ปรับแล้ว!เราชนะ ไม่ต้องมีสมาร์ทโฟนลงทะเบียน ใช้จ่ายได้ ให้สิทธิจ่าย 'ค่าเช่า'ได้ด้วย


โดย PPTV Online

เผยแพร่




"สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี" เผยรัฐบาลปรับการให้ลงทะเบียนรับสิทธิเราชนะ เปิดช่องทางธนาคาร แจงเหตุไม่ให้เงินสด เผยใช้จ่ายค่าเช่าบ้านได้ด้วย

ภายหลังรัฐบาลสรุปหลักเกณฑ์การใช้สิทธิโครงการเราชนะ โครงการช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์โควิด-19 รอบใหม่ โดยให้สิทธิกลุ่มเป้าหมาย 3 กลุ่ม คนละประมาณ 7,000 บาท กำหนดการให้สิทธิเป็นงวดๆ ตามกลุ่มเป้าหมาย โดยกลุ่มที่จะลงทะเบียนรับสิทธิ ต้องใช้จ่ายผ่านแอปพลิเคชัน ในกิจการ ร้านค้าที่ลงทะเบียนเราชนะ คนละครึ่ง หรือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเท่านั้น ไม่ได้รับเป็นเงินสด ทำให้เกิดเสียงวิจารณ์ว่าประชาชนทุกคนไม่ได้มีโทรศัพท์มือถือแบบสมาร์ทโฟน ทำให้เสียสิทธิ และตั้งคำถามว่าเป็นนโยบายที่ไม่เป็นการเยียวยาที่แท้จริง

"เราชนะ" ไม่ให้เงินสด โอนเข้า แอปฯ เป๋าตัง รายสัปดาห์ และผู้ที่ได้รับสิทธิไม่ใช่ทุกคนจะได้ 7,000 บา...

ประชาชนอยากได้เยียวยา “เราชนะ” เป็นเงินสด เพื่อใช้จ่ายสิ่งจำเป็น

"เราชนะ" ใช้จ่ายที่ไหนได้บ้าง "แท็กซี่ ตุ๊กตุ๊ก วินฯ" ได้ "หวย เหล้า บุหรี่" ห้าม ดีเดย์ 29 ม.ค.ให้ร...

ล่าสุดวันนี้ (21 มกราคม) นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน โพสต์เฟซบุ๊กว่า

แม้ไม่มีสมาร์ทโฟนก็สามารถใช้ “เราชนะ” ได้

มีคนเป็นห่วงว่าประชาชนที่ไม่มีสมาร์ทโฟน จะไม่สามารถลงทะเบียนเพื่อรับสิทธิในโครงการเราชนะ

ตอนที่เราทำแผนกันทีมงานคิดละเอียดทุกเรื่องเพื่อไม่ให้คนที่ควรจะได้รับการช่วยเหลือตกหล่นไป เราได้วางรูปแบบไว้แล้วว่าแม้จะไม่มีสมาร์ทโฟนก็สามารถใช้ “เราชนะ” ได้

ทั้งนี้เราดูจากผลสำรวจเรื่องการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในครัวเรือน พ.ศ. 2562 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ชี้ว่าประเทศไทยมีผู้ใช้โทรศัพท์มือถือ 56.7 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 89.6 ของประชากรที่มีอายุ 6 ปีขึ้นไป และผู้ใช้โทรศัพท์มือถือแบบสมาร์ทโฟน เข้าถึงอินเทอร์เน็ตค่อนข้างสูงคือร้อยละ 96.4

สำหรับประเด็นนี้กลุ่มที่ไม่มีสมาร์ทโฟนส่วนใหญ่จะอยู่ในกลุ่มผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 13.8 ล้านคน ซึ่งไม่ต้องลงทะเบียนเราชนะ แต่จะได้รับเงินโอนเข้าบัตรโดยตรง

คนที่อาจไม่มีบัตรสวัสดิการและไม่มีสมาร์ทโฟน เราก็ได้ประสานงานกับธนาคารของรัฐที่มีสาขาครอบคลุมทั่วประเทศให้ช่วยอำนวยความสะดวกให้คนกลุ่มนี้ลงทะเบียนได้ ซึ่งได้รับการยืนยันมาแล้วว่าทำได้

ทั้งนี้ก็เพราะเราได้วางรูปแบบให้มีเวลาลงทะเบียน 15 วัน ตั้งแต่วันที่ 29 มกราคม - 12 กุมภาพันธ์ ดังนั้นคนที่มีสิทธิตามเงื่อนไขโครงการ เช่น ไม่เป็นข้าราชการ ไม่เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ของพ.ร.บ.ประกันสังคม มีรายได้พึงประเมินไม่เกิน 3 แสนบาท ฯลฯ จะมีเวลาพอที่จะไปรับความช่วยเหลือในการลงทะเบียน

มีคำถามอีกว่าทำไมไม่จ่ายเงินเข้าบัญชี แล้วให้ถอนเป็นเงินสดได้จะได้ใช้จ่ายเงินได้ตามใจชอบ

เรื่องแรกเลยคือเรากำลังอยู่ในช่วงสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 การสัมผัสธนบัตรจึงเป็นเหตุที่อาจทำให้ติดเชื้อโควิด-19 ได้

ไม่เพียงเท่านั้น เรายังคิดถึงเรื่องการลดความแออัดของประชาชนจำนวนมากที่จะไปต่อคิวกดเงินสดออกจากตู้ ATM ทั้งหมดนี้ก็เพื่อสนับสนุนมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของกระทรวงสาธารณสุข

นอกจากนี้ เหตุผลสำคัญอีกประการก็คือ ความต้องการที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจรากหญ้า และให้เงินหมุนเวียนอยู่ในชุมชนเพราะร้านค้าที่รับซื้อหรือรับบริการจะเป็นร้านเล็กๆ เรามีเป้าหมายที่จะช่วยเหลือคนตัวเล็ก และให้เงินหมุนหลายรอบในระบบเพื่อช่วยเหลือการใช้เงินในชีวิตประจำวันของคนตัวเล็กให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด

และครั้งนี้จะเปิดกว้างให้เป็นบริการทั่วไปได้ซึ่งรวมถึงมอเตอร์ไซค์รับจ้าง แท็กซี่ และอื่นๆ อีกมาก คนที่จะจ่ายค่าเช่าบ้านก็สามารถให้ผู้รับเงินเปิดแอปถุงเงิน เพื่อให้เราใช้เงินในแอปเป๋าตังจ่ายได้ หรือแม้แต่นำเงินสดที่ประหยัดได้จากการใช้วงเงินเราชนะ ที่นำไปใช้จ่ายในส่วนนั้นได้

สิ่งที่เป็นประโยชน์มากอีกอย่างก็คือ การสร้างสังคมไร้เงินสดซึ่งโครงการคนละครึ่งเริ่มต้นไว้ แล้ว “เราชนะ” ก็มาทำให้ต่อเนื่อง เพื่อให้ประเทศสามารถเดินหน้าสู่ระบบเศรษฐกิจดิจิทัลซึ่งอนาคตเราหนีเรื่องนี้ไม่พ้น

อย่างไรก็ดี ผมขอขอบคุณสำหรับคำถาม ข้อสงสัยต่างๆ ทำให้เรามองเห็นเรื่องที่อาจเป็นปัญหา หรือที่เราอาจมองข้ามไป เราจะได้นำมาปรับปรุงแก้ไข เพื่อที่ประเทศไทยจะเดินต่อได้ วันนี้พวกเราต้องร่วมมือกันครับ

#ประเทศไทยต้องไปต่อ #ขับเคลื่อนไปด้วยกัน"

อย่างไรก็ตามโครงการเราชนะ รัฐบาลประกาศเปิดให้ลงทะเบียนผ่าน www.เราชนะ.com ในวันที่ 29 ม.ค.64 

ไฟเขียว "เราชนะ" เยียวยาพิษโควิด 31 ล้านคน คนละ 3,500 บาท 2 เดือน

คลังอัปเดต แจงยิบ 7 คุณสมบัติได้สิทธิ "เราชนะ" สรุป 3 กลุ่มรับ 7 พัน นายกฯสั่งเยียวยา 'ขรก.-รัฐวิสาห...

TOP เศรษฐกิจ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ