หุ้นไทย (12 พ.ค.64) ปิดซื้อขายที่ระดับ 1,571.85 จุด ลดลง -7.08 จุด


โดย PPTV Online

เผยแพร่




หุ้นไทย (12 พ.ค.64) ปิดซื้อขายที่ระดับ 1,571.85 จุด ลดลง -7.08 จุด (-0.45%) มูลค่าการซื้อขาย 117,160.58 ล้านบาท

นายวิจิตร อารยะพิศิษฐ นักกลยุทธ์การลงทุน บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) กล่าวว่า หุ้นไทยวันนี้ปรับตัวลงตั้งแต่เปิดเทรดในช่วงเช้า จากแรงขายลดความเสี่ยงหลังกังวลอัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯคาดเร่งตัวขึ้นมาที่ 3.6% จากเดือนก่อน 2.6% ซึ่งตลาดฯจับตาโมเมนตัมเศรษฐกิจสหรัฐฯว่าจะร้อนแรงไปหรือไม่ เพราะอาจมีผลต่อการทำ QE ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) นอกจากนี้ ยังรับแรงกดดันจากการปรับน้ำหนักของ MSCI ด้วย โดย MSCI ได้ปรับลดน้ำหนักหุ้นไทยลง ทำให้เกิดความวิตกต่อกระแสเงินทุนไหลออก

เช็ก 5 เขตกทม. ผู้ป่วยสะสมมากที่สุด เปิด 12 คลัสเตอร์เฝ้าระวังทั่วกทม.

ภาคเอกชนในสหรัฐฯ ช่วยโปรโมต สนับสนุนการฉีดวัคซีนโควิด-19

และยังถอดหุ้นขนาดใหญ่อย่าง KBANK-F ออกจากการคำนวณ MSCI Global Standard จึงกดดันให้มีรงขายหุ้น KBANK ออกมามากในวันนี้

แต่ช่วงบ่ายนี้ตลาดฯ รีบาวด์กลับขึ้นมาได้ค่อนข้างแรงระหว่างเทรด หลังจากราคาหุ้น DELTA ปรับขึ้นมาอย่างร้อนแรง ซึ่งมีผลต่อดัชนีฯค่อนข้างมาก โดยทุก 10 บาทมีผลต่อดัชนีฯ 1 จุด ซึ่งราคาหุ้น DELTA ปรับขึ้นมากว่า 100 บาทระหว่างเทรดภาคบ่ายจึงดันดัชนีฯกลับขึ้นมาได้กว่า 10 จุดลดช่วงลบไปได้มากจนเกือบจะขึ้นมาเคลื่อนไหวในแดนบวกได้ และยังทำให้มีแรงซื้อกลับหุ้นตัวอื่นด้วยระหว่างที่ดัชนีฯรีบาวด์ขึ้นมาสร้างความมั่นใจให้นักลงทุนได้บ้าง ดังนั้น วันนี้ถือได้ว่าหุ้น DELTA ช่วยให้ Sentiment ตลาดฯดีขึ้น

ขณะที่ตลาดหุ้นในภูมิภาคเอเชียต่างเคลื่อนไหวในแดนลบ และตลาดยุโรปเทรดบ่ายนี้ก็แกว่งทั้งในแดนบวก-ลบ ช่วงรอติดตามตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐฯที่จะประกาศออกมาคืนนี้ นอกจากนี้ ยังรอติดตามตัวเลขการผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนมี.ค.ของยุโรป และสต็อกน้ำมันรายสัปดาห์จากสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐ (EIA) ของสหรัฐฯ ซึ่งจะออกมาในวันนี้ด้วยเช่นกัน

แนวโน้มการลงทุนในวันพรุ่งนี้ (13 พ.ค.) นายวิจิตร กล่าวว่า ตลาดฯคงจะแกว่งออกด้านข้าง โดยมีแนวรับ 1,560 จุด ส่วนแนวต้าน 1,590 จุด

ส่วนหลักทรัพย์ที่มีมูลค่าการซื้อขายสูงสุด 5 หลักทรัพย์ ได้แก่

DELTA มูลค่าการซื้อขาย 9,545.47 ล้านบาท ปิดที่ 558.00 บาท เพิ่มขึ้น 94.00 บาท

TIDLOR มูลค่าการซื้อขาย 7,873.72 ล้านบาท ปิดที่ 40.25 บาท ลดลง 2.75 บาท

KBANK มูลค่าการซื้อขาย 6,035.43 ล้านบาท ปิดที่ 119.50 บาท ลดลง 5.50 บาท

SAWAD มูลค่าการซื้อขาย 3,412.81 ล้านบาท ปิดที่ 73.00 บาท ลดลง 5.25 บาท

KCE มูลค่าการซื้อขาย 3,389.99 ล้านบาท ปิดที่ 63.00 บาท เพิ่มขึ้น 2.25 บาท

ราชทัณฑ์ ยันผู้ต้องขัง เรือนจำพิเศษกรุงเทพ-ทัณฑสถานหญิงกลาง ติดโควิด-19 เกือบ 3 พันราย

หุ้นไทย ปิดซื้อขายเช้าที่ระดับ 1,565.56 จุด ลดลง 13.37 จุด (-0.85%) มูลค่าการซื้อขายราว 60,960 ล้านบาท

นายกิจพณ ไพรไพศาลกิจ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์และนักกลยุทธ์ บล.ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยเช้านี้ปรับตัวลงในทิศทางเดียวกับตลาดหุ้นในภูมิภาคเอเชียที่เคลื่อนไหวในแดนลบ จากความกังวลตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐฯที่จะรายงานออกมาคืนนี้ ซึ่งตลาดคาดการณ์ว่าอาจเร่งตัวขึ้นมาที่ 3.6% จากเดือนก่อน 2.6% หากเร่งตัวมากกว่านี้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) อาจจะลดการผ่อนคลายนโยบายการเงิน ทำให้บรรยากาศการลงทุนโดยรวมถูกกดดันด้วยปัจจัยดังกล่าว

ธ.ก.ส. พักหนี้เกษตรกร-ปล่อยกู้ฉุกเฉิน 1 หมื่นล้านบาท สู้ภัยโควิด

ราคาทองวันนี้ – 12 พ.ค. 64 ปรับราคา 5 ครั้ง กลับมาเท่าราคาเปิดตลาด

ส่วนทางด้านเอเชียก็เผชิญกับปัญหาเงินเฟ้อด้วยเช่นกัน ทั้งที่เศรษฐกิจยังฟื้นตัวได้ช้าเป็นผลจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่หลายประเทศยังเผชิญอยู่ หากมาเจอปัญหาเงินเฟ้อธนาคารกลางในแถบเอเชียก็อาจจะจำเป็นจะต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยทั้งที่เศรษฐกิจยังไม่ดี จึงเป็นความเสี่ยงทางเศรษฐกิจ

พร้อมให้ติดตามการทยอยประกาศผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในช่วงโค้งสุดท้ายสัปดาห์นี้ และจับตาจุดแนวรับสำคัญของตลาดสำคัญ เพราะหากหลุดอาจทำให้ตลาดหุ้นทั่วโลกจะเข้าสู่โหมดปรับฐาน ตลาดบ้านเราก็อาจจะชะลอการลงทุนตามไปด้วย

แนวโน้มการลงทุนในช่วงบ่ายนี้ นายกิจพณ กล่าวว่า ตลาดฯปรับตัวลงมาทดสอบแนวรับสำคัญที่ 1,560 จุด จึงมี Downside และมีโอกาสจะลงมาทดสอบแนวรับถัดไปที่ 1,550 จุด หากลงต่ำกว่าแนวนี้ในทางเทคนิคจะเสียภาพและเข้าสู่โหมดของการปรับฐานได้ ส่วนแนวต้านให้ไว้ที่ 1,580 จุด

ส่วนหลักทรัพย์ที่มีมูลค่าการซื้อขายสูงสุด 5 หลักทรัพย์ ได้แก่

TIDLOR มูลค่าการซื้อขาย 4,538.02 ล้านบาท ปิดที่ 42.75 บาท ลดลง 0.25 บาท

KBANK มูลค่าการซื้อขาย 4,229.58 ล้านบาท ปิดที่ 120.00 บาท ลดลง 5.00 บาท

CBG มูลค่าการซื้อขาย 2,377.65 ล้านบาท ปิดที่ 116.50 บาท เพิ่มขึ้น 5.50 บาท

SAWAD มูลค่าการซื้อขาย 2,300.53 ล้านบาท ปิดที่ 74.00 บาท ลดลง 4.25 บาท

DELTA มูลค่าการซื้อขาย 1,948.29 ล้านบาท ปิดที่ 490.00 บาท เพิ่มขึ้น 26.00 บาท

สถานการณ์ซื้อขายช่วงเช้า เปิดการซื้อขายเช้า 1,569.70 จุด ลดลง -9.23  จุด (-0.58%) มูลค่าการซื้อขาย 13,915.60 ล้านบาท

นายถนอมศักดิ์ สหรัตน์ชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการและหัวหน้าฝ่ายวิจัย บล.กรุงไทย ซีมิโก้ กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยเช้านี้คาดว่าจะแกว่งซึมลง คล้ายคลึงกับตลาดหุ้นในภูมิภาคเอเชียที่เช้านี้ต่างเคลื่อนไหวในแดนลบกันหลังจากที่ Valuation แพง มี upside ไม่มาก ทำให้ตลาดฯจะต้องปรับตัวลงก่อน ในช่วงที่กำลังรอดูตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐฯที่จะออกมาในคืนนี้ ซึ่งหากออกมาไม่สูงมากตลาดฯก็จะคลายความกังวล

กลุ่มผู้จัดงานอีเวนต์ ร้องรัฐบาล ช่วยเงินเยียวยาโควิด

ตรวจสอบสิทธิ์"เราชนะ" ก่อนรับ 2,000 มีเงื่อนไข ครม.ให้โอนเงิน เราชนะ ม33เรารักกัน งวดแรก 20 - 24พ.ค.

ส่วนการปรับน้ำหนักลงทุนของ MSCI ที่ออกมาล่าสุด ได้ประกาศรายชื่อหุ้นคำนวณดัชนีรอบใหม่ แบ่งเป็น 2 ดัชนี คือ MSCI Global Standard มีหุ้นเข้าใหม่คือ CBG และ SCGP ส่วน MSCI Global Small cap มีหุ้นเข้าใหม่คือ ACE PSL RCL SCCC SINGER SYNEX TTA และ TOA ซึ่งคาดว่าจะมีการแกว่งตาม MSCI ปรับน้ำหนัก

ด้านผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนที่ออกมาส่วนใหญ่จัดว่าดี โดยเฉาะพวกสินค้าโภคภัณฑ์ (Commodity) ทำให้อาจมีการเข้ามาเล่นเก็งกำไรตามงบฯที่ออกมาดีก็ได้ พร้อมให้จับตาบมจ.การบินไทย (THAI) ที่จะโหวตแผนฟื้นฟูกิจการในวันนี้

ทั้งนี้ให้แนวรับ 1,550-1,560 จุด ส่วนแนวต้าน 1,587-1,593 จุด

ตลาดหุ้นเอเชียเปิดผันผวน

ดัชนี SSE Composite ตลาดหุ้นจีนเปิดวันนี้ที่ 3,429.75 จุด ลดลง 12.10 จุด หรือ -0.35%, ดัชนี NIKKEI 225 ตลาดหุ้นญี่ปุ่นเปิดวันนี้ที่ 28,712.10 จุด เพิ่มขึ้น 103.51 จุด หรือ +0.36% และดัชนี HSI ตลาดหุ้นฮ่องกงเปิดวันนี้ที่ 28,073.92 จุด เพิ่มขึ้น 60.11 จุด หรือ +0.21%

นักวิเคราะห์จากบริษัทแอลพีแอล ไฟแนนเชียลกล่าวว่า ขณะนี้ความวิตกกังวลเกี่ยวกับภาวะเงินเฟ้อไม่เพียงแต่ฉุดหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีเท่านั้น แต่ยังกดดันให้เกิดแรงเทขายในหุ้นกลุ่มอื่นๆ เป็นวงกว้าง โดยปัจจัยที่ทำให้เกิดความกังวลดังกล่าวมาจากการที่สหรัฐออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นวงเงินสูงสุดเป็นประวัติการณ์ รวมทั้งราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับตัวสูงขึ้น และล่าสุดทางการสหรัฐเปิดเผยข้อมูลที่บ่งชี้ถึงภาวะขาดแคลนแรงงาน

เงินบาทอ่อนค่า

นักบริหารเงินจากธนาคารกรุงเทพ เปิดเผยว่า เงินบาทเปิดตลาดเช้านี้อยู่ที่ระดับ 31.19 บาท/ดอลลาร์ อ่อนค่าจากช่วง เย็นวานนี้ที่ปิดตลาดที่ระดับ 31.09 บาท/ดอลลาร์

เนื่องจากดอลลาร์สหรัฐกลับมาแข็งค่า หลังจากที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ กลับมาฟื้นตัวดี โดยเฉพาะตัวเลขการเปิดรับสมัครงานเดือนมี.ค. ซึ่งเพิ่มขึ้นในระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ขณะที่คืนนี้ ตลาดจับตาการรายงานอัตราเงิน เฟ้อของสหรัฐ เพราะหากเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ จะมีผลให้ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าได้ต่อ

นักบริหารเงิน คาดว่า วันนี้เงินบาทจะเคลื่อนไหวในกรอบ 31.05-31.25 บาท/ดอลลาร์

ดาวโจนส์ปิดร่วง น้ำมันปิดบวก

ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดร่วงลงเมื่อคืนนี้ (11 พ.ค.) เนื่องจากความวิตกกังวลเกี่ยวกับภาวะเงินเฟ้อในสหรัฐได้กดดันให้นักลงทุนเทขายหุ้นกลุ่มต่างๆเป็นวงกว้าง ตั้งแต่หุ้นกลุ่มเทคโนโลยีไปจนถึงกลุ่มพลังงาน โดยความตื่นตระหนกเกี่ยวกับภาวะเงินเฟ้อได้ทวีความรุนแรงขึ้นเมื่อสำนักงานสถิติของกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยข้อมูลที่บ่งชี้ถึงภาวะขาดแคลนแรงงานในสหรัฐ ขณะเดียวกันนักลงทุนจับตาการเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือนเม.ย.ของสหรัฐในวันนี้

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 34,269.16 จุด ลดลง 473.66 จุด หรือ -1.36% ดัชนี S&P500 ปิดที่ 4,152.10 จุด ลดลง 36.33 จุด หรือ -0.87% ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 13,389.43 จุด ลดลง 12.43 จุด หรือ -0.09%

สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดบวกเมื่อคืนนี้ (11 พ.ค.) โดยตลาดยังคงได้ปัจจัยหนุนจากการที่ท่อส่งน้ำมันของบริษัทโคโลเนียล ไปป์ไลน์ในสหรัฐ ถูกโจมตีทางไซเบอร์ ขณะเดียวกันนักลงทุนจับตารายงานสต็อกน้ำมันดิบของสหรัฐ ซึ่งสำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของรัฐบาลสหรัฐ (EIA) มีกำหนดเปิดเผยในวันนี้

สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนมิ.ย. เพิ่มขึ้น 36 เซนต์ หรือ 0.6% ปิดที่ 65.28 ดอลลาร์/บาร์เรล

สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนก.ค. เพิ่มขึ้น 23 เซนต์ หรือ 0.3% ปิดที่ 68.55 ดอลลาร์/บาร์เรล

TOP เศรษฐกิจ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ