“สุพัฒนพงษ์” ยัน ไม่ได้บังคับปชช. ใช้เงินฝากกระตุ้นเศรษฐกิจ ชี้สื่อเข้าใจคาดเคลื่อน


โดย PPTV Online

เผยแพร่




หลังจากมีดราม่าจากประโยคที่ว่า “ขอให้คนรักชาติ นำเงินฝากที่เก็บไว้ไปใช้จ่าย” ล่าสุด รองนายกรัฐมนตรี ชี้แจงกรณีนี้แล้วว่า คงเป็นความเข้าใจที่คาดเคลื่อน ซึ่งสื่อมวลชนสายเศรษฐกิจคงเข้าใจแล้ว

“สุพัฒนพงษ์” วอนปชช. นำเงินฝากออกมาใช้จ่าย ช่วยดันจีดีพีโตขึ้น 4%

ร้านอาหาร วอนนายกฯ เร่งช่วยเหลือก่อนเจ๊ง

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวง ระบุว่า เพราะทุกประเทศในยามนี้ การรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจไว้ได้ คือการบริโภคในประเทศ และก็พบว่า มีเงินฝากในภาคเอกชน ที่อยู่ในระบบมียอดสูงขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่แล้วมาหลายแสนล้าน หากนำเงินส่วนนี้มาช่วยกันก็จะเกิดการหมุนเวียนในประเทศ ไม่ใช่การบังคับ และไม่ใช่ข้อเสนอให้ไปใช้จ่ายอะไร เพียงแต่จะมีมาตรการส่งเสริมชักจูงให้คนไทยที่มีเงินฝากที่สูงขึ้นเกินกว่าปกติมาใช้ ก็จะส่งเสริมให้ประเทศมีเสถียรภาพที่ดีขึ้น

ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย พบว่า ยอดคงค้างเงินรับฝากของธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบ ณ สิ้นเดือน กุมภาพันธ์ 2564  พบว่า มีจำนวนบัญชีเงินฝากทุกประเภท 108.2 ล้านบัญชี คิดเป็นเงินฝาก 15.55  ล้านล้านบาท หากแยกตามจำนวนเงินฝากพบว่า คนไทยส่วนใหญ่มียอดคงค้างเงินฝากค่อนข้างต่ำ หรือไม่เกิน 50,000 บาทต่อคนต่อบัญชี คิดเป็น 94.21  ล้านบัญชี เป็นมูลค่าเงินฝากรวม 435,402 ล้านบาท ของวงเงินฝากรวมทั้งระบบ

 

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย มองว่า มาตรการที่รัฐจะสามารถนำมาจูงใจ ให้คนมีเงินฝาก หรือเงินเก็บ ออกมาใช้กระตุ้นเศรษฐกิจ คือ การเน้นมาตรการเพิ่มเพดานลดหย่อนภาษี เช่น มาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยว หรือ มาตรการชิมช้อปใช้  จากเดิมลดหย่อนภาษีได้ 3 หมื่นบาท อาจเพิ่มเป็น 1 แสนบาท หรือ อาจจะขยายเพดานการลดหย่อนภาษี สำหรับการซื้อประกันภัยหรือประกันชีวิต รวมถึงกองทุนต่าง ๆ รวมถึง การให้ประโยชน์ด้านภาษีในการบริจาคเงินให้แก่โรงพยาบาล มูลนิธิ  ซึ่งทั้งหมดรัฐอาจจะต้องยอมลดรายได้จากการจัดเก็บภาษี เพื่อให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจจากกลุ่มคนชั้นกลาง และชั้นบน ที่ยังมีกำลังซื้ออยู่

ด้าน นายนณริฏ  พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโสสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศ หรือ TDRI บอกว่า ขณะนี้หลายครอบครัวเดือดร้อน มีหนี้สิน แต่ก็ต้องเสี่ยงออกมาทำงานข้างนอก จึงทำให้ยังมีการติดเชื้อเพิ่มขึ้น ตอนนี้จึงจำเป็นเร่งด่วนมากที่ภาครัฐต้องอัดฉีดให้คนกลุ่มนี้อยู่รอดให้ได้ แต่วันนี้ต้องไม่กระตุ้นให้คนออกมาใช้จ่ายข้างนอก  โดยอาจใช้วิธีแจกเงินสดไปเลยเป็นวงกว้าง อาจแจก 30 ล้านคนเหมือนที่เคยทำมาก็ได้ รวมถึงการใช้มาตรการลดค่าน้ำ ค่าไฟ เพราะผู้คนต้องอยู่บ้านแล้วไม่มีรายได้เข้ามา

พร้อมย้ำว่า ในระยะแรก 1-2 เดือนต้องทำให้สถานการณ์จบเร็วที่สุด จากนั้นหากสถานการณ์ดีขึ้นจะกลับมาใช้ “คนละครึ่ง” แบบเดิมก็ยังทำได้เพราะรัฐบาลมีข้อมูลทั้งหมดอยู่แล้ว ยอมรับสิ่งที่น่ากังวล คือ การตกงาน อาจจะพุ่งสูงทะลุล้านคน  อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ทิ้งไม่ได้เลย คือ ภาคธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจขนาดเล็กที่ไม่ใช่แค่มาตรการทางการเงินเท่านั้น แต่ควรมีนโยบายเข้ามาช่วยเหลือให้ชัดเจน รวมถึงรัฐอาจใช้มาตรการแรงที่ลดเพดานดอกเบี้ยเงินกู้ต่าง ๆ ไปเลยทันที

 

ด้านนายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล ผู้เชี่ยวชาญการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า รัฐบาลควรเร่งใช้งบประมาณและออกมาตรการของภาครัฐกระตุ้นกำลังซื้อ การบริโภค ส่วนมาตรการด้านท่องเที่ยวอยากให้ชะลอไปก่อน เพราะคนคงไม่มีอารมณ์ในการท่องเที่ยวในช่วงนี้ อีกทั้งในบางพื้นที่หากเดินทางไปต้องกักตัว ทำให้เสียโอกาสเที่ยว ขณะเดียวกัน เรื่องของตัวเลขจีดีพี อยากให้ทุกคน ทุกฝ่ายเลิกให้ความสนใจ เพราะตอนนี้สถานการณ์เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ทั้งปัจจัยภายในและภายนอก

ในขณะที่ในวันพรุ่งนี้ ( 28 เม.ย.64)  ต้องจับตาการหารือระหว่าง นายกรัฐมนตรี และภาคเอกชน ทั้งจาก กกร.และภาคการท่องเที่ยว  ที่จะหารือถึงแผนการกระจ่ายวัคซีนและมาตรการเยียวยาและกระตุ้นเศรษฐกิจ  โดยนายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ย้ำว่า ส.อ.ท ได้เตรียมพร้อมทีมภาคเอกชนที่มีศักยภาพ ในการจัดหาวัคซีนให้เพียงพอได้อยู่แล้ว รวมถึงติดต่อพูดคุยเรื่องสถานที่การกระจายวัคซีนและรองรับการฉีดวัคซีนกับนิคมอุตสหกรรมใหญ่ๆ แต่ยังมีปัญหา ติดขัดเรื่องเดียว คือกฎเกณฑ์ของภาครัฐในการอนุญาต ซึ่งจะทำให้ภาคเอกชนดำเนินการได้เองอย่างรวดเร็ว โดยรายละเอียดการหารือแผนดังกล่าว จะได้รับการแก้ไข หรือข้อสรุปไปในทิศทางใด ต้องรอติดตามความคืบหน้าในวันพรุ่งนี้

ด้านศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้เปิดเผยผลการสำรวจ สถานภาพแรงงานไทยในปี 2564 กรณีศึกษากลุ่มตัวอย่างแรงงานไทยที่มีรายได้ต่ำกว่า 15,000 บาทต่อเดือน พบว่า ภาระหนี้ครัวเรือนเฉลี่ยอยู่ที่ 205,809 บาทต่อครัวเรือน (สูงขึ้นจากปีก่อน 46,954 บาท)  ซึ่งถือว่าเป็นหนี้ครัวเรือนที่สูงสุดในรอบ 10 ปี หรือ สูงสุดเป็นประวัติการณ์ตั้งแต่เริ่มมีการสำรวจมา

ด้วยสาเหตุการระบาดของโควิด-19 ทำให้ รายได้แรงงานคงที่ และลดลง ขณะที่สินค้าราคาแพงขึ้น จึงต้องกู้เงินมาใช้จ่าย ทำให้เงินออมลดลง สำหรับวัตถุประสงค์ในการกู้เงิน จนเกิดหนี้ครัวเรือน 3 อันดับแรก คือ ใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน  รองลงมา ใช้ลงทุน และ ใช้คืนเงินกู้ ทั้งนี้ แนะรัฐบาลต้องรีบหยุดการแพร่ระบาดของโควิด-19 กระตุ้นเศรษฐกิจ และเร่งฉีดวัคซีน

 

TOP เศรษฐกิจ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ