วันนี้ 6 ม.ค. 2564 ในการประชุม คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ได้มีการประเมินว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยหยุดชะงัก โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว และยังส่งผลลบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและนักลงทุน จึงคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยปี 2564 จะขยายตัวได้ในกรอบ 1.5% ถึง 3.5% หากควบคุมการแพร่ระบาดได้ภายในระยะเวลา 3 เดือน ลดลงจากประมาณการเดิมที่คาดว่าขยายตัวได้ 2% ถึง 4 %
ส.อ.ท.เสนอเพิ่มเงินคนละครึ่งเป็น 5,000 บาท
นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) บอกว่า ที่ประชุม กกร.ยังขอให้ภาครัฐเร่งดำเนินการเรื่องงบประมาณช่วยเหลือ 2 แสนล้านบาท โดยให้กำหนดวิธีการให้ชัดเจนปฏิบัติได้เร็วและให้ส่งผลได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น การปรับวงเงินมาตรการ คนละครึ่งจาก 3,500 บาทต่อคน เพิ่มเป็น 5,000 บาทต่อคน และขยายเวลาออกไปอีก 3 เดือน รวมถึง มาตรลดภาระค่าใช้จ่าย เช่น ลดค่าไฟ 5% รวมถึงการใช้เครื่องมือทางการเงินอื่นๆ
และขอให้ภาครัฐควรเร่งหามาตรการควบคุมโรคระบาดและช่วยเหลือผู้ประกอบการและแรงงานที่ได้รับผลกระทบ รวมถึงเร่งจับผู้กระทำผิด ทั้งในส่วนบ่อนการพนัน และกลุ่มการนำเข้าแรงงานต่างด้าวอย่างผิดกฎหมาย
โควิด-19 ระลอกใหม่ ไทยจำเป็นต้องกู้เงินเยียวยา? กู้ไปแล้วเท่าไหร่ และใช้ทำอะไรบ้าง
ด้านนายเดชรัต สุขกำเนิด นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ เปิดเผยกับทีมข่าว พีพีทีซี ระบุว่า รัฐบาลควรมีมาตรการเยียวยารองรับความเดือดร้อนให้กับคนตกงาน หรือ Safety Net เพื่อป้องกันในเบื้องต้น ไม่ให้เกิดปัญหาปากท้องอย่างรุนแรงก่อน จึงเสนอให้เยียวยาแบบถ้วนหน้า จำนวน 3,000 บาท เป็นระยะเวลา 2 เดือน ซึ่งลดลงจากรอบแรกที่จ่ายให้ 5,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน เนื่องจากผลกระทบยังอยู่ในวงจำกัด และมีมาตรการดูแลด้านสาธารณสุขอยู่แล้ว ซึ่งทุกอย่างต้องทำให้จบเร็วที่สุด
จากนั้นรัฐบาลควรออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเฉพาะพื้นที่ เช่น มาตรการการจ้างงานในพื้นที่สมุทรสาคร มาตรการท่องเที่ยวในระยองเป็นต้น และในขั้นสุดท้ายให้ดูแลกลุ่มที่ตกงานสะสมแล้วไม่สามารถกลับมาทำงานได้ ซึ่งคาดว่าจะอยู่ในระบบราว 1-2 ล้านคน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาระยะยาว
ทั้งนี้ ยังย้ำว่า มาตรการคนละครึ่ง รัฐบาล ยังควรต่อไปในเฟส 3-4 ให้ระยะเวลาครอบคลุมไปถึงครึ่งปี ด้วยภาวะเศรษฐกิจที่ยังต้องพึ่งพาการบริโภคภายในประเทศ
สำหรับงบประมาณที่จะนำมาใช้เยียวยานั้น นายเดชรัตน์ มองว่า รัฐบาลยังมีเงินเหลือจาก พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท อยู่ประมาณ 6 แสนล้านบาท ดังนั้น ความสามารถการออกมาตรการจึงถือว่ายังมีอยู่ แต่สิ่งที่น่ากังวลคือเงินสำรองในกระเป๋าประชาชนที่มีเฉลี่ยได้ 3 เดือน แต่ส่วนใหญ่ก็หมดไปกับผลกระทบของโควิดในรอบแรกแล้ว
ด้าน นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า หรือ สนค. กระทรวงพาณิชย์ เตรียมเสนอผ่านรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เพื่อเสนอให้กระทรวงการคลัง เพิ่มบริการเดลิเวอรี ให้สามารถใช้สิทธิ "คนละครึ่ง" ได้ เพื่อสอดรับกับพฤติกรรมของผู้บริโภคในช่วงโควิดระบาด
มีรายงานข่าวว่า ขณะนี้ กระทรวงการคลัง อยู่ระหว่างการพิจารณาโครงการคนละครึ่ง เพื่อปรับเปลี่ยนรูปแบบให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยจะมีการพิจารณาขยายฐานผู้ที่เข้าร่วมโครงการ หรือขยายระยะเวลาการเข้าร่วมโครงการออกไปอีก ส่วนรายละเอียดต่างๆ จะแจ้งในเร็วๆ นี้ หลังมีข้อมูลรายละเอียดจำนวนผู้เดือดร้อน และได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ในพื้นที่การระบาดตามระดับสีแดง ส้ม เหลือง ที่มีความรุนแรง ที่แตกต่างกัน
36ข่าวแห่งปี : สารพัดมาตรการเยียวยาฝ่า โควิด-19
TDRI หนุน มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ 6.8 หมื่นล้าน