ปี 63 - ต้นปี 64 พิษโควิด ฉุดท่องเที่ยวไทยฟุบ รายได้หด 82% สายการบิน โรงแรม อ่วม 2 ล้านคนตกงาน


โดย PPTV Online

เผยแพร่




พีพีทีวีรวบรวมสถิติข้อมูลในธรุกิจภาคท่องเที่ยว ในห้วง 1 ปี ที่ต้องเผชิญวิกฤตโควิด -19 ทั้งภาพท่องเที่ยว สายการบิน โรงแรม กระทบต่อแรงงานในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว

จากวิกฤตโควิด-19 ถึงวันนี้ ครบ 1 ปีแล้ว ตลอดปี 2563 จนถึงปีนี้ 2564 โควิด-19 สร้างความเสียหายของวงการท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก  

บทเรียนท่องเที่ยวไทย จากพิษโควิด-19

ต้นปี 64 จ่อเปิดประเทศเฟส 3 ไม่ต้องกักตัว

ปี 2562 สถานการณ์ท่องเที่ยวไทยก่อนโควิด ประเทศไทย มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาเที่ยวบ้านเราเกือบ 40 ล้านคน สร้างรายได้เกือบ 2 ล้านล้านบาท

ข้อมูลในปี 2562 คนไทยเดินทางท่องเที่ยวในประเทศมากถึง 172  ล้านครั้งต่อปี รายได้ 1.08 ล้านล้านบาท รายได้รวมทั้งหมด อยู่ที่ 3.01 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นรายได้ 2 ใน 3 มาจากตลาดต่างประเทศ

รายได้จากการท่องเที่ยวไทย คิดเป็น 20% ของจีดีพีไทย

จากการระบาดของโควิด-19 ที่เริ่มส่งผลกระทบหนัก ตั้งแต่มีนาคม 2563 ส่งผลให้ตลอดปี2563 นักท่องเที่ยวต่างชาติเหลือเพียง 6.7 ล้านคน หรือลดลงราว 83% รายได้ลดเหลือ 332,013 ล้านบาท  หรือลดลงถึง 82 %  

ส่วนคนไทยเที่ยวไทย รวมอยู่ที่ 100 ล้านคนครั้ง เป็นรายได้ 500,000 ล้านบาท ลดลงถึงครึ่งหนึ่ง

รายได้จากการท่องเที่ยวของปี 2563 รวมอยู่ที่  750,000-800,000 ล้านบาท

ส่วนการคาดการณ์ ปีนี้ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ตั้งเป้าต่างชาติเข้ามาไทย ได้ตั้งแต่ไตรมาส 3 หรือ เดือนกรกฎาคม เป็นต้นไป รวมจำนวนที่ 6.5 ล้านคน สร้างรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติรวม 500,000 ล้านบาท

ส่วนไทยเที่ยวไทย ตั้งเป้า 160 ล้านคนครั้ง รายได้รวม 700,000 ล้านบาท เพื่อให้เป้าหมายปีนี้ รายได้รวม 1.218 ล้านล้านบาท  หรือราว 1ใน3ของรายได้เดิม จากก่อนโควิดที่อยู่ที่ 3 ล้านล้านบาท

  • อีกหนึ่งในธุรกิจที่หนีไม่พ้นวิกฤตนี้ก็คืออุตสาหกรรมการบินและโรงแรม  

ข้อมูลจาก บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด เผยว่า จำนวนผู้โดยสารและปริมาณเที่ยวบินทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศลดลงตลอดปีที่แล้ว รวม 464,944 เที่ยวบิน ลดลงจากปี 2562 เกือบครึ่งหนึ่ง

ตัวเลขการเที่ยวบินที่ลดลง ส่งผลกระทบทันทีต่อธุรกิจสายการบิน ทำให้สายการบิน “นกสกู๊ต“ ต้องปิดตัวลง พนักงาน 425 คน ถูกเลิกจ้างทันที และอีก 7 สายการบินเอกชน ทยอยลดขนาดขององค์กร ด้วยมาตรการต่างๆ เพื่อลดค่าใช้จ่าย

และที่สาหัสที่สุดก็ “สายการบินแห่งชาติ” อย่าง การบินไทย ที่มีหนี้สินสะสม และได้รับผลกระทบจากโควิด-19 มาซ้ำอีก จนต้องเข้าแผนฟื้นฟูตามกระบวนการ 

สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ  คาดว่า ผลกระทบจากโรค COVID-19 จะยังส่งผลกระทบไปอีก 2-3 ปีจากนี้ 

  • โรงแรมทยอยปิด – ขายต่อ

ธุรกิจโรงแรมก็เป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่ปั่นป่วนไม่น้อย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผย ผลวิจัยธุรกิจโรงแรมและที่พัก ในปี 2564 คาดว่าโรงแรมและที่พักจดทะเบียนในพื้นที่ 20 จังหวัดมีความเสี่ยงต้องปิดกิจการถึง 20% หรือประมาณ 3,700 แห่ง จากทั้งหมด 1.84 หมื่นแห่ง

สอดคล้องกับ สมาคมโรงแรมไทย ที่ประเมินไว้ว่า ปี 2563 จะมีโรงแรม ที่พักปิดกิจการถาวร โรงแรมหลายแห่งประกาศขายกิจการตั้งแต่ราคาหลัก100ล้าน-6,000 ล้านบาท

เช่นเดียวกับ ข้อมูลจาก บริษัท คอลลิเออร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด  เปิดเผยว่า โรงแรมต่างๆ ในจังหวัดท่องเที่ยวชื่อดังมากกว่า 20 แห่งต้องประกาศขายกิจการ เช่น โรงแรม โกลด์เด้นท์ ทิวลิปโซเวอร์เรนท์ , โรงแรม แกรนด์สุขุมวิท , โรงแรม มณเฑียร ริเวอร์ไซด์ และ โรงแรม มิลเลนเนียม ฮิลตัน เป็นต้น

  • แรงงานท่องเที่ยว ตกงาน แตะ2ล้านคน

ธุรกิจที่ได้รับความเสียหาย และแน่นอนว่า ฟั่นเฟืองที่ขับเคลื่อนอย่าง กลุ่มแรงงานต้องดิ้นหนีตายกันเป็นหลักล้านคน

โดยสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ประเมินว่า แรงงานในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ตกงานในปีที่แล้วมากถึง 1.04 ล้านคน  และยังเสี่ยงจะตกงานสูงสุดถึง 2 ล้าน  เรียกว่าครึ่งหนึ่งของแรงงานที่อยู่ในอุตสาหกรรมนี้ สิ่งที่แรงงานในภาคนี้ต้องรับสภาพนอกจากการเลิกจ้างก็ยังมี การลดเงินเดือน , ลาไม่รับเงินเดือน  

ติดตามทางออกวิกฤตอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย ในรายการ พีพีทีวีสัญจร ครั้งที่ 1 หัวข้อ “ท่องเที่ยวไทยหลังฉีดวัคซีน ฟื้นหรือฟุบยาว” ฟังแนวคิดจาก นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย นายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ นายกสมาคมสายการบินประเทศไทย และนางศุภจี สุธรรมพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) ได้ที่เพจเฟซบุ๊ก PPTVHD36 หรือสามารถชมเทปรีรันได้วันนี้ (22 มี.ค. 64) ในเวลา 23.00 น.ทาง PPTV HD ช่อง 36 

TOP เศรษฐกิจ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ