ตั้งวงถกปัญหา “ข้าว” กับข้อเสนอจาก อ.ดอกคำใต้ ไปถึงรัฐบาล


โดย PPTV Online

เผยแพร่




หลังจากที่ทีมงาน นิวมีเดีย พีพีทีวี ลงพื้นที่ อ.ดอกคำใต้ จ.พะเยา และติดตามชาวนา (ลุงธง) ไปขายข้าวทำให้เห็นสถานการณ์ของราคาข้าวในปีนี้ แต่นอกจากนั้นแล้ว พื้นที่กว่าแสนไร่ ยังคงมีปัญหาและปัจจัยอื่นๆ ที่มีผลต่อการปลูกข้าวของชาวนาอีก ทีมงานจึงถือโอกาสนี้ตั้งวงถกปัญหากันแบบเจาะลึกกับทุกๆ ฝ่ายที่เกี่ยวข้อง คือ

นายสมเกียรติ แสงแก้ว ปลัดอำเภอหัวหน้ากลุ่มงานบริหารงานปกครอง รักษาราชการแทนนายอำเภอดอกคำใต้

ตามชาวนาไปขาย “ข้าว” เงินก้อนแรกจากการทำนาฤดูกาลผลิต 2563/64

นายวรฤทธิ์ ตั๋นเต็ม เกษตรอำเภอดอกคำใต้

นายธวัชชัย ทองประไพ กำนันอำเภอดอกคำใต้

นายพิเชษฐ์ ศักดิ์สูง นายก อบต.อำเภอดอกคำใต้

นายภัทรพงษ์ นามปิง เกษตกรผู้ปลูกข้าว

นายลอง วงศ์ประสิทธิ์ กำนัน ต.บุญเกิด

โดยสรุปประเด็นสำคัญได้คือ

ชาวนาฉุนขาด ได้ราคาข้าวเปลือกต่ำ ยิงหัวคนประเมินร่วง

สถานการณ์การปลูกข้าวโดยภาพรวม อ.ดอกคำใต้ ผลิตข้าวได้ทั้งหมด 75,000 ตัน แบ่งเป็น ข้าวเหนียว 20,000 ตัน  ข้าวหอมมะลิ 55,000 ตันซึ่งภาพรวมสภาพปัญหาราคาข้าวต้องปีนี้ถือว่า ต่ำกว่าปีที่แล้ว

“ปีที่แล้วภาพรวมข้าวเจ้ากิโลกรัมละ 13 บาท ปีนี้ก็จะเหลือประมาณกิโลกรัมละ 9-10 บาท ข้าวเหนียวปีที่แล้วกิโลกรัมละ 10 บาท ปีนี้ เหลือกิโลกรัมละ 8.30 - 9 บาท ทำให้ชาวบ้านรู้สึกทำไมข้าวปีนี้ถูกลง” นายสมเกียรติ แสงแก้ว ปลัดอำเภอหัวหน้ากลุ่มงานบริหารงานปกครอง รักษาราชการแทนนายอำเภอดอกคำใต้

มาเริ่มกันที่ปัญหาต่อเนื่องยาวนานมาทุกปีคือ “ฝนทิ้งช่วง ปริมาณน้ำในพื้นที่ไม่เพียงพอ”

ปํญหาดังกล่าวเกิดขึ้นต่อเนื่องมาหลายปี เนื่องจากพื้นที่ทั้งจังหวัดพะเยามีความต้องการใช้น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภครวมกันแล้วประมาณ 400 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี สวนทางกับพื้นที่การกักเก็บน้ำภายในจังหวัดที่รองรับได้เพียงร้อยละ 50 หรือ 200 กว่าล้านลูกบาศก์เมตร แบ่งแป็น กว๊านพะเยาประมาณ 50 กว่าล้านลูกบาศก์เมตร อ่างแม่ต่ำ แม่ปืม ประมาณ 50 กว่าล้านลูกบาศก์เมตร หนองเล็งทรายประมาณ 30 กว่าล้านลูกบาศก์เมตร พื้นที่อื่นๆ อีกเล็กน้อยรวมๆ แล้วประมาณ 200 กว่าล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งยังไม่เพียงพอ ประกอบกับ ภูมิอากาศโลกเปลี่ยนแปลงช่วง 2-3 ปีต่อเนื่องมา ฝนไม่ถูกต้องตามฤดูกาล ส่งผลให้ผืนนาที่สูงที่ดอนซึ่งต้องอาศัยน้ำฝนเกิดความยากลำบาก

และผลพวงปัญหาที่เกิดขึ้นต่อมาคือ “คุณภาพข้าวตกลง” เปิดเผยโดย นายวรฤทธิ์ ตั๋นเต็ม เกษตรอำเภอดอกคำใต้ เนื่องจากสภาพอากาศที่แห้งแล้งทำให้เกิดโรคไหม้ในข้าวสาเหตุเกิดจากเชื้อรา โดยในระยะกล้าใบมีแผลจุดสีน้ำตาลคล้ายรูปตา มีสีเทาอยู่ตรงกลางแผล ความกว้างของแผลประมาณ 2-5 มิลลิเมตร และความยาวประมาณ 10-15 มิลลิเมตร แผลสามารถขยายลุกลามและกระจายทั่วบริเวณใบ ถ้าโรครุนแรงกล้าข้าวจะแห้งฟุบตาย อาการคล้ายถูกไฟไหม้ ระยะแตกกอ อาการพบได้ที่ใบ ข้อต่อของใบ และข้อต่อของลำต้น ขนาดแผลจะใหญ่กว่าที่พบในระยะกล้า แผลลุกลามติดต่อกันได้ที่บริเวณข้อต่อ ใบจะมีลักษณะแผลช้ำสีน้ำตาลดำ และมักหลุดจากกาบใบเสมอ และระยะคอรวง (ออกรวง) ถ้าข้าวเพิ่งจะเริ่มให้รวง เมื่อถูกเชื้อราเข้าทำลาย เมล็ดจะลีบหมด รวงข้าวมีสีซีดขาว แต่ถ้าเป็นโรคตอนรวงข้าวแก่ใกล้เก็บเกี่ยว จะปรากฏรอยแผลช้ำสีน้ำตาลที่บริเวณคอรวง ทำให้เปราะหักง่าย รวงข้าวร่วงหล่นเสียหายมาก

นอกจากนี้ยังมี ข้าวเมล็ดแดง ซึ่งถือเป็นหนึ่งในข้าววัชพืชที่มีลักษณะสีข้าวเปลือกมักมีสีเข้มไปจนถึงลายสีน้ำตาลแดง  เมล็ดข้าวเปลือกส่วนใหญ่ไม่มีหาง  เมล็ดมีทั้งร่วงและไม่ร่วงก่อนเก็บเกี่ยว  แต่สีของเยื่อหุ้มเมล็ดส่วนใหญ่มีสีแดง ซึ่งเมื่อปนไปกับเมล็ดข้าววัชพืชที่มีเยื่อหุ้มเมล็ดสีแดงปะปนไปกับผลผลิตข้าวทำให้ถูกตัดราคา

เกษตรจังหวัดจึงต้องมีการส่งเสริมให้ผลิตเชื้อไตรโคเดอร์มา ซึ่งเป็นเชื้อราชั้นสูงที่ดำรงชีวิตอยู่ในดิน อาศัยเศษซากพืช ซากสัตว์และอินทรียวัตถุเป็นแหล่งอาหาร เจริญได้รวดเร็วบนอาหารเลี้ยงเชื้อราหลายชนิด ซึ่งเชื้อราไตรโคเดอร์จะมาเป็นศัตรู (ปฏิปักษ์) ต่อเชื้อราสาเหตุโรคพืชหลายชนิดรวมถึงข้าว สามารถช่วยละลายแร่ธาตุให้อยู่ในรูปที่เป็นประโยชน์ต่อพืช จึงช่วยส่งเสริมการเจริญเติบโตของพืชและชักนำให้ต้นพืชมีความต้านทานต่อเชื้อโรคพืชทั้งเชื้อราและแบคทีเรีย รวมถึงการผลิตพันธุ์ข้าวใช้เองในพื้นที่ ตลอดจนการสนับสนุนให้ปลูกพืชฤดูแล้ง พืชใช้น้ำน้อย  ในช่วงที่ปริมาณน้ำไม่เพียงพอ

ปลัดอำเภอหัวหน้ากลุ่มงานบริหารงานปกครอง รักษาราชการแทนนายอำเภอดอกคำใต้  กล่าวเสริมว่า ได้เสนอกับทางรัฐบาลในการสร้างอ่างเก็บน้ำตามจุดต่างๆ หรือขุดสระตามหัวไร่ปลายนาเพื่อกักเก็บน้ำ ซึ่งในระยะยาวน่าจะแก้ไขปัญหาได้ เพราะแต่ละพื้นที่ร้อยละ 90 จะประสบปัญหาเรื่องน้ำ ยิ่งช่วง 3-4 ปี หลัง ภูมิอากาศโลกเปลี่ยนฝนไม่ตกตามฤดูกาล

“ ถ้าเป็นแบบนี้ไปนานๆ ชาวนาจะลำบาก แต่ถ้ามีน้ำเพียงพอ ผมเชื่อว่า ลูกหลานที่สำเร็จการศึกษาจะอยู่บ้านประกอบอาชีพเกษตรมากขึ้น จะไม่เดินทางไปประกอบอาชีพอื่น เพราะอาชีพเกษตรปัจจุบันอยู่ได้ ราคาดี ถ้ามีน้ำเพียงพอกับ ความต้องการอย่างน้อยในปริมาณอีกครึ่งหนึ่ง 200 ล้านลูกบาศก์เมตร”

ประเด็นการนำผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ของข้าวแต่ละชนิดมาคำนวณเพื่อใช้สิทธิรับเงินชดเชยตามโครงการประกันรายได้ชดเชยผู้ปลูกข้าว ซึ่งเป็นการอ้างอิงผลผลิตต่อไร่เฉลี่ย 3 ปีย้อนหลัง ตรงนี้ชาวนามองว่าการใช้ปริมาณผลผลิตภาพรวมทั้งประเทศนั้น ไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้อง

เนื่องจากแต่ละพื้นที่คุณภาพดินที่ผลิตข้าวได้ต่างกัน ผลผลิตย่อมต่างกัน อย่างภาคเหนือปริมาณผลผลิตต่อไร่เกิน 360 กิโลกรัมแน่นอน (500 กิโลกรัมต่อไร่) แต่รัฐบาลกำหนดปริมาณข้าวเปลือกหอมมะลิไว้ที่ 360 กิโลกรัมต่อไร่ซึ่งเป็นผลผลิตเฉลี่ยทั้งประเทศ เท่ากับพื้นที่ที่สามารถผลิตข้าวได้เกินกว่านี้จะเสียเปรียบ  เกษตรกรมองว่าไม่เป็นธรรม” จึงเสนอว่า ควรใช้เกณฑ์ปริมาณผลผลิตเฉลี่ยเป็นรายภาค

ความไม่แน่นอนในการรับซื้อข้าว เนื่องจากรถเกี่ยวข้าวที่ชาวนานิยมจ้างมาจากต่างจังหวัดมีจำนวนไม่เพียงพอ ขณะที่ข้าวของชาวนาถึงเวลาเก็บเกี่ยวพร้อมกันจึงรีบทำการเก็บเกี่ยวเพื่อไปขายยังโรงสีพร้อมกัน แต่ปรากฏว่าใช้ระยะเวลาในการรอนาน เนื่องจากมีชาวนาไปขายข้าวจำนวนมาก บางรายไม่ทันตามเวลาโรงสีปิดรับซื้อเสียก่อน ทำให้เสียเวลาต้องขนข้าวเปลือกไปจุดรับซื้ออื่นหรือรอวันถัดไปส่งผลต่อคุณภาพข้าวและเป็นช่องให้ถูกกดราคา ดังนั้นแนวทางที่ต้องการให้แก้ไขคือ ต้องการให้ทางโรงสีรับซื้อแจ้งกับผู้นำหมู่บ้านว่า จะสามารถรับซื้อข้าวในแต่ละวันได้จำนวนเท่าใด ในแต่ละโรงสี

ความไม่แน่นอนของราคาข้าว เช่น ข้าวที่เก็บเกี่ยวจากนาแปลงเดียวกันช่วงเช้าขายได้ราคาหนึ่ง แต่ช่วงบ่ายขายได้อีกราคาหนึ่ง ซึ่งต่ำกว่าช่วงเช้า ทั้งที่ในช่วงบ่ายอากาศร้อนความชื้นจะน้อยกว่าช่วงเช้า แต่กลับได้ราคาต่ำกว่าเดิม และเมื่อรับซื้อแล้วไม่ทำการแยกตามคุณภาพข้าวแต่นำไปกองรวมกันทั้งหมด สวนทางกับการตีราคาข้าวที่แจ้งว่าตีราคาตามคุณภาพและความชื้น

“ความรู้สึกของชาวบ้านที่คุณบอกว่าราคาต่างกัน ทั้งที่ข้าวแปลงเดียวกัน มีสิ่งเจือปนแล้วคุณไปกองที่เดียวกันเหมือนคุณกดราคา ”

ทั้งหมดเป็นเพียงส่วนหนึ่งของปัญหา นอกจากนี้ยังมีปัญเรื่องราคาเช่าพื้นที่ทำนาที่ราคาพุ่งขึ้นไปไร่ละ 1,500-2,000 บาท ซึ่งในพื้นที่ ชาวนา อ.ดอกคำใต้ มีนาเช่า ร้อยละ 30 เป็นหนึ่งในภาระต้นทุน  

นายสมเกียรติ แสงแก้ว ปลัดอำเภอหัวหน้ากลุ่มงานบริหารงานปกครอง รักษาราชการแทนนายอำเภอดอกคำใต้ กล่าวทิ้งท้ายว่า สภาพปัญหาดังที่กล่าวมาก็อยากจะให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ระดมความคิดเห็น กำหนดกฎเกณฑ์กติกาที่ให้ความเป็นธรรม โดยเฉพาะระหว่างกับผู้รับซื้อข้าว กับ ผู้ปลูกข้าว

การประชาสัมพันธ์ข้อมูลสำคัญๆ ตั้งแต่ก่อนถึงฤดูปลูกข้าว ว่าปริมาณสต็อกข้าวมีเท่าไหร่ เพื่อวางแผนการทำนาได้ถูกต้องแม่นยำ ตลอดจนข้อมูลพืชผลทางการเกษตรอื่นๆ ในช่วงฝนทิ้งช่วง เป็นต้น

ถ้า ชาวนาคือกระดูกสันหลังของชาติ คำนี้พูดกันมายาวนาน จนถึงวันนี้ "กระดูกสันหลังของชาติ" ที่กล่าวถึงนี้ได้รับการดูแลให้แข็งแรงอย่างยั่งยืนแล้วหรือยัง

“จักรพล” ซัด รัฐบาล ประกันราคาข้าวช้า ทำชาวนาน้ำตาตก

 

 

TOP เศรษฐกิจ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ