รู้จัก CBDC "เงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง" ธปท.ทดลองใช้ ไตรมาส 2/65


โดย PPTV Online

เผยแพร่




ธปท. คาดว่าจะเริ่มทดสอบการใช้สกุลเงินดิจิทัล หรือ CBDC ที่ออกโดยธนาคารกลางในภาคประชาชน ช่วงไตรมาส 2/65

นางสาววชิรา อารมย์ดี ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยแนวทางการพัฒนาสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลางสำหรับการใช้งานในภาคประชาชน (Retail Central Bank Digital Currency: Retail CBDC) และการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากภาคประชาชน

มติ ก.ล.ต.กำหนดคุณสมบัติผู้ซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซีหลังฟังความเห็น ปชช.

หุ้นไทย (2 เม.ย.64) ปิดวันนี้ที่ระดับ 1,596.27 จุด เพิ่มขึ้น 1.15 จุด

สำหรับ Retail CBDC เป็นเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง ซึ่งเปรียบได้กับธนบัตรที่ออกโดยธนาคารกลาง โดย Retail CBDC สามารถนำไปใช้ในการทำธุรกรรมทางการเงินได้ทั้งในแบบออนไลน์ (On-line) และออฟไลน์ (Off-line) นอกจากนี้ ยังสะดวกต่อการพกพาเคลื่อนย้าย และสามารถนำไปใช้ต่อยอดกับนวัตกรรมทางการเงินอื่น ๆ ในอนาคตได้

CBDC คืออะไร? 
CBDC ย่อมาจาก Central Bank Digital Currency คือ เงินสกุลดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลางของประเทศนั้น ๆ พูดง่าย ๆ ในกรณีของไทย ก็เหมือนเงินบาทหรือธนบัตรที่ออกโดยแบงก์ชาติ เพียงแต่อยู่ในรูปแบบ “ดิจิทัล”

CBDC ต่างจากเงินสกุลดิจิทัลที่ออกโดยภาคเอกชน เช่น คริปโทเคอร์เรนซี (cryptocurrency) และสเตเบิลคอยน์ (stable coin) อย่างไร? 

สำหรับ ความแตกต่างสำคัญคือ “ผู้ออกใช้” และ “คุณสมบัติความเป็นเงิน” โดย CBDC ออกโดย “ธนาคารกลาง” ของแต่ละประเทศ และเข้าข่ายนิยามความเป็นเงินอย่างครบถ้วน คือ 

1. เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน และสามารถชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย 

2. เป็นที่เก็บรักษามูลค่า คือมีมูลค่ามั่นคง และ 

3. เป็นหน่วยวัดมูลค่าของทั้งสินค้าและบริการ 

ในทางตรงกันข้าม คริปโทเคอร์เรนซี เช่น บิทคอยน์ คือ สินทรัพย์ดิจิทัลที่สร้างขึ้นด้วย “เทคโนโลยีบล็อกเชน” โดยมุ่งหวังเป็นสื่อกลางการแลกเปลี่ยนแทนที่เงินสกุลปกติ แต่ไม่เข้าข่ายคุณสมบัติความเป็นเงินและไม่มีกฎหมายรองรับให้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย ขณะที่ สเตเบิลคอยน์ เช่น ลิบร้า คล้ายกับคริปโทเคอร์เรนซี คือ ออกโดยเทคโนโลยีบล็อกเชน และไม่มีกฎหมายรองรับให้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมายเช่นกัน แต่มีเงินสกุลปกติ หลักทรัพย์ หรือทรัพย์สิน (เช่น ทองคำ) ค้ำประกันให้มูลค่ามีความไม่แน่นอนลดลงบ้าง

อย่างไรก็ตาม การพัฒนา Retail CBDC มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อช่วยให้ประชาชนเข้าถึงบริการทางการเงิน รวมถึงสามารถใช้บริการทางการเงินได้สะดวกและปลอดภัยขึ้น นอกจากนี้ การพัฒนา Retail CBDC ยังมีวัตถุประสงค์เพื่อรองรับบริบทที่เทคโนโลยีจะเข้ามามีบทบาทในภาคการเงินเพิ่มขึ้น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนในระบบการเงิน รวมถึงช่วยส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมทางการเงินที่จะทำให้เกิดบริการทางการเงินที่หลากหลายในอนาคต

 

TOP เศรษฐกิจ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ