แรงส่ง “เราเที่ยวด้วยกัน” ยังไม่พอให้ภาคท่องเที่ยวฟื้นตัวท่ามกลางโควิด-19 ระลอกใหม่


โดย PPTV Online

เผยแพร่




ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ประเมิน ภาคการท่องเที่ยวไทยที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่จะได้รับผลกระทบเพิ่มเติมที่รุนแรงจากการระบาดระลอกใหม่

ภาคการท่องเที่ยวของไทยช่วงที่ผ่านมามีการทยอยฟื้นตัวจากการท่องเที่ยวของคนไทยด้วยกันเอง แต่ทั้งจำนวนและรายได้ก็ยังคงอยู่ในระดับต่ำกว่าปีก่อนหน้า และเป็นการฟื้นตัวแบบไม่ทั่วถึง ส่วนใหญ่จะมีผลกับจังหวัดที่คนไทยนิยมท่องเที่ยวอยู่แล้ว

อัปเดต สถานการณ์โควิด-19 ล่าสุด 25 ธ.ค. 2563

เลื่อน "เราเที่ยวด้วยกัน" ได้ถึง เม.ย.64

จำนวนนักท่องเที่ยวคนไทยในช่วงเดือนตุลาคม 2563 ยังต่ำกว่าในช่วงเดียวกันปีก่อนหน้าถึง -34.5% ขณะที่รายได้ที่มาจากนักท่องเที่ยวคนไทยก็ต่ำกว่าอยู่ถึง -49.2% สะท้อนให้เห็นว่า นอกจากคนไทยจะเดินทางท่องเที่ยวน้อยลงแล้ว ยังใช้จ่ายต่อคนเฉลี่ยลดลงอีกด้วย ถือเป็นการสะดุดลงของแนวโน้มการขยายตัวของการท่องเที่ยวโดยคนไทยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (ปี 2558-2562)

และถึงแม้ว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาในเดือนตุลาคม ก็ยังถือว่ามีจำนวนน้อยมากเพียง 1,201 คนเท่านั้น หรือคิดเป็นเพียง 0.04% ของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติรวมในเดือนเดียวกันของปีก่อน

“เราเที่ยวด้วยกัน” หนุนแต่ไม่ทั่วถึงทุกจังหวัด

EIC บอกว่า ในภาวะที่ซบเซานี้ การมีปัจจัยสนับสนุนจากมาตรการ “เราเที่ยวด้วยกัน” ถือว่ามีส่วนช่วยภาคการท่องเที่ยวในประเทศ โดย ณ วันที่ 2 ธันวาคม 2563 มีจำนวนผู้ลงทะเบียนเข้าร่วมมาตรการแล้ว 6.4 ล้านคน และมีผู้ใช้สิทธิ์จองที่พัก ชำระเงินแล้วจำนวน 4 ล้านสิทธิ์ จาก 5 ล้านสิทธิ์ คิดเป็นมูลค่าห้องพักที่จอง 10,961 ล้านบาท

แต่การฟื้นตัวของการท่องเที่ยวในประเทศมีลักษณะที่ไม่ทั่วถึง ซึ่งจังหวัดที่มีการฟื้นตัวได้ดีกว่าค่าเฉลี่ยมักเป็นจังหวัดยอดนิยมของคนไทยอยู่แล้ว

โดยจังหวัดยอดนิยม (ประเมินจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือนชาวไทยสะสมในช่วง ก.ค.-ต.ค. 62 เทียบกับปีก่อน) เช่น เชียงใหม่ หดตัวเพียง -11.4%  เช่นเดียวกันกับ ประจวบคีรีขันธ์ -11.4%  ชลบุรี -12.4% กาญจนบุรี -14.0% และเพชรบุรี -16.6%  

ส่วนจังหวัดในภาคใต้ที่เคยได้รับ ความนิยมจากนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ (ประเมินจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือนชาวต่างชาติสะสมในช่วง ก.ค.-ต.ค. 62) ฟื้นตัวได้ช้ากว่า เช่น ภูเก็ต ที่มีจำนวนผู้เยี่ยมเยือนชาวไทยรวมในช่วงเดือนกรกฎาคม-ตุลาคมลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนถึง -51.3% เช่นเดียวกันกับ สุราษฎร์ธานี -42.9%  และกระบี่ -63.0%  

คนไทยไปเที่ยวจังหวัดเหล่านี้ลดลงมากกว่าอาจมาจากหลายปัจจัยประกอบกัน ทั้งค่าใช้จ่ายในการเที่ยวที่สูงกว่า ซึ่งสะท้อนการเปลี่ยนพฤติกรรมของคนไทยตามสภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซา

อย่างไรก็ตาม การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ จ.สมุทรสาคร มีแนวโน้มกลับมาส่งผลต่อการท่องเที่ยวอย่างรุนแรง สำหรับเหตุการณ์ซึ่งอาจมีความรุนแรงและส่งผลกระทบต่อจังหวัดใกล้เคียงมากกว่ากรณีของระยอง (ทหารอียิปต์) และ เชียงราย (ผับวันจีวัน) โดยอาจส่งผลต่อภาคการผลิตอื่น ๆ นอกจากภาคการท่องเที่ยว เช่น ภาคการผลิตอาหาร ภาคการก่อสร้าง และการค้าชายแดน ดังนั้น การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่นี้จึงมีความรุนแรงมากกว่า 2 เหตุการณ์ที่ผ่านมา

นอกจากนั้นแล้วยังส่งผลให้คนไทยมีแนวโน้มเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการท่องเที่ยวช่วงส่งท้ายปี โดย ผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนจำนวน 1,277 คนทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 4-10 ธันวาคม 2563 เรื่อง “คนไทยกับการท่องเที่ยวส่งท้าย ปี 2563” โดยมหาวิทยาลัยสวนดุสิต พบว่า พฤติกรรมการท่องเที่ยวของคนไทยที่เปลี่ยนแปลงมากที่สุด ได้แก่ การท่องเที่ยวอย่างระมัดระวัง ไม่ไปเที่ยวในที่คนพลุกพล่าน เลือกสถานที่ท่องเที่ยวมากขึ้น การท่องเที่ยวในสถานที่ใกล้บ้าน และเที่ยวแบบไปเช้า-เย็นกลับมากขึ้น

รวมถึงจะกระทบกับการวางแผนการท่องเที่ยวในช่วงปีใหม่ของคนไทยมากที่สุด โดยตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือ เหตุการณ์ความกังวลต่อการแพร่ระบาดในเชียงรายที่ยังอาจมีผลกระทบต่อเนื่องไปถึงการตัดสินใจไปเที่ยวในช่วงโค้งสุดท้ายของปีและความเชื่อมั่นของประชาชนต่อการควบคุมโรคของภาครัฐเริ่มลดลง รวมถึงการที่ห้างสรรพสินค้าและภาคเอกชนในจังหวัดที่มีการแพร่ระบาดเริ่มประกาศงดกิจกรรมต่าง ๆ ช่วงปลายปี

ทั้งหมดลล้วนส่งผลให้ประชาชนบางส่วนตัดสินใจเลื่อนทริปท่องเที่ยวช่วงปลายปีจากความกังวลต่อการแพร่ระบาดในสถานที่ต่างๆ และการขาดความมั่นใจในการเดินทางด้วยเครื่องบินและการขนส่งสาธารณะ

คาดนักท่องเที่ยว ปี 64  อยู่ที่ราว 8.5 ล้านคน

ในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 ขณะที่ไทยน่าจะมีการเริ่มฉีดในช่วงกลางปีหน้า และจะเข้าสู่ภาวะคุ้มกันหมู่ ได้ภายในครึ่งแรกของปี 2565 โดยประเด็นการได้รับวัคซีนนี้จะมีผลต่อการเดินทางเข้ามายังไทยของนักท่องเที่ยวต่างชาติและการตัดสินใจเปิดประเทศของบ้านเราด้วยเช่นกัน ทุกภาคส่วนจึงควรยังต้องมีความระมัดระวังในระดับสูงเพื่อให้ภาคการท่องเที่ยวสามารถฟื้นตัวได้ตามที่คาด

EIC คาดการณ์ว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2564  จะอยู่ที่ราว 8.5 ล้านคน โดยส่วนใหญ่จะเริ่มทยอยเดินทางเข้ามาในช่วงครึ่งปีหลัง

 

TOP เศรษฐกิจ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ