BTS-BEM ยื่นซองประมูลชิง รถไฟฟ้าสายสีส้ม


โดย PPTV Online

เผยแพร่




การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้เปิดประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) วงเงิน 142,789 ล้านบาท

รฟม.แจง เปลี่ยนเกณฑ์ประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม ปัดส่อทุจริต

จับตา 2 เอกชนยักษ์ใหญ่ ยื่นซองประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม 1.2 แสนล้านบาท

วันนี้ ( 9 พ.ย.63) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้เปิดประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) วงเงิน 142,789 ล้านบาท โดยเป็นการใช้หลักเกณฑ์เดิมในการประเมินการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน คือ พิจารณาด้านการเงิน 100% เป็นเกณฑ์ตัดสิน ปิดประมูลเวลา 15.00 น. มีบริษัทยื่นซองประมูล 2 ราย จากที่ซื้อเอกสารประมูล 10 ราย

นี่คือภาพการขนเอกสารของบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ที่นำเอกสารรวมทั้งสิ้นกว่า 240 กล่อง บรรทุกมาด้วยรถ 6 ล้อ 6 คัน และรถตู้อีก 2 คัน มายื่นประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม นำโดย นายอนวัช สุวรรณฤทธิ์ รองกรรมการผู้จัดการพัฒนาธุรกิจ BEM ซึ่งได้ลงทะเบียนยื่นประมูลในเวลา 11.19 น.

ต่อมาเวลาประมาณ 14.39 น. นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC และ นายภาคภูมิ ศรีชำนิ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) เดินทางเข้ายื่นเอกสารร่วมประมูล เป็นรายที่ 2 โดยมีเอกสารประมูลกว่า 400 กล่อง ใช้รถบรรทุกในการขนเอกสารถึง 4 คัน

นายสุรพงษ์ ระบุว่า การเข้ายื่นเอกสารร่วมประมูล ยังคงใช้ชื่อกิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ (BSR Joint Venture) โดยเป็นการร่วมทุนของ 3 บริษัท คือ บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTSG) และ บมจ. ซิโน–ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น แต่ที่ไม่ปรากฎชื่อของ บมจ.ราช กรุ๊ป เพราะทางบริษัท ยังไม่พร้อม ติดกระบวนการภายใน แต่ให้ใช้ชื่อ บีเอสอาร์ตามเดิม ส่วนจะมีการเข้าร่วมทุนภายหลังได้หรือไม่ ก็อยู่ที่เงื่อนไขของรฟม.พิจารณา

ในการยื่นเอกสารครั้งนี้ บีเอสอาร์ ได้ยื่นเอกสารร่วมประมูลโดยยึดตามทีโออาร์เดิม คือ พิจารณาผลตอบแทนเป็นการตัดสิน โดยยังมั่นใจว่าจะได้รับเลือกในการประมูลครั้งนี้ เพราะทำข้อเสนอมาดีที่สุดแล้ว

สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ขณะนี้ยังมีปัญหาเรื่องการฟ้องร้อง หลังศาลปกครองกลางมีคำสั่งทุเลา เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2563 เนื่องจากเอกชนที่เตรียมจะยื่นประมูลโครงการนี้ คือ BTSC ยื่นฟ้องต่อศาลขอให้คุ้มครองชั่วคราว โดยให้ รฟม.กลับมาใช้เกณฑ์เดิมพิจารณาผลประมูล นั่นก็คือ พิจารณาด้านการเงิน 100% เพราะไม่เห็นด้วยกับการแจ้งเปลี่ยนหลักเกณฑ์ใหม่ของ รฟม. ที่จะมาใช้คะแนนเทคนิค 30% และคะแนนทางการเงิน 70% และผลคือ BTSC ก็ได้รับการคุ้มครองจากศาล

ต่อมาเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2563 รฟม.และคณะกรรมการตามมาตรา 36 ได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งทุเลาของศาลปกครองกลางที่ให้การคุ้มครอง BTSC ซึ่งขณะนี้ ก็ยังอยู่ในช่วงการรอฟังการตัดสินจากศาลว่าจะรับอุทธรณ์หรือไม่

โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มีแนวเส้นทางเชื่อมระหว่างกรุงเทพมหานคร ทิศตะวันออกและทิศตะวันตก ระยะทาง 35.9 กิโลเมตร แบ่งเป็นส่วนตะวันออก (ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี) ระยะทาง 22.5 กิโลเมตร จำนวน 17 สถานี (สถานีใต้ดิน 10 สถานี และ สถานียกระดับ 7 สถานี) และส่วนตะวันตก (ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมฯ) ระยะทาง 13.4 กิโลเมตร จำนวน 11 สถานี (สถานีใต้ดินตลอดสาย)

จับตา รฟม.อุทธรณ์ประมูล "รถไฟฟ้าสายสีส้ม"

 

 

 

 

PR - ตารางคะแนน-2_B PR - ตารางคะแนน-2_B
TOP เศรษฐกิจ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ