แม่ค้า - วินจยย. โอด “เราชนะ” เยียวยา 3,500 บาท ไม่พอค่าใช้จ่าย ย้ำขอเท่ารอบแรก


โดย PPTV Online

เผยแพร่




มาตรการเยียวยาผลกระทบโควิดรอบใหม่ แจกเงิน 3,500 บาท เป็นระยะเวลา 2 เดือน ในโครงการ “เราชนะ” บรรดาแม่ค้า รถจักรยานยนต์รับจ้าง มองว่ารัฐบาลควรเพิ่มเงินเยียวยา เหตุผลกระทบหนักไม่เพียงพอค่าใช้จ่าย เสนอควรให้เท่ากับรอบแรก 5,000 บาท เวลา 3 เดือน ขณะที่ TDRI เสนอเพิ่มการจ่าย “เราชนะ” 3,500 บาท เป็น 3 เดือน

เปิดรายละเอียด อีก 8 มาตรการ ครม.อนุมัติ ลด แจก แถม เยียวยาโควิดรอบ 2 นอกจาก "เราชนะ" ให้เงิน 7,000...

เช็กเงื่อนไข "เราชนะ" เยียวยาโควิดรอบ2 แจก 3,500 บาท 2 เดือน ใครได้แน่ ใครถูกตัดสิทธิ ใครบ้างต้องลงท...

เมื่อวันที่ 14 ม.ค. 2563 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การจ่ายเงินเยียวยาผลกระทบโควิดรอบใหม่ในโครงการ “เราชนะ”  คนละ 3,500 บาทต่อเดือน เป็นเวลา 2 เดือน  ตั้งแต่กุมภาพันธ์ถึงมีนาคม โดยกลุ่มที่จะไม่ได้รับเงินช่วยเหลือ เบื้องต้นจะเป็นกลุ่มข้าราชการ พนักงานและลูกจ้างรัฐวิสาหกิจ 3 ล้านคน กลุ่มที่อยู่ในฐานระบบกองทุนประกันสังคม ตามมาตรา 33 อีก 11 ล้านคน รวมทั้งผู้ที่มีรายได้สูง ขณะที่ กลุ่มแรงงานนอกระบบ อาชีพอิสระ เกษตรกร ซึ่งรวมถึง มัคคุเทศก์ คนขับแท็กซี่ คนขายล็อตเตอรี หรือ ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ยังได้สิทธิ์ตามเดิม

ล่าสุดทีมข่าว PPTV ได้ลงสำรวจความคิดเห็นของประชาชนกลุ่มอาชีพอิสระ ที่ได้เข้าเกณฑ์มาตราการผู้ได้รับเงินเยียวยาดังกล่าว นางสมหมาย พันชนะ แม่ค้าขายก๋วยเตี๋ยว เปิดเผยว่า ก่อนเกิดโควิด ตนเคยขายก๋วยเตี๋ยวได้ 3,000-4,000 ต่อวัน แต่ตอนนี้เหลือแค่ 1,500 บาทต่อวัน หรือ เท่าทุน และยังต้องขายดึกกว่าเดิม ทำให้เราต้องลงทะเบียนรับเงินเยียวยา เพราะความเดือดร้อนเรื่องภาระค่าใช้จ่าย ที่หาเงินมาหมุนไม่ทัน แม้ครั้งนี้รัฐบาลจะมีเงินเยียวยาให้รอบ 2 อีก 7,000 บาท แต่ส่วนตัวคิดว่าไม่เพียงพอ และควรจะให้เท่าเดิมเหมือนรอบแรก

ด้านนายเนตร คำมา ผู้ประกอบการอาชีพมอเตอร์ไซค์วิน ได้ให้ความเห็นว่า ผลกระทบของโควิด ทำให้ตนขาดรายได้ไปเป็นจำนวนมาก จากที่เคยวิ่งรถตั้งแต่ตี 5-4 โมงเย็น ได้ถึง 700-800 บาทต่อวันตอนนี้เหลือ วันละ 200-300 บาท แม้ตนจะเคยได้รับเงินเยียวยา รอบแรก 5,000 บาท 3 เดือนมาแล้ว แต่ก็ไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่าย จึงคิดว่าหากครั้งนี้รัฐบาลมีเงินเยียวยาให้อีก 7,000 บาท คิดว่าน้อยไป ไม่พอกับภาระค่างวดรถ ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ภายในชีวิตที่ตนต้องรับผิดชอบ เนื่องจากเป็นหัวหน้าครอบครัว

อย่างไรก็ตามกลุ่มอาชีพอิสระ รับจ้าง ส่วนใหญ่ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า การลงทะเบียนรับเงินเยียวยาเป็นสิ่งที่ยุ่งยาก ต้องแย่งกันลงทะเบียน พบปัญหาของอินเตอร์เน็ต เว็บไซต์ล่ม และโดยเฉพาะคนที่ใช้โซเชียลมีเดียไม่เป็น ทำให้คนที่มีเกณฑ์ได้รับเงินต้องเสียสิทธิ์โดยเปล่าประโยชน์

 

นายนณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโสสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ กล่าวถึง   มาตรการเยียวยา “เราชนะ” ที่รัฐบาลเตรียมแจกเงินให้เปล่ากลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากโควิดรอบใหม่  เป็นจำนวนเงิน 3,500 บาท เป็นเวลา 2 เดือน ถือว่าเป็นนโยบายช่วยเหลือระยะสั้นที่ดี แต่มองว่า ผู้ที่ได้รับสิทธิ์ได้เงินในจำนวนที่น้อยเกินไปเมื่อเทียบรายได้ขั้นต่ำ และควรเพิ่มระยะเวลาการจ่ายเงินให้เปล่า เป็นอย่างน้อยเป็น 3 เดือน ให้สอดคล้องกับผลกระทบของการระบาดโควิดรอบใหม่

ทั้งนี้ ยอมรับว่า ยังมีคนบางกลุ่มที่ตกหล่นเรื่องการได้รับความช่วยเหลือ อย่างที่ผ่านมา สำนักงานประกันสังคม มีมาตรการออกมาเยียวยา ลูกจ้างในระบบประกันสังคมที่ขาดรายได้ แต่ก็ยังมีผู้ประกอบการบางประเภทเงื่อนไขไม่เข้าเกณฑ์ เพราะคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดไม่ได้ประกาศปิดธุรกิจ  จึงอยากให้รัฐบาลให้ความช่วยเหลือเฉพาะกลุ่มแก่ธุรกิจท่องเที่ยวหรือประเภทธุรกิจที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะในจังหวัดพื้นที่ควบคุมสูงสุดที่มีนโยบายงดการเดินทาง เช่น การช่วยจ่ายเงินเดือนพนักงานตามระยะเวลาที่เหมาะสม โดยเน้นย้ำต้องช่วยแก่ธุรกิจที่มีการเสียภาษีอย่างถูกต้องเท่านั้น

TOP เศรษฐกิจ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ