สำหรับ มาตรการช้อปดีมีคืน สามารถใช้สิทธิ์ได้ตั้งแต่วันที่ 23 ตุลาคม - 31 ธันวาคม 2563 ซึ่งผู้ที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาปี 2563 ที่จะยื่นแบบภาษีในต้นปี 2564 สามารถนำไปใช้สิทธิ์ลดหย่อนได้ แต่ไม่เกิน 30,000 บาทต่อคน เว้นแต่ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือเป็นผู้ใช้สิทธิโครงการคนละครึ่ง จะไม่สามารถใช้สิทธิ์ช้อปดีมีคืนได้อีก
ไฟเขียว !! “ช้อปดีมีคืน” ลดหย่อนภาษีต่อคนไม่เกิน 30,000 บาท
รัฐดันกำลังซื้อ 2 แสนล้าน เพิ่ม “ช้อปดีมีคืน”
สินค้าที่ซื้อแล้วสามารถนำมาใช้สิทธิ์ต้องเป็นร้านที่อยู่ในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) และต้องซื้อสินค้าและรับบริการจากร้านค้าที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม เช่น ห้างสรรพสินค้า ซูเปอร์มาร์เกต ร้านสะดวกซื้อ ร้านอาหารที่จดทะเบียน VAT หรือร้านค้าทั่วไปที่ออกใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปที่มีชื่อและข้อมูลของผู้ซื้อสินค้าหรือรับบริการได้เท่านั้น ไม่สามารถใช้ใบกำกับภาษีแบบย่อได้
โดยสินค้าที่ใช้สิทธิ์ได้ประกอบด้วย...
- อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ไอโฟน ไอแพด แมคบุ๊ค โน๊ตบุ๊ค แท็บเล็ตทีวี ตู้เย็น เครื่องใช้ไฟฟ้า ฯลฯ
- สินค้าในร้านสะดวกซื้อ เช่น 7-eleven (สามารถออกใบกำกับภาษีแบบเต็มได้)
- ค่าอาหาร เครื่องดื่ม นมที่แปรรูปแล้ว
- สปา
- ทองรูปพรรณ (ลดเฉพาะค่ากำเหน็ด)
- เสื้อผ้า รองเท้า เครื่องสำอางค์
- ยางรถยนต์ อุปกรณ์ตกแต่งยานยนต์ ค่าซ่อมรถยนต์
- ค่าธรรมเนียมการซื้อขายหุ้น
- ตัดแว่น
-คาราโอเกะ อาบ อบนวด
- หนังสือ สามารถซื้อได้ทั้งหนังสือที่เป็นสิ่งพิมพ์ ทุกประเภท (ยกเว้นนิตยสารและหนังสือพิมพ์) รวมทั้ง e-Book
- สินค้าโอทอป (OTOP) ต้องเป็นสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) ที่ได้ลงทะเบียนกับกรมการพัฒนาชุมชนแล้ว
แล้วอะไรบ้างที่ซื้อแล้วใช้สิทธิ์ลดหย่อนไม่ได้ เช่น
- สุรา เบียร์ และไวน์
- ยาสูบ
- น้ำมันและก๊าซสำหรับเติมยานพาหนะ
- รถยนต์ รถจักรยานยนต์ และเรือ
- หนังสือพิมพ์/นิตยสาร ค่าบริการหนังสือพิมพ์/นิตยสารที่อยู่ในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต
- บริการจัดนำเที่ยว
- ที่พักในโรงแรม
- รวมถึงสินค้าหรือบริการบางประเภทที่ไม่ได้เสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตรา 7% อยู่แล้ว ก็จะไม่สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ เช่น ผัก-ผลไม้สดที่ยังไม่ได้แปรรูป เนื้อหมู เนื้อไก่ เนื้อปลา ทองคำแท่ง ค่ารักษาพยาบาล ค่าทำศัลยกรรม
แต่ละคนได้ลดหย่อนเท่าไหร่
ข้อกำหนดของมาตรการคือห้ามเกิน 30,000 บาท แต่ก็ยังคงต้องมาอิงกับฐานรายได้ โดยคำนวณภาษีตามขั้นภาษีที่เสียอยู่ก่อน แต่ถ้าใครที่มีรายได้ต่อปีไม่เกิน 150,000 ไม่ต้องใช้สิทธิ์เพราะอยู่ในเกณฑ์ที่ได้รับการยกเว้นภาษีอยู่แล้ว
หลักฐานที่ต้องใช้เวลาขอลดหย่อนช้อปดีมีคืน
กรณีซื้อสินค้าหรือรับบริการทั่วไปจะต้องใช้ใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปเท่านั้น ไม่สามารถใช้ใบกำกับภาษีแบบย่อได้ ซึ่งจะต้องมีการระบุข้อความดังนี้
- คำว่า "ใบกำกับภาษี" เห็นเด่นชัด
- ชื่อ ที่อยู่ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีของร้านค้าผู้ประกอบการ
- ชื่อ ที่อยู่ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ (เลขประจำตัวผู้เสียภาษี = เลขประจำตัวบัตรประชาชน)
- หมายเลขของใบกำกับภาษี และหมายเลขลำดับของเล่ม (ถ้ามี)
- ชื่อ ชนิด ประเภท ปริมาณ และมูลค่าของสินค้าหรือบริการ
- จำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มที่คำนวณจากมูลค่าของสินค้าหรือบริการ โดยให้แยกออกจากมูลค่าของสินค้าหรือบริการอย่างชัดแจ้ง
- วัน เดือน ปี ที่ออกใบกำกับภาษี
- ข้อความอื่นที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด (ถ้ามี) เช่น คำว่า เอกสารออกเป็นชุด สำเนาใบกำกับภาษี ฯลฯ
ซึ่งในความเป็นจริงหากไปสินค้าที่เข้าร่วมมาตรการ สามารถแจ้งกับผู้ขายได้เลยว่าจะนำไปใช้สิทธิ์ในมาตรการช้อปดีมีคืน พร้อมยื่นบัตรประจำตัวประชาชน ใบเสร็จรับเงินให้ผู้ขายสินค้าหรือผู้ให้บริการ เขาก็จะออกใบกำกับภาษีเต็มรูปแบบมาให้
ทั้งนี้ ใบกำกับภาษีต้องมีชื่อผู้ซื้อสินค้าหรือชำระค่าบริการเพียงคนเดียว ไม่สามารถนำใบกำกับภาษีที่มีผู้ซื้อสินค้าหลายคนมาหักลดหย่อนได้