สศช.เผย จบใหม่ว่างงานเกือบ 3 แสนคน โดยเฉพาะอาชีวศึกษา - ป.ตรี


โดย PPTV Online

เผยแพร่




สศช. เปิดเผยภาวะสังคมไทยไตรมาสสอง ปี 2564 จับตาจบใหม่ว่างงานเพิ่ม และพบแนวโน้มว่างงานนาน จากผลพวงการแพร่ระบาดโควิด-19 ขณะที่บางส่วนกลับภูมิลำเนาดันภาคเกษตรจ้างงานโต

นายดนุชา  พิชยนันท์  เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เปิดเผย ภาวะสังคมไทยไตรมาสสอง ปี 2564  ในตอนหนึ่งได้กล่าวถึง อัตราการว่างงานของไทย เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนลดลงเล็กน้อย อยู่ที่ร้อยละ 1.89 คิดเป็นผู้ว่างงาน 7.3 แสนคนแต่ประเด็นที่น่าสนใจ คือ ผู้ว่างงานที่ไม่เคยทำงานมาก่อน (ผู้จบการศึกษาใหม่) มีจำนวน 2.9 แสนคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.04 โดยเป็นผู้จบการศึกษาระดับอาชีวศึกษาและอุดมศึกษามีการว่างงานเพิ่มขึ้น

อัปเดตไทม์ไลน์จ่ายเงินเยียวยา มาตรา 40 มาตรา 39 ประกันสังคมจัดกลุ่มใหม่นัดโอนพร้อมเพย์ 5,000 บาท

ประกันสังคมปรับเวลาโอนเงินเยียวยา ม.40 ให้ 29 จว.ภายใน 26 ส.ค.เช็กคิวรับ 5,000 แนะหลักฐานทบทวนสิทธิ...

ผู้ที่จบการศึกษาระดับอุดมศึกษามีอัตราการว่างงานร้อยละ 3.44 สะท้อนให้เห็นว่า การว่างงานในปัจจุบันอยู่ในกลุ่มแรงงานทักษะสูง

นอกจากนี้ ผู้ว่างงานยังมีแนวโน้มว่างงานนานขึ้น โดยผู้ว่างงานนานกว่า 12 เดือน มีจำนวน 1.47 แสนคน คิดเป็นร้อยละ 20.1 ของผู้ว่างงาน เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนที่มี สัดส่วนเพียงร้อยละ 11.7

ส่วนการว่างงานในระบบ ผู้รับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน มีจำนวน 3.1 แสนคน คิดเป็นสัดส่วนต่อผู้ประกันตน ร้อยละ 2.8 ลดลงจากไตรมาสก่อนเล็กน้อย

มาต่อที่ อัตราการจ้างงาน ตลาดแรงงานปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ยังไม่กลับสู่ภาวะปกติ โดยไตรมาส 2 ปีนี้ การจ้างงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.0 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ในส่วนของการจ้างงานภาคเกษตร มีการจ้างแรงงานเพิ่มขึ้น ร้อยละ 2.4  ผลของแรงงานในเมืองที่กลับภูมิลำเนามาเข้าสู่ภาคเกษตร 

ส่วนการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรมเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.8 โดยสาขาที่มีการจ้างงานเพิ่มขึ้นมาก ได้แก่ สาขาก่อสร้าง สาขาโรงแรม/ภัตตาคาร สาขาการขนส่ง/เก็บสินค้า

ขณะที่ ชั่วโมงการทำงาน ปรับตัวดีขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ยังอยู่ในระดับต่ำกว่าปกติที่ 41.6 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.8 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน  แรงงานที่ทำงานล่วงเวลามีจำนวน 6 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 32.2

อย่างไรก็ตาม ผลกระทบจากการระบาดที่มีความรุนแรงมากขึ้น และมาตรการควบคุมการระบาดที่ส่งผลต่อความสามารถในการหารายได้ของแรงงาน จากสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 ในเดือนเมษายน 2564 ซึ่งต่อมารัฐบาลมีการประกาศมาตรการควบคุมการแพร่ระบาด ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจลดลงและมีแนวโน้มจะลดลงมากกว่าการระบาดในปี 2563 ซึ่งจะส่งผลต่อเนื่องต่อการจ้างงาน/การมีงานทำ และรายได้ โดยเฉพาะแรงงานในกลุ่มที่ไม่สามารถทำงานที่บ้านได้

ลูกจ้างภาคเอกชนที่สามารถทำงานที่บ้านได้ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 29 จังหวัดมีเพียงร้อยละ 5.5 หรือมีจำนวน 5.6 แสนคน จาก 10.2 ล้านคนเท่านั้น และมีกลุ่มผู้ประกอบอาชีพอิสระจำนวน 7.3 ล้านคน ที่จะได้รับผลกระทบ  

สศช. มองว่า การระบาดของโควิด-19 ที่ยาวนานจะส่งผลให้แรงงานมีความเปราะบางมากขึ้น ภาครัฐจึงจำเป็นต้องมีมาตรการช่วยเหลือที่เข้มข้นกว่าการช่วยเหลือจากการระบาดในระลอกที่ผ่านมา เช่น การช่วยสนับสนุนค่าจ้างบางส่วนให้กับผู้ประกอบการเพื่อรักษาการจ้างงาน รวมทั้งให้เงินอุดหนุนเพิ่มเติมแก่แรงงานผู้ประกอบอาชีพอิสระซึ่งไม่สามารถทำงานได้ตามปกติจากมาตรการควบคุมการระบาด หรือมีความจำเป็น ต้องกักตัว

การปรับตัวของแรงงานที่ได้รับผลกระทบทั้งในกลุ่มที่เคยทำงานมาก่อน และผู้จบการศึกษาใหม่ จากผลกระทบของการแพร่ระบาดโควิด-19 ตั้งแต่ปี 2563 ทำให้แรงงานเคลื่อนย้ายกลับสู่ภูมิลำเนาซึ่งมีทั้งแรงงานถูกเลิกจ้างและกำลังแรงงานใหม่ที่เข้าสู่ตลาดแรงงาน ส่งผลให้ ผู้ว่างงานในแต่ละภูมิภาคมีจำนวนเพิ่มขึ้น

ความสามารถในการรับมือการระบาดของแรงงานในรอบปัจจุบันลดลง สะท้อนจากข้อมูลยอดคงค้างเงินฝากต่อบัญชีที่มีมูลค่าต่ำกว่า 50,000 บาท มีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง แสดงให้เห็นว่าคนเริ่มนำเงินเก็บออกมาใช้มากขึ้น

ขณะเดียวกันพบว่า ผู้ที่ว่างงานหางานลดลง เนื่องจากมีความกังวลต่อสถานการณ์และแรงงานที่กลับไปทำงานในภูมิลำเนามีแนวโน้มประกอบอาชีพอิสระเพิ่มขึ้น จึงควรมีแนวทางการส่งเสริมทักษะอาชีพอิสระที่แรงงานสามารถเข้าถึงได้สะดวก และฝึกฝนได้ด้วยตนเอง

TOP เศรษฐกิจ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ