3 ผลพวงไทยร่วมลงนามอาร์เซ็ป


โดย PPTV Online

เผยแพร่




ผู้เชี่ยวชาญการค้าระหว่างประเทศ เผย ร่วมลงนามอาร์เซ็ป (RCEP) จะก่อความเปลี่ยนแปลง 3 เรื่องหลัก ๆ กับประเทศไทย

ไทยร่วมลงนามอาร์เซ็ป ปิดฉากเจรจายาวนาน 8 ปี ชี้ เป็นFTA ขนาดใหญ่

อีกด้านหนึ่งของ "อาร์เซ็ป" สินค้าไร้คุณภาพอาจทะลักเข้าไทยมากขึ้น

พาณิชย์ เผยข้อตกลง “อาร์เซ็ป” มีผลบังคับใช้ปี 2564

จากกรณีที่ประเทศไทยบรรลุการเจรจาความตกลงอาร์เซ็ป (RCEP) กับอีก 14 ประเทศ ทำให้เกิดความสงสัยว่า การเข้าร่วมกรอบอาร์เซ็ปของไทยในครั้งนี้ จะนำไปสู่อะไรบ้าง

นิวมีเดีย PPTVHD36 ต่อสายตรงถึง รศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ ม.หอการค้าไทย เพื่อสอบถามความเห็นถึงความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้นหลังจากนี้เมื่อไทยเข้าร่วมอาร์เซ็ปเป็นที่เรียบร้อย ซึ่งมีอยู่ด้วยกัน 3 เรื่อง

ความเปลี่ยนแปลงประการที่ 1 การขยายตัวในตลาดสินค้าเกษตรและสินค้าเกษตรแปรรูป

โดยอาจารย์มองว่า สามารถแยกการขยายตัวนี้ได้ใน 2 ส่วน คือ ส่วนของตลาดในอาเซียน คาดว่าไม่น่าจะเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ อีกส่วนคือตลาดที่เกี่ยวข้องกับ จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ซึ่งมีสถานะเป็นประเทศคู่เจรจา จะขยายตัวเพิ่มขึ้น เพราะมีความต้องการในห่วงโซ่การผลิตระหว่างเกษตรแปรรูปและอุตสาหกรรมที่อยู่ร่วมกับจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้

เนื่องจากเดิม 3 ประเทศนี้ ไม่มีความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ; FTA) ด้วยกัน แต่จากนี้ 3 ประเทศนี้มีเอฟทีเอภายใต้อาร์เซ็ป  และไทยเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่การผลิตของ 3 ประเทศ แล้ว 3 ประเทศนี้ก็เป็นคู่ค้าสำคัญของประเทศไทย  ตลาดก็จะขยายขึ้นในส่วนที่ไปเติมเต็มห่วงโซ่การผลิตของเขา

ความเปลี่ยนแปลงประการที่ 2 คือ ปัญหาที่ประเทศไทยต้องปรับตัวเมื่อเข้าร่วมอาร์เซ็ป โดยเฉพาะเรื่องของ “อี-คอมเมิร์ซ (E-Commerce)” หรือการค้าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ และการซื้อขายสินค้าออนไลน์ โดยเฉพาะยุคโควิด-19 ที่ตลาดอี-คอมเมิร์ซเติบโตขึ้นหลายเท่า แต่จากนี้ อี-คอมเมิร์ซ อาจเป็นปัญหาสำหรับประเทศไทย โดยเฉพาะเรื่องของ สินค้าไม่ตรงปก สินค้าคุณภาพต่ำ

 “ประเทศเรายังไม่มีระเบียบกติกาที่กำกับดูแลสินค้าออนไลน์ ว่ามีคุณภาพ หรือปลอดภัยกับคนไทยแค่ไหน ในขณะที่ประเทศจีนมีกฎหมายอี-คอมเมิร์ซชัดเจนว่า ใครเอาสินค้าปลอมมาโพสต์ ใครเอาสินค้าไม่มีคุณภาพมาโพสต์ จะโดนปรับหนัก แต่ของเรา ภายใต้ความตกลงอาร์เซ็ป จะทำให้มีการซื้อขายสินค้าออนไลน์มากขึ้น แต่กฎระเบียบกติกาที่ไปดูแลเรื่องมาตรฐานสินค้าของเรายังอ่อนอยู่”

ตรงนี้อาจารย์ยังเสริมว่า นอกจากระเบียบกติกาในการดูแลอี-คอมเมิร์ซแล้ว อีกหนึ่งประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญ คือ การควบคุมมาตรฐานสินค้าจากต่างประเทศ ไม่ให้ประชาชนหรือผู้บริโภคในไทยต้องเสียประโยชน์ เพราะประเทศไทยยังไม่มีความเข้มงวดมากนัก เป็นโอกาสให้สินค้าอื่น ๆ ทะลักเข้ามาในประเทศไทย สินค้าไม่มีคุณภาพอาจทะลักเข้ามาประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น เป็นสิ่งที่ประเทศไทยต้องให้ความสำคัญมาก

 ความเปลี่ยนแปลงประการที่ 3 คือ การเคลื่อนย้ายแรงงานฝีมือ ความตกลงอาร์เซ็ป เปิดโอกาสให้แรงงานมีฝีมือสามารถเคลื่อนย้ายเข้ามาทำงานในประเทศไทยได้ รวมถึงไทยเอง ก็ส่งออกแรงงานไปยังประเทศภายใต้ความตกลงได้ด้วยเช่นกั

ดังนั้น แรงงานบางสายวิชาชีพในไทยยังคงขาดแคลน ทำให้มีแนวโน้มว่าจะเกิดการไหลเข้ามาของแรงงานมากกว่าการไหลออก

สำหรับกลุ่มแรงงานวิชาชีพที่ไทยยังอ่อนอยู่ เช่น ผู้บริหารระดับกลางขึ้นไประดับสูง โดยเฉพาะในกลุ่มที่เป็น โลจิสติกส์ กลุ่มที่ปรึกษาธุรกิจ ที่ปรึกษาทางการเงิน กลุ่มผู้เชี่ยวชาญสิ่งแวดล้อม เป็นโอกาสที่ทำให้นักวิชาชีพจากอีก 14 ประเทศเข้ามาทำงานในประเทศไทยได้

ส่วนประเทศไทยจะเข้าไปทำงานในกลุ่ม 14 ประเทศมากน้อยแค่ไหน ผมคิดว่าเมื่อเทียบกับคนที่เข้ามากับที่จะออกไป ผมว่าคนที่เข้ามาจะมีมากกว่า

ปัจจัยหนึ่ง ที่ทำให้แรงงานมีฝีมือไทยไม่น่าจะเคลื่อนย้ายออกนอกประเทศ คือ กลุ่มวิชาชีพที่ไทยเชี่ยวชาญหลัก ๆ เช่น แพทย์ และวิศวกร ซึ่งฐานรายได้ใกล้เคียงกับการทำงานต่างประเทศ จึงมีความเป็นไปได้ที่สายอาชีพเหล่านี้ จะยังคงอยู่ในประเทศไทยซึ่งมีความเคยชินในด้านสังคมสภาพแวดล้อมมากกว่า

ข้อดีอีกอย่างหนึ่งของการเข้าร่วมอาร์เซ็ป คือ ความร่วมมือด้านการพัฒนานวัตกรรม และยกระดับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี; SMEs)

“การพัฒนานวัตกรรมและการยกระดับศักยภาพการแข่งขันเอสเอ็มอี อันนี้เป็นเรื่องดี แต่ไม่แน่ใจว่าเมื่อทำจริง ๆ แล้วจะยกระดับการพัฒนาเอสเอ็มอี บ้านเราได้อย่างที่ตั้งใจไว้หรือเปล่าเพราะเคยมีบทเรียนกับประเทศญี่ปุ่น เอสเอ็มอีไทยไม่ได้ยกระดับขึ้นมาจนสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้มากนัก เพราะเอสเอ็มอีไทยก็ยังต้วมเตี้ยม ๆ อยู่”

การเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นนับจากนี้ แน่นอนว่าย่อมส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกับประเทศไทยอย่างมาก สิ่งสำคัญคือการตั้งรับและพัฒนาในส่วนที่ไทยอาจยังด้อย แต่อีกด้านหนึ่งคือโอกาสในการแสดงศักยภาพในจุดที่ไทยแข็งแกร่งให้ดียิ่งขึ้นไปอีก

TOP เศรษฐกิจ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ