ชี้ช่องวางแผนการเงิน “เก็บเงินให้อยู่-อดใจไม่ช้อป” ปูทางสู่วัยเกษียณ


โดย PPTV Online

เผยแพร่




แนะใช้สูตร “ทำบัญชี-มีเป้าหมาย-เก็บเงินให้อยู่-ลดค่าใช้จ่ายให้ได้-ฝืนเข้าไว้” วางแผนการเงินเพื่อก้าวสู่วัยเกษียณอย่างมั่นคง

ในภาวะที่ลูกหนี้หลายคนพยายามแก้ไขหนี้สินของตัวเอง และ มุ่งมั่นที่จะสางภาระหนี้ แต่ลูกหนี้จำนวนไม่น้อยยังกลับหลงลืม หรือ ไม่รู้ว่า “จะวางแผนการเงินเพื่อเริ่มต้นชีวิตใหม่ให้ยั่งยืนอย่างไร?” การประหยัดอดออมอาจไม่ใช่คำตอบที่ดีที่สุดที่จะสร้างความมั่นคงทางการเงิน วันนี้มาดูไปพร้อมๆ กันว่า สูตรสำเร็จ 4-5 ข้อ ที่จะทำให้ชีวิตในวัยเกษียณของเรามีความสุข และ มีความมั่นคงทางการเงินควรทำอย่างไร  

เผยหมดเปลือกบทเรียนราคาแพงที่ลูกหนี้ควรรู้และไม่ควรทำ

"อย่าจ่ายขั้นต่ำ" เคล็ดลับแก้หนี้บัตรเครดิต แบบไม่ต้องแบกดอกเบี้ย

 ขั้นแรก รู้จักคำว่า “ทำบัญชี”

ถือเป็นก้าวแรกที่สำคัญมาก เพราะจะทำให้เรารู้ข้อมูลการเงิน ประเมินโอกาส และ จุดอ่อนของตัวเองได้ชัดเจน ไม่ว่าจะเป็น

- รายการหนี้สินมีเท่าไร? แต่ละก้อนผ่อนเท่าไร? จ่ายวันไหน? ดอกเบี้ยเท่าไร? หมดหนี้เมื่อไร?

- รายรับมีเท่าไร? พอไหม? ต้องหารายได้เสริมอีกหรือไม่? 

- รายจ่ายมีเท่าไร? ลดได้อีกไหม? ใช้ชีวิตสมถะลงได้อีกหรือไม่?

ขั้นที่ 2 มีเป้า

หลักง่ายๆ คืออยากเห็นชีวิตตัวเองตอนแก่เป็นอย่างไร? และดูว่า การดำเนินชีวิตในปัจจุบัน สนับสนุนให้เราก้าวสู่เป้าที่ต้องการหรือไม่? ถ้าไม่ใช่ก็ให้ปรับวิธีการดำเนินชีวิตให้สอดคล้องกับหมุดที่ปักไว้

ขั้นที่ 3 เก็บ (เงิน) ให้อยู่

ข้อนี้ต้องใช้เวลาปรับทัศนคติพอสมควร จึงต้องยึดหมุดหมายข้างต้นไว้ให้ดีว่า “อยากมีชีวิตแบบไหนในอนาคต?” และกำหนดเป้าหมายการเงินระยะใกล้-สั้น-กลาง-ยาว เพื่อสนับสนุนแผนใหญ่ของชีวิต โดยหลักสำคัญคือ เมื่อได้เงินเดือนแล้วต้องหักเงินเก็บก่อนกินใช้ ไม่ใช่เก็บจากที่เหลือกินใช้ เช่น

- ระยะใกล้ 0-3 เดือน เป็นช่วงปรับทัศนคติเรื่องการประหยัด อดออมให้ตัวเองก่อน เพื่อให้เกิดพลังขับเคลื่อนจากภายใน

- ระยะสั้น 3 เดือน-2 ปี ควรแบ่งเงินหลังหักภาระต่างๆ เป็นเงินออมเพื่อเหตุฉุกเฉิน เงินก้อนนี้จึงควรทยอยเก็บเป็นเงินฝากประจำทุกเดือน หรือ ตัดบัญชีไว้เลย ซึ่งตำราบางเล่มแนะนำว่า ควรมีอย่างน้อยเท่ากับเงินเดือน 2 เดือนที่เรารับอยู่ในปัจจุบัน เพื่อให้จัดการชีวิตดีขึ้น

- ระยะปานกลาง 2-10 ปี เป็นเงินออมเพื่อสะสมทรัพย์ในอนาคต เช่น ทำธุรกิจเล็ก ๆ ลงทุนซื้ออสังหาริมทรัพย์ หรือทองคำ เป็นต้น

- ระยะยาว 10 ปีขึ้นไป ทยอยเก็บไปเรื่อย ๆ เป็นเงินก้อนในอนาคตหลังเกษียณอายุ อาทิ การซื้อประกันแบบออมทรัพย์ ซึ่งจะได้ทั้งเงินก้อนและประกันหากเกิดอุบัติเหตุชีวิต

ขั้นที่ 4 ลด (ค่าใช้จ่าย) ให้ได้

ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ต้องทำความตกลงกันในครอบครัวให้เข้าใจตรงกันว่า สถานะการเงินในครอบครัวเป็นอย่างไร ทำให้ต้องลดค่าใช้จ่าย เพื่อให้ทุกคนพร้อมใจกันลดค่าใช้จ่าย

ขั้นที่ 5 ฝืนเข้าไว้

นับเป็นเรื่องท้าทายของ “สายช้อป” มาก วิธีหนึ่งที่จะช่วยดัดนิสัยนี้ได้คือ การจัดระเบียบบ้าน จะทำให้เราเห็นสารพัดสินค้าที่ช้อปแล้วไม่ได้ใช้เป็นจำนวนมาก สุดท้ายถ้ากลับมาทบทวนดี ๆ ชีวิตเรามีของจำเป็นไม่กี่รายการ ก็ดำรงชีวิตในระดับพอเพียงได้แล้ว

 ... เมื่อคิดได้แบบนี้ ก็จะทำให้เราคิดมากขึ้นก่อนจะซื้อของเข้าบ้าน แต่ถ้ายังวนเวียนกับความอยากซื้อ ถ้าได้ลอง “เลื่อน” การตัดสินใจซื้อออกไป สุดท้ายความอยากก็จะหายไปอย่างรวดเร็ว เพราะสินค้าส่วนใหญ่ ไม่มีก็ไม่เสียหาย

สุดท้ายนี้ สิ่งที่อยากจะย้ำกับลูกหนี้ทุกคนคือ “มีหนี้ต้องแก้ไข เริ่มต้นใหม่อย่างยั่งยืน”  ซึ่งทุกคนทำได้แค่ “ทำบัญชี-มีเป้า-เก็บ (เงิน) ให้อยู่-ลด (ค่าใช้จ่าย) ให้ได้-ฝืนเข้าไว้” แล้วดีเอง

 

ขอบคุณข้อมูลจากหนังสือ : แก้หนี้ครบจบในเล่มเดียว ตอน : มีหนี้ต้องแก้ไข เริ่มต้นใหม่อย่างยั่งยืน โดย :  ลลิตา แซ่กัง - สุภร ดีพันธ์ ธปท.

 

รู้จักโซลาร์ลอยน้ำไฮบริดที่ใหญ่ที่สุดในโลกเตรียมจ่ายไฟต.ค.นี้

โปรแกรมถ่ายทอดสด โอลิมปิก 2020 ประจำวันที่ 30 กรกฎาคม 2564

 

PR-โปรแกรมผลบอล-2_B PR-โปรแกรมผลบอล-2_B
TOP เศรษฐกิจ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ