ค่าใช้จ่าย และความฝืดเคืองของผู้ปกครองช่วงโควิด


โดย PPTV Online

เผยแพร่




การระบาดของโควิด-19 ทำให้การเปิดเทอมในปีการศึกษา 2564 ถูกเลื่อนมาแล้วถึง 2 ครั้ง กำหนดเปิดเทอมขณะนี้อยู่ที่วันที่ 14 มิถุนายนที่จะถึงนี้ ทำให้ในช่วงที่ผ่านมาผู้ปกครองต่างๆก็ทยอยพาลูกหลานไปซื้อชุดนักเรียนสำหรับเทอมใหม่ แต่จากการสำรวจร้านขายชุดนักเรียนในวันนี้ของทีมข่าวพบว่าบรรยากาศเป็นไปด้วยความเงียบเหงา จำนวนการซื้อก็ลดลงกว่าปีก่อนๆ เฉลี่ยอยู่ที่คนละ 2 ชุดเท่านั้น ขณะเดียวกันผู้ปกครองบางคนก็ต้องรวบรวมเงินจากหลากหลายแหล่งเพื่อนำมาซื้อชุดนักเรียน ติดตามจากรายงานของคุณพิจิตรา ทองเดช

เงินที่กำลังถูกนับที่มีทั้งแบงค์ยี่สิบ แบงค์ร้อย ไปจนถึงแบงค์พันนี้ เป็นเงินที่ถูกรวบรวมนำมาเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับการซื้อชุดนักเรียน ของลูกชายที่กำลังจะขึ้นชั้นมัธยมปีที่ 4 ในการเปิดเทอมที่กำลังจะมาถึงในอีกไม่กี่วัน  ด้วยอาชีพค้าขายในตลาดห้วยขวาง หนึ่งในสถานที่ที่มีการระบาดของโควิด-19 เป็นกลุ่มก้อนของกรุงเทพมหานครในระลอก 3 ทำให้รุ้งทิพย์ได้รับผลกระทบทางด้านรายได้จากการที่ตลาดห้วยขวางถูกสั่งปิด

พิษ โควิด-19 ซ้ำเติมรายจ่ายผู้ปกครองช่วงเปิดเทอม

ผู้ปกครอง จ.ตรัง ประหยัดค่าใช้จ่ายซื้อชุดนักเรียนคนละชุด

จากเดิมที่ยอดขายลดลงอยู่แล้วจากการระบาดของโควิด-19 ในช่วงหนึ่งปีกว่า แต่เมื่อตลาดถูกปิดแบบกะทันหัน รายได้ของครอบครัวก็เป็นศูนย์ทันทีเช่นกัน  โชคดีที่เธอยังพอมีเงินสะสมจากการหยอดกระปุกไว้ รวมกับเงินออมของลูกชายจำนวน 1,000 บาท ที่เก็บออมมาตั้งแต่ม. 1  ไม่อย่างนั้นก็คงไม่มีเงินเพียงพอที่จะมาซื้อชุดนักเรียนชั้นม. 4 ให้ลูกชายในวันนี้

แม้จะซื้อเพียงชุดนักเรียน 2 ชุด เข็มขัด 1 เส้น เสื้อกล้ามสำหรับใส่ด้านในเสื้อนักเรียน 4 ตัวและรองเท้านักเรียน 1 คู่ แต่เมื่อรวมเงินออกมาแล้วราคาที่ต้องจ่ายอยู่ที่ 2,137 บาท ถือว่าเป็นเงินจำนวนไม่น้อยสำหรับครอบครัวขาดรายได้ในช่วงนี้

ขณะที่สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ที่จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ยังอยู่ที่หลักพันคนต่อวันและทำให้มีการเลื่อนเปิดเทอมมาแล้วถึง 2 ครั้ง แม้จะยังไม่มั่นใจว่าจะเปิดเทอมในวันที่ 14 มิถุนายนนี้หรือไม่ แต่ที่รุ้งทิพย์ตัดสินใจพาลูกมาซื้อชุดนักเรียนในวันนี้ เพราะกังวลว่าหากสถานการณ์การระบาดยังเป็นเช่นนี้ เธอกลัวว่าจะขายของไม่ได้และจะไม่มีเงินพอสำหรับซื้อชุดนักเรียนให้กับลูกชาย

แม้จะมีลูกค้าหมุนเวียนเข้าร้านอยู่เรื่อยๆ แต่เจ้าของร้านขายชุดนักเรียนแห่งนี้ที่เปิดขายมากกว่า 50 ปีก็บอกว่า ปีนี้บรรยากาศช่วงก่อนเปิดเทอมเงียบเหงา พฤติกรรมการจับจ่ายของผู้ปกครองก็เปลี่ยนไป ทั้งรอให้ถึงวันใกล้เปิดเทอมถึงจะพาลูกหลานมาซื้อชุด จำนวนชุดที่ซื้อก็ลดลงเฉลี่ยเหลือคนละ 2 ชุด ขณะเดียวกันส่วนใหญ่ก็นำสิทธิเงินเยียวยาจากรัฐบาลโครงการต่างๆมาจ่าย

ขณะที่อีกหนึ่งย่านที่เป็นแหล่งขายชุดนักเรียน อย่างบางลำภู ที่มักจะคึกคักเป็นพิเศษในวันหยุด แต่วันนี้ค่อนข้างเงียบเหงา เจ้าของแผงขายถุงเท้าและรองเท้านักเรียนแห่งนี้บอกกับทีมข่าวว่า ตั้งแต่เช้าจนถึงเที่ยงเพิ่งจะมีลูกค้าเพียง 3 รายเท่านั้น และปีนี้ผู้ปกครองแทบไม่ซื้อรองเท้านักเรียนใหม่ให้ลูกหลานเลย

ความฝืดเคืองทางการเงินของผู้ปกครอง อาจจะเป็นหนึ่งในปัจจัยที่สร้างความกังวลให้กับผู้ปกครองในขณะนี้ อย่างไรก็ดีผู้ปกครองส่วนใหญ่ย่อมพยายามหาหนทางเพื่อให้ลูกหลานได้รับการศึกษา  แต่ความกังวลสูงสุดที่บรรดาผู้ปกครองมีร่วมกันก็คือ หากมีคำสั่งเปิดเรียนในวันที่ 14 มิถุนายนจริง มาตรการการดูแลลูกหลานของพวกเขานั้นจะดีเพียงพอและไม่เสี่ยงต่อการติดโควิด-19 ได้ใช่หรือไม่

ข้อมลจากศูนย์วิจัยกสิกรไทยเปิดเผยว่า หนี้ครัวเรือนของไทยในช่วงสิ้นปี 2563 ทะลุ 14 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.5 แสนล้านบาทเมื่อเทียบกับหนี้ครัวเรือนปี 2562และปี 2563 ยังเป็นปีที่ประเทศไทยมีหนี้ครัวเรือนสูงที่สุดในรอบ 18 ปี โดยตัวเลขดังกล่าวคิดเป็นร้อยละ 89.3 เมื่อเทียบกับจีดีพีในปี 2562

ขณะเดียวกันโควิด-19 ยังทำให้คนตกงานมากขึ้น ตัวเลขจากสภาพัฒนการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช. เปิดเผยว่า ในช่วงไตรมาสที่ 1 ของปี 2564 มีจำนวนผู้ว่างงานมีจำนวนเพิ่มขึ้น 7.6 แสนคน คิดเป็นอัตราการว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 1.96 เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.93 เมื่อเทียบช่วงเวลาเดียวกันของปี 2562 ซึ่งเป็นช่วงก่อนโควิด-19 ที่ตอนนั้นอัตราการว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 1.03

 

TOP เศรษฐกิจ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ