ดำเนินคดี "ต้อม ยุทธเลิศ - นางงาม" ตร.ไล่เช็ก 50 คนดัง - ดารา Call out เปิด 2 พฤติการณ์โพสต์แบบนี้โดนแน่!


โดย PPTV Online

เผยแพร่




ตำรวจเตือน ดารา คนดัง Call Out ระวังผิดกฎหมาย ไล่เช็ก 50 ราย เข้าข่ายหมิ่นเหม่ เปิด 2 พฤติการณ์โพสต์แบบนี้ไม่รอด ดำเนินคดี ผู้กำกับฯ ต้อม ยุทธเลิศ - น้ำฝน มิสแกรนด์

เป็นกระแสเรียกร้อง ดาราคนดัง อินฟลูเอนเซอร์ ให้ออกมา Call out แสดงจุดยืนกรณีวิกฤตสถานการณ์โควิด-19 และเรื่องของวัคซีนโควิด-19 ต่อมา นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ระบุจะดำเนินคดีมือโพสต์ข้อมูลเท็จ จากสถานการณ์ชุมนุม เตือนศิลปินดารา อินฟลูเอนเซอร์ อย่านำข้อความเหล่านั้นไปโจมตีรัฐบาล กรณีวัคซีนโควิด-19 เพราะจะเป็นการสร้างเฟกนิวส์ โดยมีนายสนธิญา สวัสดี ยื่นเรื่องตำรวจตรวจสอบ กรณีดารา-นักร้องกว่า 20 คน จนเกิดคำถาม Call out ผิดตรงไหน!

ดารา-นักร้อง ถามรัฐบาล Call Out ผิดตรงไหน?

"มิลลิ" แร็ปเปอร์สาว ขึ้นโรงพักตามนัด "บิ๊กตู่" แจ้งความเองฐาน "ดูหมิ่น" ตร.ไล่เช็กโพสต์อื่น จ่อเอาผ...

แฮชแท็ก #SAVEมิลลิ พุ่งทะยาน หลังถูกหมายเรียกดารา Call Out

ล่าสุดวันนี้ พล.ต.ต.ปิยะ ต๊ะวิชัย รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล และโฆษกกองบัญชาการตำรวจนครบาล ระบุว่า ตามที่นายสนธิญา ที่ปรึกษากรรมาธิการ การกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชนสภาผู้แทนราษฎรยื่นเรื่องให้ตรวจสอบมีดาราศิลปินราว 20 คน ซึ่งบช.น.ได้เอกสารมาเมื่อวานนี้ (21 ก.ค.64 ) ขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบ ต้องใช้เวลา ซึ่งการตรวจสอบจะทำร่วมกันระหว่าง กระทรวงดีอีเอส นครบาล และ กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี  หรือ บช.สอท.

โฆษกบช.น.เผยว่า การพิจารณาจะมี 2 ประเด็น 1.พิจารณาว่าขายหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาซึ่งในส่วนนี้ต้องมีผู้เสียหายเข้ามาร้องทุกข์ เช่นกล่าวหากระทรวงสาธารณสุข ก็ต้องมีตัวแทนกระทรวงมาร้องทุกข์ กล่าวหารัฐบาลก็ต้องมีตัวแทนรัฐบาลมาร้องทุกข์  ส่วนที่ 2. คือเข้าข่ายความผิดโดยการนำข้อความเท็จบิดเบือนจนนำไปสู่การเกิดความเข้าใจผิด ซึ่งส่วนนี้จะเข้าข่าย พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 ซึ่งต้องพิจารณาเป็นรายบุคคลไป หรือหากแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตแต่ทำให้เกิดความสับสนก็อาจมีการพิจารณาความผิดด้วย

พล.ต.ต.ปิยะ เผยว่า แนวทางการพิจารณา การ Call out ของศิลปิน คนดัง ผู้มีชื่อเสียง หรืออินฟลูเอนเซอร์ ดังนี้ พบพฤติการณ์ที่เข้าข่ายความผิดดังนี้

1. บางคนโพสต์ ทวีต กล่าวหาว่า รัฐบาลฆาตกร แบบนี้มีความผิดชัดเจนเป็นการกล่าวหาดูหมิ่น หมิ่นประมาท

2. บางคนโพสต์ข้อความว่า "วัคซีนไม่มีคุณภาพ" ลักษณะเช่นนี้เข้าข่ายความผิดเนื่องจากวัคซีนโควิด-19ที่รัฐบาลใช้เป็นวัคซีนที่ใช้โดยทั่วไปทั้งโลก ไม่ใช่ประเทศไทยประเทศเดียว และได้รับการรับรองมาตรฐาน การโพสต์เช่นนี้ถือว่ากล่าวหาใส่ร้าย หน่วยงานที่มีมีหน้าที่จัดหาวัคซีน หรือถูกพาดพิง สามารถเข้าร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีได้ รวมถึงบางคนที่โพสต์ ออกมา Call out ให้หาวัคซีนคุณภาพ หากบริบทข้อความสื่อไปให้เข้าใจได้ว่าวัคซีนที่มีอยู่ไม่มีคุณภาพ ก็อาจเข้าข่ายความผิดด้วย ต้องพิจารณาเป็นรายกรณี กลุ่มนี้จะโดนดำเนินคดีทั้งหมิ่นประมาท และเผยแพร่ข้อมูลอันเป็นเท็จในระบบคอมพิวเตอร์

โฆษก บช.น.เผยว่า ขณะนี้ทางตำรวจนครบาลได้ให้ฝ่ายกฎหมายและฝ่ายสืบสวนตรวจสอบเพิ่มเติมว่ามีบุคคลใดที่เข้าข่ายความผิดอีกหรือไม่ เท่าที่ดูเบื้องต้นเหล่าศิลปิน ดารา อินฟลูเอนเซอร์ บุคคลใกล้ชิดนักการเมือง บุคคลที่แอบอ้างเป็นบุคลากรทางการแพทย์ ที่พฤติการณ์แสดงออกในโซเชียลมีเดีย Call Out เผยแพร่ข้อมูลเข้าข่ายผิดกฎหมาย ราว 50 คน โดยต้องตรวจสอบรายละเอียดพิจารณาเป็นรายกรณี 

พล.ต.ต.ปิยะ กล่าวว่า กรณี มิลลิ ศิลปินแร็ป ที่ทวีตข้อความกล่าวหานายกรัฐมนตรี ได้เดินทางมา สน.นางเลิ้ง ตามหมายเรียกของพนักงานสอบสวน เพื่อมารับทราบข้อกล่าวหาดังกล่าว และให้การยอมรับว่ากระทำผิดตามข้อกล่าวหาจริง  ตาม ป.อาญา มาตรา 393 และผู้ต้องหาให้การรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา พนักงานสอบสวนจึงทำการเปรียบเทียบปรับเป็นเงิน 2,000 บาท

"กองบัญชาการตำรวจนครบาล เตือนผู้ที่จะโพสต์เผยแพร่ข้อความ โดยเฉพาะกลุ่มบุคคลที่มีชื่อเสียง ดารา นักร้อง ศิลปิน ที่ได้โพสต์ Call out ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ว่าเป็นสิทธิและเสรีภาพที่จะกระทำได้ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย  พ.ศ.2560 มาตรา 25 และ34 แต่ต้องเป็นการกระทำโดยสุจริต และ ไม่เป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน และไม่ละเมิดสิทธิเสรีภาพของบุคคลอื่น"

"กรณีการใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม หรือดูหมิ่นผู้อื่นโดยการโฆษณา และเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับความเสียหาย จะเป็นความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 326, 328 หรือ 393 หากเป็นการนำเข้าข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือน หรือปลอม ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อประชาชน ก็จะมีความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(1) อีกส่วนหนึ่งด้วย"

พล.ต.ต.ปิยะ เผยด้วยว่า นอกจากนี้ นายอภิวัฒน์ ขันทอง คณะกรรมการตรวจสอบและดำเนินคดีแก่ผู้เผยแพร่ข้อความอันเป็นเท็จ ดูหมิ่น และหมิ่นประมาทการปฏิบัติหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีฯ (คตส.)   ยังได้มาแจ้งความร้องทุกข์กับผู้โพสต์ข้อความให้เกิดความเสียหายแก่นายกรัฐมนตรี อีก 2 คดี คือและทนายความของพล.อ.ประยุทธ๋ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ยังได้มาแจ้งความร้องทุกข์กับผู้โพสต์ข้อความให้เกิดความเสียหายแก่นายกรัฐมนตรี อีก 2 คดี คือ 

1. นายยุทธเลิศ สิปปภาค หรือต้อม อายุ 55 ปี ผู้กำกับภาพยนตร์ชื่อดัง  ร้องทุกข์เมื่อวันที่ 8 ก.ค.64 ตามคดีอาญาที่ 244/2564

2. น.ส.พัชรพร จันทรประดิษฐ์ หรือน้ำ อายุ 23 ปี มิสแกรนด์ 2020 ร้องทุกข์เมื่อวันที่ 6 ก.ค.64 ตามคดีอาญาที่ 135/2564

ซึ่งพนักงานสอบสวนได้รับคำร้องทุกข์ไว้ตามกฎหมายเรียบร้อยแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

น.ส.พัชรพร จันทรประดิษฐ์ หรือน้ำ มิสแกรนด์ 2020 เวทีนางงาม ที่  ณวัฒน์ อิสรไกรศีล เป็นผู้จัดประกวด

ด้าน พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า แม้ว่าการแสดงความคิดเห็นเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ แต่ต้องไม่เป็นการแสดงความคิดเห็นที่กระทบต่อบุคคลอื่น โดยหากผู้ใดพบว่ามีการถูกกล่าวพาดพิง ก็จะสามารถร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีตามกฎหมายได้ ส่วนความผิดตามอาญาแผ่นดิน พนักงานสอบสวนก็จะเป็นเจ้าทุกข์ดำเนินคดีเอง

TOP อาชญากรรม
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ