ย้อนคดีเณรคำ พบ DSI บินตามล่าตัวถึงสหรัฐฯ


โดย PPTV Online

เผยแพร่




หากเราย้อนดูเรื่องการส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน พบว่า ไม่ใช่เรื่องใหม่ในประเทศไทย ที่ผ่านมาเคยมีการส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนแล้วหลายครั้ง ทำให้การติดตามตัวนายวรยุทธ ถูกตั้งคำถามอย่างหนักว่า ทำไมไม่ดำเนินการแบบที่เคยทำ พีพีทีวี ยก 2 เหตุการณ์ส่งผู้ร้ายข้ามแดน คดีดัง ซึ่งต้องยอมรับว่าการดำเนินการไม่ง่ายแต่ก็ไม่ใช่ทำไม่ได้

โดยกรณีแรก คือ คดีนายวิระพล สุขผล หรือ อดีตพระเณรคำ ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ อดีตพระเณรคำ เข้าข่ายความผิดหลายเรื่องโดยเฉพาะ คดีฉ้อโกง ซึ่งต่อมาตรวจสอบพบว่า มีบัญชีที่เกี่ยวข้องกับอดีตพระเณรคำรวม 41 บัญชี วงเงินรวม 200 ล้านบาทนำไปสู่การสั่งอายัดทรัพย์สิน กว่า 1 พันล้านบาท ที่ถูกตั้งข้อสังเกตว่า อาจมีที่มาจากเงินบริจาค

เสร็จแล้ว! เอกสารแปล 33 หน้าคดี “บอส กระทิงแดง”

เปิดระเบียบติดตามผู้ร้ายข้ามแดน ม.157 เข้าข่ายข้อหาสากล

การติดตามตัวอดีตพระเณรคำหลังมีการออกหมายจับ พนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ยื่นหนังสือต่อกรมการกงศุล เพื่อให้เพิกถอนหนังสือเดินทางของอดีตพระเณรคำ

ส่วนดีเอสไอ ทำหนังสือส่งไปยังตำรวจสากล กว่า 180 ประเทศ เพื่อแจ้งว่าอดีตพระเณรคำเป็นบุคคลที่มีการกระทำความผิดในประเทศไทย

จากนั้นเดินหน้าพิสูจน์ถิ่นที่อยู่ของอดีตพระเณรคำ จนสุดท้ายพบว่า อยู่ที่เลค แอลซินอล เมืองริเวอร์ไซด์ ประเทศสหรัฐอเมริกาทำให้ พนักงานสอบสวนดีเอสไอ และอัยการจากไทย ประสานขอตัวตามสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดน ช่วงปี 2561

ทีมข่าวพีพีทีวี เคยสัมภาษณ์ พ.ต.ท.พงษ์อินทร์ อินทรขาว ซึ่งเป็นผู้บัญชาการสำนักคดีความมั่นคง กรมสอบสวนคดีพิเศษ ในช่วงที่ทำคดีของอดีตพระเณรคำ เล่าว่า เคยเดินทางไปสหรัฐอเมริกา 2 ครั้ง เพื่อพิสูจน์ถิ่นที่อยู่ อดีตพระเณรคำ ก่อนจะมีการประสานงานตามขั้นตอน เพื่อขอให้ส่งตัวอดีตพระเณรคำกลับมาดำเนินคดี

ส่วนอีก 1 คดีดัง คือ คดีของนายราเกซ สักเสนา อดีตผู้บริหารธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชยการ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผู้ต้องหาในคดียักยอกทรัพย์ ที่ได้รับฉายาว่าเป็น “พ่อมดการเงิน” เขาถูกดำเนินคดีข้อหายักยอกทรัพย์เป็นเงิน 75 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ ราว 3000 ล้านบาท

 คดีนี้เป็นคดีเก่าตั้งแต่ปี 2539 ซึ่ง นายราเกซลบหนีออกจากประเทศไทย ไปอาศัยอยู่ที่เมืองวิสต์เลอร์ รัฐบริติชโคลัมเบีย ประเทศแคนาดา ก่อนจะถูกจับกุมโดยกองตำรวจม้าหลวงแห่งแคนาดาจากนั้นทางการไทยได้ประสานงานกับเจ้าหน้าที่แคนาดา เพื่อนำตัวนายราเกซเป็นผู้ร้ายข้ามแดน กลับมาดำเนินคดีในประเทศไทย เมื่อปี 2552 รวมระยะเวลาตั้งแต่เกิดคดีความจนพาตัวกลับมาไทยได้  13 ปีและเมื่อปี 2563 ที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทย เพิ่งเปิดเผยความคืบหน้าในการติดตามยึดทรัพย์คืนจากนายราเกซ และพวกว่า สามารถยึดทรัพย์คืนได้แล้วเป็นมูลค่า 5,000 ล้านบาท

ทั้ง 2 กรณี เป็นเพียงคดีตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่าการที่ผู้ร้ายหลบหนีออกนอกประเทศ ไม่ใช่เรื่องที่เกินความพยายามของตำรวจไทย เพียงแต่ปัจจัยสำคัญ คือ ต้องรู้ว่าแหล่งที่อยู่ของผู้ร้ายหลบหนีไปที่ใด ซึ่งกรณีของนายวรยุทธ ตอนนี้ ถือว่ายังอยู่ในขั้นตอนแรกสุด คือ ไม่รู้ว่าอยู่ที่ไหน

นายประยุทธ เพชรคุณ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ให้สัมภาษณ์ยืนยันว่า อัยการมีความพร้อมประสานงานกับต่างประเทศเพื่อนำตัวนายวรยุทธ กลับมาดำเนินคดีตามกฎหมายในไทย ขอเพียงตำรวจหาที่อยู่ของนายวรยุทธ ให้ได้  เพราะถ้าไม่มีข้อมูลส่วนนี้ ขั้นตอนการส่งตัวผู้ผู้ร้ายข้ามแดนก็จะไม่เกิดขึ้น แต่หากทราบที่อยู่ของนายวรยุทธ ขั้นตอนต่อไปอัยการ จะประสานงานไปยังประเทศต้นทางเพื่อยื่นคำร้องส่งผู้ร้ายข้ามแดนกลับมาที่ไทย

 ซึ่งการส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนมี 2 กรณี คือกรณีที่ประเทศต้นทางมีสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนกับไทย ทุกอย่างก็จะดำเนินการตามสนธิสัญญาที่ว่าไว้ต่อกัน ส่วนกรณีที่สอง หากประเทศต้นทางไม่มีสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนกับไทย ก็ต้องใช้กระบวนการของกระทรวงการต่างประเทศในการเจรจาทางการทูตส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน

นายประยุทธ์ ย้ำว่า แม้นายวรยุทธ จะหลบหนีไปอยู่ที่ประเทศออสเตรีย หรือ ประเทศอื่นที่ไม่ได้ทำสนธิสัญญาส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนกับไทย ก็ไม่ใช่ปัญหาในการติดตามตัวกลับมาดำเนินคดี

TOP อาชญากรรม
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ