"ผู้กำกับโจ้" คลุมถุงดำ - ท่าทีตำรวจ ทำความเชื่อมั่นตำรวจลดฮวบ


โดย PPTV Online

เผยแพร่




สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย เปิดโพลความคิดเห็น ความเชื่อมั่นของประชาชน จากกรณี ผกก.โจ้ เค้นผู้ต้องหา เสนอคานอำนาจตำรวจ

กรณีคลิปก่อเหตุของ "ผู้กำกับโจ้" พ.ต.อ.ธิติสรรค์ อุทธนผล อดีตผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรเมืองนครสวรรค์ ภาพกลุ่มเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดปราบปรามยาเสพติด เมืองนครสวรรค์ นำถุงดำคลุมศีรษะ เค้นข้อมูลจากผู้ต้องหาคดียาเสพติด จนขาดอากาศหายใจเสียชีวิต ที่กลายเป็นคดีใหญ่ สร้างผลกระทบรุนแรงต่อภาพลักษณ์สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทบความเชื่อมั่นในต้นธารกระบวนการยุติธรรม 

ย้อนเส้นทางสีกากี แต่งตั้ง "ผู้กำกับโจ้" พ.ต.อ.หนุ่ม วัย 39 ชีวิตราชการติดไฮสปีด - ชีวิตเศรษฐีซูเปอร...

เปิดตัวละครช่วยเหลือ "ผู้กำกับโจ้" เพื่อน - เถ้าแก่โรงงานแป้ง - พ.ต.อ. ทั้งพาหลบ ให้ที่พัก เป็นกุนซื...

นายพิเศษ สะอาดเย็น ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย เปิดผลโพลการใช้อำนาจของตำรวจ เพื่อค้นหาความจริงคดี "อดีตผู้กำกับโจ้"  สำรวจตั้งแต่วันที่ 2 – 5 กันยายน 2564 มีประชาชนร่วมตอบแบบสำรวจ 5,291 คน พบว่าร้อยละ 86 ไม่เห็นด้วยกับการที่เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้ความรุนแรงเพื่อรีดความจริง  

และข่าวของ พ.ต.อ.ธิติสรรค์ อุทธนผล ทำให้ความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมลดลงจากเดิม ซึ่งเป็นความเชื่อมั่นในระดับที่น่ากังวลอยู่แล้วอย่างมีนัยสำคัญ กล่าวคือจากค่าคะแนนเต็ม 5 ได้ลดลงจาก 2.01 เหลือเพียง 1.29 คะแนน และเมื่อถามถึงความเชื่อมั่นหลัง “อดีต ผกก.โจ้” เข้ามอบตัว พร้อมแถลงรายละเอียดของเหตุการณ์ กลับพบว่า ความเชื่อมั่น “ลดลงอีก” เหลือ เฉลี่ย 1.20 คะแนน

ขณะที่ผู้ตอบแบบสอบถาม ร้อยละ 91  เห็นว่า ควรให้องค์กรอื่นเข้ามาตรวจสอบหรือถ่วงดุลอำนาจของตำรวจในการค้นหาความจริง เช่น อัยการ ทนาย และควรมีช่องทางให้ประชาชนทั่วไปสามารถติดตามความคืบหน้าของคดีได้

ทั้งนี้ผู้ตอบแบบสอบถามกว่าร้อยละ 40 ยังไม่เชื่อว่ากระบวนการในปัจจุบันที่ตำรวจมีอำนาจสอบสวนและทำสำนวนคดีนั้นดีเพียงพอ

นอกจากนี้ ผู้ตอบแบบสอบถามร้อยละ 94  เห็นว่า ปัญหาการใช้ความรุนแรงดังกล่าวต้องได้รับการแก้ไขโดยรวดเร็ว  โดยต้องเร่งปรับปรุงกระบวนการสอบสวนคดีอาญาให้ดีขึ้นในทุกมิติ  เรียงลำดับความสำคัญ 3 เรื่องแรกในทัศนะของผู้ตอบแบบสำรวจ  ได้แก่ 1.ควรปรับปรุงกลไกการตรวจสอบการปฏิบัติงานของตำรวจในการค้นหาความจริงในชั้นสอบสวน 2.ควรส่งเสริมให้บทบาทของพนักงานสอบสวนเป็นวิชาชีพเฉพาะและเป็นอิสระจากสายบังคับบัญชาปกติ 3.ควรสร้างกระบวนการที่ให้ภาคส่วนต่างๆ มีส่วนร่วมในการกำกับดูแลงานตำรวจ

ขณะที่ สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย จัดเสวนาหัวข้อ Zoom Out อำนาจตำรวจ ส่องการใช้วิธี "เค้น" หาความจริง โดยยกกรณีตัวอย่าง การใช้อำนาจของตำรวจ "อดีต ผกก.โจ้" ในการเค้นข้อมูลผู้ต้องหา มาถอดบทเรียน ถึงขอบข่ายอำนาจหน้าที่ในการปฏิบัติหน้าที่สอบสวนของตำรวจควรเป็นอย่างไร

ผศ.ดร.ปารีณา ศรีวนิชย์ คณบดี คณะนิติศาตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองว่า กฎหมายได้แยกกระบวนการสืบสวน ที่เป็นการค้นหาพยานหลักฐาน และ กระบวนการสอบสวน คือการนำผลการสืบสวน ประมวลทำสำนวน ออกจากกัน พร้อมมองว่าการ "เค้นหาความจริง" เป็นการสะท้อนทัศนคติของตำรวจว่ายังให้ความสำคัญกับพยานบุคคล จนเกิดการซ้อม ทำร้ายผู้ต้องหา แต่ลืมไปว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการละเมิดสิทธิในร่างกาย และความเป็นมนุษย์

"จำเป็นจะต้องปรับทัศนคดิของตำรวจใหม่ และควรมีกระบวนการที่เหมาะสม มาคานการใช้อำนาจของตำรวจ เพื่อปกป้องสิทธิของผู้ต้องหา"

ผศ.ดร.ปารีณา ยังระบุว่า กฎหมายยาเสพติด เป็นกฎหมายที่ให้อำนาจตำรวจสามารถควบคุมผู้ต้องหาได้ถึง 3 วัน รวมถึง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่ให้อำนาจเจ้าพนักงานคุมตัวได้ 7 วัน ก่อนส่งศาล การให้ผู้ต้องหาอยู่กับเจ้าหน้าที่เป็นระยะเวลานานเช่นนี้ อาจเป็นช่องว่างให้ตำรวจหรือเจ้าพนักงาน ใช้อำนาจที่เกินเลย หรือไม่เหมาะสมได้

พร้อมมองว่าช่วงเวลาในการสืบสวน ควรจะวางระยะเวลาให้มีความพอดี ส่วนการปฏิรูปตำรวจ ยังถือว่าไม่เพียงพอ และควรแก้ไขกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบ โดยการเปลี่ยนทัศนคติ การใช้กฎหมายเพื่อแก้ปัญหาให้กับรัฐ เป็นการใช้กฎหมายเพื่อแก้ปัญหาให้กับสังคม และคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพประชาชนอย่างจริงจัง  รวมถึงต้องสร้างความเข้าใจร่วมกันว่า การซ้อมทรมาน เป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้

นายวันชัย รุจนวงศ์ กรรมการในคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม  เผยว่า นโยบายการแก้ไขปัญหายาเสพติดเป็นต้นตอของปัญหา เพราะการกระทำของ อดีตผู้กำกำับโจ้ ไม่ได้เป็นครั้งแรกที่เกิดขึ้น แต่เกิดขึ้นเป็นประจำหรือไม่ ตั้งแต่เริ่มรณรงค์เรื่องนโยบายปราบปรามยาเสพติด และการมีกฎหมายยาเสพติดตามแบบสหรัฐอเมริกา ที่จะสร้างภาพว่าผู้เกี่ยวข้องกับยาเสพติดถือเป็นเรื่องร้ายแรง ทำให้การปราบปรามมีความรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะการไปให้ความสำคัญกับการจับกุม "ผู้เสพ" และ "ผู้ค้ารายเล็ก" สวนทางกับนโยบายของกฎหมายที่ควรเน้นจับกุมผู้ค้ารายใหญ่ เมื่อคดียาเสพติด เน้นไปที่การปราบปราม ทำให้ผู้เสพถูกจับกุมคุมขังไปด้วย เมื่อผู้ต้องหาเป็นรายเล็กก็ทำให้เกิดการเปิดช่องนำไปสู่เรื่องการต่อรองมากขึ้น

น.ส.ฐิติรัตน์ ทิพย์สัมฤทธิ์กุล ประธานคณะกรรมการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย  หากมองภาพรวมสถานการณ์บังคับทรมาน และละเมิดสิทธิมนุษยชน ทั้งโลกยังไม่ได้มีการตอบรับในเรื่องนี้มากนัก ทำให้ประชาคมระหว่างประเทศพยายามรณรงค์และต่อต้านการทรมานและบังคับการสูญหาย ซึ่งประเทศไทยก็เป็น 1 ในประเทศที่ถูกจับตามอง ถึงการออกกฎหมายป้องกันการทรมานและบังคับสูญหาย ที่ยังไม่บรรจุเข้าวาระการประชุมสภาฯ  และเหตุการณ์อดีต ผกก.โจ้ ก็ยิ่งช่วยให้สังคมออกมาเรียกร้องให้เร่งคลอดกฎหมายฉบับดังกล่าว เพราะไม่สามารถทนต่อการใช้ความรุนแรงของเจ้าหน้าที่ได้

TOP อาชญากรรม
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ