สปส.พร้อมจ่ายเงิน "ว่างงาน" โควิด-19 รอบใหม่


โดย PPTV Online

เผยแพร่




กระทรวงแรงงาน ปรับขั้นตอนการอนุมัติเงินเยียวยาผู้ประกันตน รู้ผลภายใน 5 วัน ย้ำพร้อมชดเชยลูกจ้างที่ถูกภาครัฐสั่งปิดกิจการชั่วคราวจากการระบาดของโควิด-19 รอบใหม่ สูงสุดคนละ 7,500 บาทต่อเดือน ล่าสุดพบ มีสถานประกอบการที่หยุดกิจการราว 6,098 แห่ง ใน 28 จังหวัด คิดเป็นลูกจ้างจำนวน 103,800 คน เป็นงบประมาณกว่า 2,321 ล้านบาท

สปส.พร้อมจ่ายลูกจ้าง ธุรกิจที่ถูกรัฐสั่งปิดจากโควิด-19

ไขทุกข้อข้องใจ คุณสมบัติ 'ผู้ประกันตนตามมาตรา 33' ได้เงิน 15,000 เยียวยาโควิด

ตามที่ภาครัฐประกาศสั่งปิดกิจการชั่วคราว เนื่องจากการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ที่เกิดขึ้นในขณะนี้  นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ย้ำว่า สำหรับผู้ที่อยู่ในระบบประกันสังคมมาตรา 33  จะได้รับเงินชดเชยอยู่ที่ 50% ของค่าตอบแทนสูงสุด 15,000 บาท หรือ ไม่เกิน 7,500 บาท เป็นระยะเวลาไม่เกิน 90 วัน หรือ 3 เดือน  มาตรการนี้ครอบคลุมทั้งประเทศ ซึ่งได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการบริหาร (บอร์ด) สปส.แล้ว และนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นที่เรียบร้อยแล้วเช่นกัน

ตามที่ผู้ประกันตนได้ร้องเรียนถึงความล่าช้า ในการจ่ายเงินเยียวยาการว่างงาน ดังนั้นการระบาดระลอกใหม่ของโควิด-19 ครั้งนี้  จึงได้กำหนดให้ ลูกจ้าง กรอกแบบฟอร์มจากเว็ปไซต์ www.sso.go.th  และนำไปยื่นให้นายจ้างดำเนินการ ต่อด้วยการประทับตรายืนยันการเป็นลูกจ้าง จากนั้นให้นายจ้างลงข้อมูลทั้งหมดในระบบออนไลน์ ตามที่กระทรวงแรงงานกำหนดไว้ เชื่อมั่นว่าจะได้รับอนุมัติเงินเยียวยาจากการว่างงานภายใน 5 วันทำการ ซึ่งผู้ถูกสั่งหยุดงานสามารถส่งคำขอได้ตั้งแต่วันนี้ ( 4 มกราคม 2564) เป็นต้นไป

ขณะนี้ กระทรวงแรงงาน ได้เก็บข้อมูลอ้างอิงจาก คำสั่งคณะกรรมการควบคุมโรค พบว่ามีสถานประกอบการที่ถูกขอความร่วมมือให้หยุดกิจการราว 6,098 แห่ง ใน 28 จังหวัด คิดเป็นลูกจ้างจำนวน 103,800 คน เป็นงบประมาณราว 2,321 ล้านบาท  ทั้งนี้ ยืนยันว่ากองทุนว่างงานของสำนักงานประกันสังคม ยังมีสถานะค่อนข้างมั่นคงอยู่ที่ 110,000 ล้านบาท ซึ่งครั้งที่แล้วจ่ายเยียวยา 9.4 แสนคน ใช้เงินไป 15,000 ล้านบาท

นอกจากนี้  มาตรการช่วยเหลือแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 สำนักงานประกันสังคม ยังได้ปรับลดเงินสมทบฝ่ายนายจ้างและฝ่ายผู้ประกันตน ที่จะทำให้ทั้ง 2 ฝ่าย จ่ายเงินน้อยลง โดย มาตรา 33 ลดเหลือ 3% จากเดิม 5% หรือคิดเป็นจากเดิม 750 เหลือ 450 บาทต่อเดือน  ส่วนมาตรา 39 ลดลงเหลือ 278 บาท จากเดิม 432 บาทต่อเดือน  เริ่มตั้งแต่เดือนมกราคม ถึงมีนาคม 2564 เพื่อช่วยเหลือทั้งผู้ประกอบการและลูกจ้าง โดยถือเป็นการลดการจ่ายเงินสมทบรวมกว่า 15,660 ล้านบาท

 

TOP เศรษฐกิจ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ