เจาะลึกข้อมูลรถไฟดีเซลรางมือ 2 จากญี่ปุ่น (เคย)ได้มาแล้วใช้งานได้จริงหรือไม่


โดย PPTV Online

เผยแพร่




เปิดข้อมูลรถไฟเก่าจาก JR-West และ JR-Hokkaido ประเทศญี่ปุ่น มีใช้งานจริงในปัจจุบัน ในรูปแบบขบวนท่องเที่ยว และ ขบวนเฟิร์สคลาส ครม.ก็เคยขึ้น มาแล้ว

ประเด็นเรื่องที่บริษัทให้บริการรถไฟในประเทศญี่ปุ่น JR-Hokkaido มอบรถดีเซลรางมือ 2 มาให้ไทย แบบให้เปล่าโดยที่การรถไฟแห่งประเทศไทย(ร.ฟ.ท.) ต้องจ่ายค่าขนส่งมูลค่า 42 ล้านบาทเอง ทำให้ถูกตั้งคำถามว่า รถไฟเก่าเหล่านี้ยังสามารถใช้งานได้ดีหรือไม่ ทีมข่าว พีพีทีวีออนไลน์ รวบรวมข้อมูลพบว่า รถไฟมือ 2 ที่เคยได้รับมาฟรีล้วนแต่มาจากประเทศญี่ปุ่นทั้งหมด รับครั้งแรกจาก JR-WEST เมื่อปี 2541 และยังใช้งานอยู่ คือ ขบวนรถไฟ Prestige รับรองบุคคลสำคัญระดับผู้นำประเทศมาหลายครั้ง ส่วนของ JR-Hokkaido อยู่ระหว่างปรับปรุง

ร.ฟ.ท.แจงญี่ปุ่นให้รถไฟดีเซลรางฟรี 17 คัน จ่ายแค่ค่าขนย้ายเอง

เผยโฉมร่างแบบปรับปรุงรถไฟเก่าญี่ปุ่นแปลงเป็นรถไฟท่องเที่ยว

ในปี พ.ศ. 2541 ร.ฟ.ท.รับมอบรถไฟมิตรภาพจาก JR-WEST เนื่องจากบริษัท JR-WEST Railway Company ประเทศญี่ปุ่น ได้เปลี่ยนแปลงการให้บริการรถโดยสาร โดยใช้รถไฟฟ้าทำการแทนทั้งหมด บริษัท JR-WEST จึงได้มอบรถโดยสาร ซึ่งเป็นรถปรับอากาศทั้งหมดให้แก่การรถไฟฯจำนวน 54 คัน เป็นรถโดยสาร 28 คัน และรถดีเซลราง 26 คัน โดยไม่คิดมูลค่า เพื่อให้การรถไฟฯ นำมาใช้บริการในขบวนรถชานเมือง ประกอบกับในปี 2541 ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาเอเซียนเกมส์ จึงได้นำรถกลุ่มนี้มาบริการขนส่งผู้โดยสารที่เดินทางไปชมการแข่งขันกีฬาด้วย

การรถไฟฯ นำรถไฟจาก JR-WEST มาปรับปรุงและดัดแปลงเป็นรถโดยสาร และรถจัดเฉพาะ เช่น รถ SRT Prestige รถไฟระดับเฟิร์สคลาส รถประชุมปรับอากาศ ซึ่งรถไฟขบวนนี้ให้บริการแก่คณะรัฐมนตรีที่เดินทางด้วยรถไฟและมีการประชุมครม.สัญจรหลายครั้ง นอกจากนี้ยังให้บริการแก่ประชาชนทั่วไปในรูปแบบของขบวนรถท่องเที่ยว และ ขบวนวีไอพี 

สำหรับรถไฟเฟิร์สคลาส มีทั้งหมด 4 โบกี้ ประกอบด้วยห้องประชุม ห้องนอน ห้องอาหารและรถเสบียงที่แบ่งเป็นห้องครัวร้อนและครัวเย็น ภายในตกแต่งด้วยโทนสีเป็นวัสดุไม้หรูหรา เหมาะสำหรับเดินทาง เพื่อประชุม สัมมนาย่อย ท่องเที่ยวทั่วประเทศ

ค่าเช่าระยะทาง 1-500 กิโลเมตรรถเสบียงปรับอากาศแบบไปกลับราคา 104,000 บาท รถนอนหรือรถประชุม เช้าคันเดียวไป-กลับราคา 108,000 บาท เช่าควบกับรถเสบียงไปกลับ 212,000 บาท ระยะทางตั้งแต่ 501 กิโลเมตรขึ้นไป รถเสบียงปรับอากาศ 168,000 บาท รถประชุมรถนอนปรับอากาศ ไป-กลับ 172,000 บาทถ้าเช่าแบบคันเดียว แต่ถ้าเช่าแบบควบกับรถเสบียง ไป-กลับอยู่ที่ 340,000 บาท 

นอกจาก SRT Prestige แล้ว ร.ฟ.ท.ยังมีขบวนพิเศษอีก 2 ขบวน คือ SRT VIP Train และ OTOP Train โดยขบวน SRT VIP Train เป็นขบวน 3 โบกี้ เหมาะกับการเดินทางเป็นหมู่คณะ รองรับได้ 40 คน ประกอบด้วย รถประชุม รถนอนและรถเสบียงครัวร้อน

 ส่วน OTOP Train เป็นรถโดยสารพิเศษเพื่อการท่องเที่ยวมี 2 โบกี้ ภายนอกตกแต่งเป็นลวดลายสถานที่ท่องเที่ยว โบกี้แรกเป็นส่วนเคบินห้องโดยสารจุได้ 70 ที่นั่ง ปรับเอนนอนได้ และโบกี้ 2 แบ่งเป็นห้องคาราโอเกะ ห้องโดยสาร และมินิบาร์จุได้อีก 40 ที่นั่ง อัตราค่าบริการสำหรับระยะทาง 1-500 กม.แบบไปกลับ 2 คัน 256,000 บาท ระยะทาง 501 กิโลเมตรขึ้นไป รถ 2 คันราคาไป-กลับ 404,000 บาท 

ในปีงบประมาณ 2562 การรถไฟฯ มีรายได้จากการให้เช่ารถไฟเฟิร์สคลาส และ รถขบวนพิเศษรวมกว่า 10 ล้านบาท ส่วนปีงบประมาณ 2563 เผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 รายได้ลดลงมาเหลือ 5 ล้านกว่าบาท

สำหรับ JR Hokkaido มอบรถไฟดีเซลรางให้กับ การรถไฟฯ 2 ครั้ง ครั้งแรก ส่งมอบเมื่อเดือนตุลาคม 2561 จำนวน 10 ตู้ อยู่ระหว่างกระบวนการปรับปรุงดัดแปลงเพื่อใช้สำหรับเป็นขบวนรถด้านการท่องเที่ยวแล้ว โดยการออกแบบ ใน 1 ขบวน มีตู้โดยสาร 5 คัน แบ่งเป็นรถนั่งทั่วไป 3 คัน รถสำหรับครอบครัว 1 คัน และรถพักผ่อน 1 คัน ซึ่งการออกแบบและสีสันจะเป็นไปตามลักษณะของเส้นทางที่ให้บริการของรถไฟท่องเที่ยวขบวนนั้นๆ เช่นองค์พระปฐมเจดีย์ จ.นครปฐม ซึ่งรถไฟทั้ง 10 ตู้ จะสามารถนำออกให้บริการได้ในช่วงประมาณปี 2565

ส่วนครั้งที่ 2 JR Hokkaido มอบให้ 17 คัน เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2564 อยู่ระหว่างรอการขนส่ง หลังเปิดประมูลจัดหาบริษัทที่ทำหน้าที่ขนส่งมาจากประเทศญี่ปุ่น

ประเด็นที่สังคมให้ความสนใจ ว่า รถไฟที่ JR Hokkaido ปลดระวางตั้งแต่ปี 2559 ยังใช้ได้อยู่หรือไม่ ประเด็นนี้ แฟนเพจ “Thailand Transportation” แอดมินที่เคยนั่งรถไฟขบวนนี้เผยแพร่ข้อมูลในฐานะผู้มีประสบการณ์ที่เคยนั่งรถไฟแบบเดียวกันมาก่อนว่า

“ก่อนที่มันจะส่งมาไทยมันคือยังวิ่งให้บริการอยู่ แต่ที่ต้องปลดระวาง เนื่องจากมีขบวนรถดีเซลรางรุ่นใหม่ๆ มาทดแทน”

แอดมินเล่าว่า นั่งรถไฟขบวนนี้เมื่อเดือนเม.ย.2559 ที่สถานีAsahikawa กำลังจะทำขบวนรถด่วนจาก Asahikawa ไป Sapporo ระยะทางประมาณ140 km. มีระยะทางรวมไปถึง Sapporo รวม300 กว่ากิโลเมตร ไม่มีเสียกลางทาง ถึงSapporo ตรงเวลา

สภาพภายใน ทั้งตัวเบาะ เก้าอี้ที่นั่ง ห้องน้ำ ยังดูดี (เบาะสวยกว่ารถดีเซลรางแดวูของไทยมาก) มาตรฐานการดูแล-บำรุงรักษาของญี่ปุ่น ก็อยู่ในระดับที่ดีกว่าไทยหลังจากนั้นประมาณ 1 ปีก็หยุดให้บริการ จนลากมาจอดที่ท่าเรือ รอขนส่งมาไทย ส่วนที่เห็นเป็นคราบสนิม ก็ต้องมีบ้างจากการตากแดด ตากฝน มาถึงไทยปรับปรุงอีกเล็กน้อย ก็นำออกให้บริการได้ พร้อมกับบอกด้วยว่ารถไฟแบบนี้ มือ1 มีงบไม่ต่ำกว่าคันละ 30-40 ล้านบาท

สำหรับรถดีเซลรางรุ่น KiHa 183 ของ JR Hokkaido คันแรกถูกสร้างขึ้นในปี 2522 ได้รับการออกแบบโดยคำนึงถึงสภาพอากาศหนาวเย็นของฮอกไกโด ผ่านการทดสอบเป็นเวลา 1 ปีครึ่งก่อนจะเข้าประจำการในปี 2524 รถไฟรุ่นนี้บางคันถูกนำมาปรับปรุง ต่อเติมเรื่อยๆ เช่น เสริมชั้น 2 หรือทำเป็นรถไฟรีสอร์ท โดยมีบางคันที่ได้รับการตกแต่งใหม่ยังคงให้บริการอยู่ในญี่ปุ่น ขณะที่บางคันถูกปลดระวางและเก็บรักษาไว้หรือบริจาคให้กับการรถไฟต่างประเทศ

 

ที่มา : ข้อมูลจากแฟนเพจ Thailand Transportation ,www.posttoday.com,www.thansettakij.com

แอบอ้างเส้นตำรวจ ฉีดวัคซีนเข็ม 3 "นางแบบเซ็กซี่" ยอมรับ ถูกดำเนินคดี

แรดตัวเมียตกใจตัวผู้ วิ่งหนีจมน้ำตายในสวนสัตว์ดัตช์

 

TOP เศรษฐกิจ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ