ระวัง “แรนซัมแวร์” เรียกค่าไถ่ข้อมูล ตร.เผย ปี63 ไทยโดนแล้วกว่า 1.9 แสนครั้ง


โดย PPTV Online

เผยแพร่




กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ประกาศเตือนประชาชนระวัง โดนเรียกค่าไถ่ข้อมูล เผยปี 2563 ไทยโดนแล้วกว่า 1.9 แสนครั้ง พร้อมแนะแนวทางป้องกันการถูกเรียกค่าไถ่ข้อมูล

รู้จัก "มัลแวร์เรียกค่าไถ่" และวิธีป้องกัน

ก.ดิจิทัลฯ เตือนระวังมัลแวร์ตัวใหม่ “GhostSecret” ใช้เซิร์ฟเวอร์ในไทยฉกข้อมูล 17 ประเทศ

เมื่อวันที่ 29 พ.ค. 2564 พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษก ตร. และ โฆษก กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) เตือนภัยเรื่องการเรียกค่าไถ่ข้อมูล หรือ Ransomware ระบุว่าจากการเปิดเผยข้อมูลของศูนย์ข้อมูลข่าวสารอาเซียน ได้รายงานถึงสถิติการเกิดการเรียกค่าไถ่ข้อมูล หรือ Ransomware ว่า ในช่วงเดือนมกราคม - กันยายน ปี พ.ศ.2563 ได้เกิดการเรียกค่าไถ่ข้อมูลมากกว่า 2.7 ล้านครั้ง ใน 10 ประเทศกลุ่มอาเซียน

โดยประเทศไทยมีสถิติการเกิดการเรียกค่าไถ่ข้อมูลมากถึง 192,652 ครั้ง ซึ่งมากเป็นอันดับที่ 3 รองจากอินโดนีเซียและเวียดนาม โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นบริษัทเครื่องดื่มและโรงแรมที่พักต่าง ๆ เป็นส่วนมาก  

จากสถิติดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าการเรียกค่าไถ่ข้อมูลหรือ Ransomware นั้น เป็นหนึ่งในภัยเงียบ เนื่องจากบางหน่วยงานหรือบริษัทที่เป็นองค์กรขนาดใหญ่เมื่อตกเป็นเหยื่อก็มักจะปกปิดเรื่องดังกล่าวหรือไม่ได้มีการร้องทุกข์ เนื่องจากเกรงว่าจะกระทบกับความน่าเชื่อถือขององค์กร และยิ่งในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ที่พี่น้องประชาชนส่วนมากต้องทำงานอยู่ที่บ้านผ่านคอมพิวเตอร์และสื่อออนไลน์ต่าง ๆ ยิ่งต้องระมัดระวังให้มาก ไม่เช่นนั้นท่านอาจจะตกเป็นเหยื่อของการถูกเรียกค่าไถ่ข้อมูลโดยไม่รู้ตัว ดังนั้นหากท่านตกเป็นเหยื่อก็ขอให้มาดำเนินการร้องทุกข์กล่าวโทษกับพนักงานสอบสวนที่สถานีตำรวจในท้องที่หรือกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี เพื่อจะได้มีการดำเนินคดีตามกฎหมายไม่ว่าผู้ต้องหาจะอยู่ภายในประเทศหรือต่างประเทศก็ตาม

สำหรับรูปแบบของการเรียกค่าไถ่ข้อมูลหรือ Ransomware จะเริ่มจากการที่มีโปรแกรมที่แอบแทรกแซงผ่านช่องทางต่าง ๆ และประสงค์ร้ายต่อระบบคอมพิวเตอร์รวมถึงเครือข่ายต่าง ๆ ที่เรียกว่ามัลแวร์ (Malware) แอบเข้ามาอยู่ในเครื่องคอมพิวเตอร์โดยมักจะเข้ามาในรูปแบบของอีเมลล์ที่แนบลิงค์มาด้วย หรือลิงค์ที่แอบแฝงอยู่ในโฆษณาบนเว็บไซต์หรือสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ ซึ่งเมื่อผู้ใช้งานหลงกดเข้าไปที่ลิงค์ดังกล่าว ก็จะเป็นการรับเอามัลแวร์เข้ามาในเครื่องคอมพิวเตอร์ของตนโดยไม่รู้ตัว จากนั้นมัลแวร์ก็จะแพร่กระจายไปยังข้อมูลต่างๆ ในเครื่องคอมพิวเตอร์โดยจะยิ่งแพร่กระจายความเสียหายมากขึ้น หากว่าคอมพิวเตอร์นั้นถูกเชื่อมต่อเข้าหากันเป็นเครือข่าย เมื่อมัลแวร์ได้แพร่กระจายไปครอบคลุมข้อมูลที่บรรดาแฮกเกอร์ต้องการแล้ว ก็จะล็อคข้อมูลดังกล่าว ไม่ให้ผู้ใช้งานเข้าถึงข้อมูลได้ และจะปรากฎข้อความ Pop-Up ขึ้นมาแจ้งว่าข้อมูลเหล่านี้ได้ถูกล็อคไว้ หากต้องการปลดล็อคจะต้องจ่ายเงินภายในเวลาที่กำหนด ไม่เช่นนั้นจะลบข้อมูลหรือหากมีความพยายามที่จะปลดล็อคหรือกู้ข้อมูล ข้อมูลก็อาจจะถูกลบเช่นกัน ซึ่งจะทำให้เกิดความเสียหายอย่างมาก หากเกิดขึ้นในหน่วยงานมีคลังข้อมูลขนาดใหญ่และต้องมีการเรียกใช้ข้อมูลตลอดเวลา เช่น โรงพยาบาล, ธนาคาร หรือหน่วยงานความมั่นคงต่าง ๆ เป็นต้น

ทั้งนี้ผู้ที่กระทำลักษณะดังกล่าวอาจจะเข้าข่ายความผิดฐานข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใด ไม่กระทำการใด หรือจำยอมต่อสิ่งใด โดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียงหรือทรัพย์สินของผู้ถูกข่มขืนใจนั้นเองหรือของผู้อื่น มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และความผิดฐานเข้าถึงโดยมิชอบซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่มีมาตรการป้องกันการเข้าถึงโดยเฉพาะ และมาตรการนั้นมิได้มีไว้สําหรับตน มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตาม พรบ.การกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2560 หรือกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

จึงขอฝากประชาสัมพันธ์ไปยังพี่น้องประชาชนถึงแนวทางการป้องกันการถูกเรียกค่าไถ่ข้อมูลหรือ Ransomware ดังนี้

1.สำรองข้อมูลที่สำคัญอยู่เสมอ

2.เลือกใช้โปรแกรมป้องกันไวรัสที่ได้มาตรฐาน มีคุณภาพ และทำการอัพเดทอย่างสม่ำเสมอ

3.หมั่นตรวจสอบและอัพเดทซอฟต์แวร์บนคอมพิวเตอร์ ทั้งการอัพเดทระบบปฏิบัติการและแอปพลิเคชันต่างๆ

4.ระมัดระวังในการคลิกลิงค์หรือเปิดไฟล์แนบจากบัญชีที่ไม่รู้จัก ตรวจสอบให้แน่ใจก่อนเปิดอีเมลล์ที่น่าสงสัยต่างๆ ไม่ควรไว้ใจบัญชีที่เราไม่เคยติดต่อด้วย นอกจากนี้หากพบเห็นเบาะแสการกระทำความผิด สามารถแจ้งไปยัง Inbox ของแฟนเพจ “กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี บช.สอท. - CCIB” หรือติดต่อ Call Center ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ หมายเลขโทรศัพท์ 191 หรือ 1599 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

 

Photo : THOMAS SAMSON / FRED TANNEAU / AFP

 

TOP อาชญากรรม
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

ขณะนี้ มีรายการกำลังถ่ายทอดสด คุณสนใจหรือไม่?

POP NEWS

POP NEWS

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ