และประชาชนที่สนใจ

คาดโทษ สั่งคุมตำรวจใช้สื่อ เล่น TikTok เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ "จเรใหญ่" สั่งหวดพบเล่นโซเชียลไม่เหมาะสม

จับตาแต่งตั้ง! "บ่อนโควิด" ล้างบางภาค2 "จเรใหญ่" ชงสอบ-ฟัน 273 ผบช. - ผบ.หมู่ ทั้งอดีตและปัจจุบัน

พล.ต.อ.วิสนุ เผยว่าโครงการนี้ เป็นเสมือนคู่มือแนะนำข้าราชการตำรวจทุกระดับ ให้เรียนรู้วิธีการใช้สื่อสังคมออนไลน์ที่เกิดประโยชน์ และถูกต้อง สืบเนื่องจากพบว่ามีข้าราชการตำรวจใช้สื่อสังคมออนไลน์ไม่เหมาะสม เช่น ล้อเลียน กลั่นแกล้ง แสดงกิริยาขบขันจนเกินขอบเขต ก่อให้เกิดความเสียหายต่อภาพลักษณ์ และความน่าเชื่อถือจากสังคม รวมถึงการใช้สื่อออนไลน์ละเมิดบุคคลอื่นหรือกระทำผิดกฎหมาย จนเกิดความเสียหายขึ้น ซึ่งข้าราชการตำรวจควรเป็นแบบอย่างที่ดีแก่สังคม 

"ตร.จึงกำหนดแนวทางให้ตำรวจใช้สื่อโซเชียล อย่างเหมาะสม ต้องการย้ำเตือนโดยเฉพาะตำรวจรุ่นใหม่ วัยรุ่นที่อยากแสดงออก ทั้งนี้เราเข้าใจเรื่องสิทธิมนุษยชน ทุกคนมีสิทธิ เสรีภาพ แต่ด้วยความเป็นตำรวจก็มีข้อปฏิบัติให้ต้องคำนึงถึงความเหมาะสมด้วย เมื่อสวมใส่เครื่องแบบแสดงออกต้องเหมาะสม ที่ผ่านมายังไม่เคยลงโทษตำรวจที่ใช้สื่อโซเชียลไม่เหมาะสม ครั้งนี้ออกมาเตือนให้แนวทางก่อน"

"ความเป็นตำรวจอยู่ในตัวตลอดเวลา เพราะฉะนั้นการแสดงออกอะไรก็ต้องเหมาะสม ไม่ปิดกั้น แต่ต้องพิจารณาเองว่าผลอะไรจะตามมา อย่างผมกับท่านผบ.ตร.ถอดเครื่องแบบก็ยังเป็นตำรวจ จะไปเต้นอะไรออกสื่อก็คงไม่เหมาะสม จึงต้องทำโครงการนี้มาย้ำเตือนตำรวจโดยยึดแนวทางหลัก คิดดี คิดได้ คิดเป็น คิดก่อนโพสต์"จเรตำรวจแห่งชาติ กล่าว

เมื่อถามว่า การออกแนวทางการใช้สื่อออนไลน์ของตำรวจ เนื่องจากที่ผ่านมาตำรวจโพสต์อะไรเกี่ยวกับการเมือง การชุมนุม แล้วกลายเป็นดราม่าใช้หรือไม่  พล.ต.อ.สุวัฒน์ ผบ.ตร. ยอมรับว่าก็มีส่วน แต่ที่สำคัญคือตำรวจมีสิทธิ แต่ก็มีกรอบที่เหมาะสมของการเป็นข้าราชการตำรวจ ดังนั้นการแสดงออกอะไรในสื่อโซเชียลมีเดีย ต้องพิจารณาว่าสุ่มเสี่ยงหรือไม่ ทำไปแล้วได้อะไร ผลที่จะตามมาคืออะไร ตำรวจตลกได้ไม่ผิด สร้างความบันเทิงได้ แต่ต้องดูความเหมาะสมด้วย ก่อนเราจะไปเตือนประชาชน ตำรวจต้องทำเป็นตัวอย่างที่ดีก่อน

  • สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ย้ำ 9 ประเภทข้อมูลข่าวสารที่ตำรวจไม่ควรเผยแพร่ ดังนี้

1.ข้อมูล ข่าวสารที่มีเนื้อหาพาดพิง หรือส่งในทางลบต่อสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์

2.ข้อมูลที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ หรือกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

3.ข้อมูลที่มีเนื้อหาลักษณะยั่วยุ เสียดสี บิดเบือน หรือโฆษณาชวนเชื่อ สร้างความแตกแยกต่อหน่วยงาน องค์กร สถาบัน สังคม รวมถึงการไม่เป็นกลางทางการเมือง

4.ข้อมูลความลับของทางราชการ ตามระเบียบการตำรวจที่กำหนดไว้

5.ข้อมูลที่เข้าข่ายการกระทำผิดตามประมวลกฎหมาย ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับข้อมูลข่าวสารทั้งของราชการและบุคคล รวมถึงการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาและกฎหมายอาญาใดๆ เช่น ภาพลามก อนาจาร  

6.ข้อมูลที่ส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือต่อพยานหลักฐานทางคดี เกิดผลเสียต่อกระบวนการยุติธรรม รวมถึงส่งผลกระทบต่อการปฏิบัติภารกิจที่มีความเสี่ยง ในเชิงยุทธวิธีและยุทธการ

7.ข้อมูลที่สร้างกระแสทางสังคมหรือก่อให้เกิดความตื่นตกใจโดยไม่ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริง และไม่มีหลักฐานยืนยัน

8.ข้อมูลที่เป็นภัยคุกคาม ต่อระบบสารสนเทศ และเครือข่าย ได้แก่ โปรแกรมไม่พึงประสงค์ หรือมัลแวร์ทุกประเภท

9.ข้อมูลที่ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์อันดีของความเป็นข้าราชการตำรวจ ก่อให้เกิดความตลกขบขัน วิพากษ์วิจารณ์ในเชิงลบ ลดความเชื่อมั่น ศรัทธาต่องานตำรวจ ทั้งที่เป็นปัจเจกบุคคล และองค์กรตำรวจโดยรวม

  •  5 ประเภทข้อมูลข่าวสารที่ตำรวจโพสต์ได้แชร์ได้ ตำรวจควรทำ ดังนี้

1.คำแนะนำความรู้ด้านกฎหมาย เพื่อตักเตือนประชาชน ข้อมูลข่าวสารประชาสัมพันธ์ แสวงหาความร่วมมือจากประชาชน

2.ข้อมูลข่าวสารชี้แจงประชาชน กรณีมีการบิดเบือน เพื่อชี้แจงภาพลักษณ์ที่ดีของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยภายใต้กำกับดแลของโฆษก หรือผู้บังคับบัญชาที่มีอำนาจ

3.ผลงาน ผลการปฏิบัติงานของหน่วยภายใต้กรอบปฏิบัติการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนของตร.

4.ข่าวสารข้อมูลส่วนตัวใดๆที่ไม่ขัดต่อจริยธรรม และจรรยาบรรณตำรวจ ไม่ผิดระเบียบ กฎหมาย ไม่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนเสียหายต่อผู้หนึ่งผู้ใด

และ5.การเพิ่มช่องทางรับฟัง รับข่าวสารเบาะแสจากประชาชน 

ทั้งนี้ 9 ข้อห้าม 5 ข้อควรทำ ให้ตำรวจถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด

 

PR - ตารางคะแนน-2_B PR - ตารางคะแนน-2_B
TOP อาชญากรรม
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ