ตร.คาด “เสี่ยโจ้” หนีออกนอกประเทศไปกัมพูชา ยันไม่เห็นหมายจับศาลปัตตานี


โดย PPTV Online

เผยแพร่




กรณี “สหชัย เจียรเสริมสิน หรือ เสี่ยโจ้” ผู้ต้องหาคดีร่วมกันฟอกเงินและค้าน้ำมันเถื่อน หลบหนีหายตัวไป มีข้อมูลจากตำรวจ มีความเป็นไปได้ว่า อาจจะหลบหนีไปยังประเทศกัมพูชา เนื่องจากมีภรรยาเป็นชาวกัมพูชา ล่าสุดตำรวจประสานขอให้สถานทูตช่วยตรวจสอบอยู่

รวบ "เสี่ยโจ้" เจ้าพ่อค้าน้ำมันเถื่อน

"เสี่ยโจ้" เผ่นข้ามแดน ผบช.ก.เชื่อ ซุก"บิ๊ก" เพื่อนบ้าน แจงเหตุจับได้แล้ว ทำไมต้องปล่อยลอยนวล

ศาลปัตตานี แจงปมหมายจับล่องหน ปล่อย "เสี่ยโจ้" นักธุรกิจใหญ่ ลอยนวลอีกครั้ง

เมื่อวันที่ 15 พ.ย. 2564 พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง กล่าวถึงความคืบหน้ากรณี นายสหชัย เจียรเสริมสิน หรือ เสี่ยโจ้ ผู้ต้องหาคดีร่วมกันฟอกเงินและค้าน้ำมันเถื่อน ที่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวไปหลังจากที่ยื่นประกันตัวที่ศาลจังหวัดสงขลา ที่ตอนนี้หายตัวไป โดยระบุว่า ตอนนี้ตำรวจเชื่อว่า เสี่ยโจ้ หลบหนีออกนอกประเทศไปแล้ว กำลังอยู่ระหว่างการประสานสถานทูตกัมพูชา เพื่อขอให้ช่วยตรวจสอบ เนื่องจากเสี่ยโจ้มีภรรยาเป็นชาวกัมพูชา รวมถึงมีหนังสือเดินทางของประเทศกัมพูชาอยู่ด้วย

โดยตำรวจทำงานเต็มที่แล้ว ซึ่งที่ปล่อยตัวเสี่ยโจ้ไป เพราะไม่พบว่ามีหมายจับของศาลจังหวัดปัตตานีจริง ๆ หลังจากนี้ต้องรอตรวจสอบว่า ทำไมหมายจับดังกล่าวถึงไม่โชว์ในระบบ

ทั้งนี้หากไล่เรียงรูปแบบการเชื่อมโยงข้อมูลทางคดี ของ ตำรวจ สำนักงานอัยการสูงสุด และสำนักงานศาลยุติธรรม ทีมข่าวพบข้อมูลจากเว็บไซต์สำนักเทคโลโลยีสารสนเทศ ศาลยุติธรรม ระบุว่า 3 หน่วยงาน มีการทำ MOU เชื่อมโยงข้อมูลสารบบคดี ระหว่างกัน ตั้งแต่ วันที่ 16 กันยายน 2562 ในข้อมูลมีรูปของ ตัวแทน 3 หน่วยงาย เซ็นลงนามร่วมกัน ประกอบด้วย พล.ต.อ.ปิยะ อุทาโย เป็นตัวแทนของตำรวจ  นายสราวุธ เบญจกุล เป็นตัวแทนของศาลยุติธรรม และนายเชิดศักดิ์ หิรัญสิริสมบัติ เป็นตัวแทนของอัยการสูงสุด เซ็นลงนาม เชื่อมโยงข้อมูลคดีความร่วมกัน และพบว่ามีการปรับปรุงเพิ่มเติมในปี 2563 ด้วย

ทีมข่าวพยายามสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการเชื่อมโยงข้อมูลสารสนเทศดังกล่าวจากผู้ที่ร่วมลงนาม คนแรกคือ พล.ต.อ.ปิยะ อุทาโย รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ แต่ไม่สามารถติดต่อได้ เมื่อโทรศัพท์สอบถามนายสราวุธ เบญจกุล อดีตเลขาธิการศาลยุติธรรม ปฏิเสธให้สัมภาษณ์ ระบุเพียงว่า กรณีค้นหาหมายศาลไม่เจอในคดีเสี่ยโจ้ เกิดขึ้นหลังจากตัวเองพ้นจากตำแหน่งแล้ว อยากให้ถามผู้ที่ดำรงตำแหน่งเลขาธิการศาลยุติธรรมคนปัจจุบันมากกว่า แต่แสดงความเห็นว่า หากการเชื่อมต่อข้อมูลถูกต้อง ไม่น่าจะเกิดการหาหมายศาลไม่เจอ

ขณะที่ นายสรวิศ ลิมปรังษี โฆษกศาลยุติธรรมคนปัจจุบัน เปิดเผยว่า การทำ MOU เชื่อมโยงข้อมูลดังกล่าวเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2562 จริง และศาลจังหวัดปัตตานีระบุว่าส่งเอกสารหมายจับเสี่ยโจ้ในคดีปลอมเอกสารฯ ให้ตำรวจตั้งแต่ปี 2557ทางศาลจึงไม่ทราบว่า มีการคีย์ข้อมูลลงในระบบสารสนเทศของตำรวจหรือไม่

รูปแบบการเชื่อมโยงข้อมูลจะเริ่มจากตำรวจรับแจ้งความ และบันทึกข้อมูลลงระบบ “CRIMES” ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อให้อัยการสามารถดึงข้อมูลเข้ามายังระบบ “National Single Window (NSW)” ของสำนักงานอัยการสูงสุด มาตั้งต้นสำนวนยื่นฟ้องต่อศาล จากนั้นข้อมูลจะถูกส่งไปยัง “ระบบสารสนเทศสำนวนคดี” ของสำนักงานศาลยุติธรรม ซึ่งศาลสามารถส่งข้อมูลคดีและคำพิพากษากลับไปให้อัยการ ซึ่งจะส่งต่อผลคดีที่ที่มีคำตัดสินจากศาลกลับไปให้ตำรวจผ่านระบบ จุดประสงค์ของการทำ MOU ดังกล่าว คือการ ทำให้ ทั้ง 3 หน่วยงาน คือ ตำรวจ อัยการ และ ศาล สามารถเห็นข้อมูลหมายจับ และ ข้อมูลทางคดี ได้เหมือนกัน

ทีมข่าวพูดคุยกับ พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร เลขาธิการสถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ซึ่งเป็น อดีตรองผู้บังคับการจเรตำรวจ แสดงความเห็นต่อกรณีนี้ว่า แม้การทำ MOU บูรณาการข้อมูลร่วมกันระหว่างตำรวจกับศาลยุติธรรม จะเพิ่งเกิดขึ้นในปี 2562 แต่โดยหลักปฏิบัติแล้วจะต้องมีการนำข้อมูลเก่าใส่เข้าไปในระบบ หรือต่อให้ไม่มีการทำ MOU ศาลก็ต้องส่งข้อมูลหมายจับให้ตำรวจที่รับผิดชอบ ตามขั้นตอน

 

พ.ต.อ.วิรุตม์ มองว่า เหตุที่เกิดขึ้นมีโอกาสเป็นไปได้ 2 ทาง คือ ตอนที่ศาลส่งหมายจับมา ตำรวจไม่ได้ใส่ใจกำชับให้ลูกน้องตามจับ หรือ ตั้งใจจะไม่จับ นอกจากนี้ยังย้ำว่า ประเด็นนี้ถูกตั้งข้อสังเกตมาก เพราะ เสี่ยโจ้ ทำธุรกิจสีเทาและเคยถูกตรวจพบหลักฐานการจ่ายส่วยให้เจ้าหน้าที่ด้วย การที่ตำรวจไม่จับกุมจึงต้องตรวจสอบต่อว่ามีการประพฤติมิชอบหรือทุจริตหรือไม่

“กรณีเสี่ยโจ้ มันก็พูดตรง ๆ มันก็พันไปถึงบัญชีส่วยตั้งแต่ปี 57 ที่เปิดออกมา ที่จ่ายไปทุกหน่วยเลยเพราะเขาเป็นเจ้ามือหวยรายใหญ่ เพราะฉะนั้นแน่นอนเขาต้องมีความสัมพันธ์กับตำรวจอย่างดีอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นต้องตรวจสอบดูว่า การที่ไม่ได้ หนึ่ง ต้องตรวจสอบว่า หมายจับถึงตำรวจแล้วใช่ไหม ถึงผู้บังคับการตำรวจจังหวัดแล้วใช่ไหม ถ้าถึงแล้ว สั่งไปที่ใคร อย่างไร แล้วทำไมจึงไม่ได้จับ ทำไม มีการรายงานไหม มีความเคลื่อนไหวในการพยายามจับไหม จะมาบอกว่าหาไม่เจอ อันนี้ยิ่งเป็นพิรุธใหญ่เลย” พ.ต.อ.วิรุตม์ กล่าว

พ.ต.อ.วิรุตม์ แสดงความเห็นเพิ่มเติมว่า กรณีที่เกิดขึ้น ตำรวจที่เกี่ยวข้องเข้าข่ายกระทำผิด โดยหากเป็นการละเลย ไม่ได้กำชับให้จับกุม ถือเป็นความผิดทางวินัย แต่ถ้ามีหลักฐานว่าเป็นการตั้งใจไม่จับกุม ถือว่ามีพฤติการณ์ทุจริต ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157

 

PR - ตารางคะแนน-2_B PR - ตารางคะแนน-2_B
TOP อาชญากรรม
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ