พิษเบี้ยเลี้ยงโควิด ป.ป.ช.เชือด ม.157 -172 "อดีต ผกก.ทุ่งสง" บรรยายพฤติการณ์เล่นแร่แปรเงินลูกน้อง


โดย PPTV Online

เผยแพร่




ป.ป.ช.สรุปแล้ว ปมหักเงิน เล่นแร่แปรเบี้ยเลี้ยงโควิดลูกน้อง ลงดาบ "พ.ต.อ.สมพงศ์ ทิพย์อาภากุล" อดีตผกก.สภ.ทุ่งสง ข้อหาหนัก บรรยายพฤติการณ์ ส่งศาล ส่งต้นสังกัดฟัน

เมื่อวัน 14 มิถุนายน 2564  นายนิวัติไชย เกษมมงคล รองเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. ในฐานะโฆษกป.ป.ช.เผย ความคืบหน้าคดีอมเบี้ยเลี้ยงโควิด-19 ที่ตำรวจชั้นผู้น้อยออกมาร้องเรียนว่ามีผู้บังคับบัญชาเบียดบังเบี้ยเลี้ยงจากการปฏิบัติงานในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด -19 ระลอกแรก ในกรณีของ พ.ต.อ.สมพงศ์ ทิพย์อาภากุล รองผู้บังคับการ กองกฎหมายและคดี ตำรวจภูธรภาค 8 สมัยดำรงตำแหน่งผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช

จเรตำรวจสั่งฟัน ตร.การเงินเข้าข่ายทุจริตเบี้ยเลี้ยงโควิด-19

อมเบี้ยเลี้ยงโควิด พ่นพิษ เด้ง ผกก. - สารวัตร สภ.ทุ่งสง เข้ากรุ เพื่อตรวจสอบ

 

โฆษกป.ป.ช.เผยว่า ​ที่ประชุมคณะกรรมการป.ป.ช. พิจารณากรณีนี้ ปรากฏข้อเท็จจริงว่า ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 เมื่อประมาณปี พ.ศ.2563 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ(ตร.) จัดสรรเงินค่าตอบแทน หรือค่าเบี้ยเลี้ยงงบโควิด-19 ให้สถานีตำรวจภูธรทุ่งสง เพื่อเบิกจ่ายค่าตอบแทนการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ที่ได้รับคำสั่งให้ปฏิบัติงานนอกที่ตั้งศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง ตั้งแต่วันที่ 27 มีนาคม 2563 เป็นต้นไป จนกว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดต่อเชื้อโควิด-19 จะยุติลง ผู้ปฏิบัติงานได้รับเบี้ยเลี้ยง 60 บาทต่อชั่วโมง เบิกจ่ายเท่ากับที่ปฏิบัติงานจริง แต่ไม่เกิน 7 ชั่วโมงต่อวัน งดเบิกค่าเดินทางราชการ 

ข้อเท็จจริงพบว่า เมื่อ 29 ก.ย.64 สภ.ทุ่งสง มีการประชุมประจำเดือนกันยายน 2563 ของสภ.ทุ่งสง โดย พ.ต.อ.สมพงศ์ ทิพย์อาภากุล ผกก.สภ.ทุ่งสง ในขณะนั้น เป็นประธาน ประชุมร่วมข้าราชการตำรวจประมาณ 200 นาย

ในที่ประชุมได้ชี้แจงเรื่องจัดสรรงบประมาณ ค่าใช้จ่ายในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน ด้านความมั่นคงของตำรวจ บรรเทาผลกระทบจากโควิด-19 พ.ต.อ.สมพงศ์ ได้ชี้แจงรายละเอียดงบประมาณและวิธีการเบิกจ่ายให้ในที่ประชุมทราบ

ในส่วนของค่าตอบแทน หรือ ค่าเบี้ยเลี้ยงงโควิด-19 นั้น พ.ต.อ.สมพงศ์ สั่งการให้ข้าราชการตำรวจทุกนายในสภ.ทุ่งสง มีสิทธิได้รับค่าตอบแทนรายละ 15,000 บาท  หากใครได้เกินจาก 1,5000 บาท ต้องบริจาคให้กับสภ.ทุ่งสง เพื่อนำไปให้ข้าราชการตำรวจที่ได้รับการจัดสรรน้อยกว่า 15,000 บาท  โดยอ้างถึงความเท่าเทียมกัน และเพื่อความสามัคคีในโรงพัก

พร้อมระบุว่าส่วนที่เเหลือจากการแบ่งสรรปันส่วน ให้เก็บไว้เป็นกองกลางเป็นเงินบริหารของโรงพัก​ จัดหาอุปกรณ์ในการปฏิบัติงาน จัดงานตำรวจ จัดงานสังสรรค์ภายในสภ.ทุ่งส่งและ​ ปฏิบัติงานและอื่นๆ

จากนั้นให้เจ้าหน้าที่การเงิน สภ.ทุ่งสง มีหน้าที่ในการเก็บรวบรวม​

โฆษก ป.ป.ช.ระบุว่า พ.ต.อ.สมพงศ์ ก็ทราบดีอยู่แล้วว่าเงินค่าตอบแทนหรือค่าเบี้ยเลี้ยงโควิด-19 เป็นการจ่ายค่าตอบแทนการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ที่ได้รับคำสั่งให้ปฏิบัติงานนอกที่ตั้งศูนย์ปฏิบัติการ ขณะนั้นมีข้าราชการตำรวจหลายรายไม่เห็นด้วยกับการผันเงิน แต่ไม่มีใครโต้แย้งหรือคัดค้าน

"ปรากฏข้อเท็จจริงต่อมาว่า สภ.ทุ่งสง ได้เรียกเก็บค่าเบี้ยเลี้ยงโควิด-19 จากข้าราชการตำรวจผู้ปฏิบัติงานนอกที่ศูนย์ปฏิบัติการ และได้มีการนำไปจัดสรรให้กับข้าราชการดำรวจที่ได้รับจัดสรรน้อยกว่า 15,000 บาท และข้าราชการตำรวจที่ไม่มีสิทธิจะได้รับ เพื่อให้ถึงจำนวน 15,000 บาท หากตำรวจรายได้ไม่เห็นด้วยและไม่ยอมนำเงิน เบี้ยเลี้ยงโควิดมาคืนให้  พ.ต.อ.สมพงศ์ ก็จะออกคำสั่งย้ายปรับเปลี่ยนหน้าที่ข้าราชการตำรวจรายนั้น เพื่อไม่ให้ข้าราซการตำรวจรายอื่นถือเป็นตัวอย่าง"

โฆษก ป.ป.ช.ระบุว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้พิจารณาสำนวนการไต่สวนแล้วเห็นว่า การกระทำของ พ.ต.อ.สมพงศ์ มีมูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 (ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต)

และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปรามการทุจริต พ.ศ.2563 มาตรา 172

(มาตรา 172 เจ้าพนักงานของรัฐผู้ใดปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตําแหน่งหรือหน้าที่ หรือใช้อํานาจในตําแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือ ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ต้องระวางโทษจําคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึง สองแสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ )

 

และมีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง เห็นควรส่งรายงานและความเห็นไปยังอัยการสูงสุด เพื่อดำเนินคดีอาญาในศาล ซึ้งมีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาคดี และส่งรายงานเอกสาร และความเห็นไปยังผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนเพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ ตามมาตรา 91 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561

สำหรับกรณีของ พ.ต.อ.สมพงศ์ นั้นเมื่อเกิดเรื่องร้องเรียน ผันเบี้ยเลี้ยงโควิด-19 ของลูกน้อง ก็ถูกย้าย พ้นตำแหน่ง ผกก.สภ.ทุ่งสง ไปประจำ ศปก.ภ.จว.นครศรีธรรมราช เมื่อ 13 ตุลาคม 2563 พร้อมกับนายตำรวจอีกราย ตำแหน่งสารวัตรการเงิน ต่อมาในการแต่งตั้งโยกย้ายรองผบก.-สารวัตร วาระประจำปี ได้รับแต่งตั้งตำแหน่งสูงขึ้น เป็น รองผบก.กองกฎหมายและคดี บช.ภ.8 เนื่องจากอยู่ในกลุ่มอาวุโส 33 % จึงเลื่อนตำแหน่งสูงขึ้น โดย พ.ต.อ.สมพงศ์ เป็น นักเรียนนายร้อยตำรวจรุ่นที่ 39 

 

 

TOP อาชญากรรม
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ