ปมผิดนัดจ่ายหนี้ เอเวอร์แกรนด์ (Evergrande) อสังหาฯ ยักษ์จีน สะเทือนการลงทุนโลก


โดย PPTV Online

เผยแพร่




ปมผิดนัดจ่ายหนี้ เอเวอร์แกรนด์ อสังหาฯ ยักษ์ของจีนสะเทือนการลงทุนโลก ล่าสุดผิดนัดชำระหนี้หุ้นกู้ 2 งวดที่มีกำหนดชำระเมื่อวันที่ 23 ก.ย.ที่ผ่านมา ทั่วโลกเฝ้าจับตาหวั่นกระทบเศรษฐกิจจีน ด้านแบงก์ชาติมองกระทบไทยน้อย แต่ใช้เป็นกรณีศึกษาติดตามความเสี่ยงบริษัทใหญ่ในไทย เบื้องต้น จับตา 30 บริษัท

ข่าวใหญ่ในวงการธนาคารกลางคงหนีไม่พ้นการที่ธนาคารกลางจีน (PBOC) อัดฉีดเงิน 9 หมื่นล้านหยวน (1.4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ) เข้าสู่ระบบการเงินผ่านธุรกรรมในตลาดซื้อคืนพันธบัตร โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อดูแลไม่ให้เกิดภาวะสภาพคล่องตึงตัวจากข่าวปัญหาฐานะทางการเงินที่ง่อนแง่นของ บริษัท ไชน่า เอเวอร์แกรนด์ (China Evergrande)

อัปเดตโควิดวันนี้ยังทรงตัว ติดเชื้ออีก 12,353 เสียชีวิต 125 คน เปิด 10 จังหวัดติดเชื้อสูง ใต้ -ตะวัน...

ฤทธิ์พายุ “เตี้ยนหมู่” น้ำท่วมหลายจังหวัด “พล.อ.ประวิตร” สั่งด่วนทุกหน่วยงานรับมือ

ทำความรู้จัก เอเวอร์แกรนด์ (China Evergrande)

 

เอเวอร์แกรนด์ ก่อตั้งโดยมหาเศรษฐีอันดับ 12 ของจีน สวี เจียหยิ่น (Xu Jiayin) เป็นบริษัทอสังหาริมทรัพย์ที่มียอดขายสูงสุดเป็นลำดับสองของจีน มีโครงการกว่า 1,300 โครงการใน 280 เมือง และเป็นบริษัทเอกชนที่ได้ชื่อว่ามีหนี้มากที่สุดในโลกที่ 1.97 ล้านล้านหยวน คิดเป็นเงินไทยประมาณ 10 ล้านล้านบาท มากกว่าหนี้สาธารณะของไทยในปัจจุบันที่ประมาณ 9 ล้านล้านบาท

ต่อมา เอเวอร์แกรนด์ ออกแถลงการณ์ก่อนหน้านี้ยอมรับว่าบริษัทกำลังเผชิญปัญหาสภาพคล่อง และอาจไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนด โดยมีตราสารหนี้เชิงพาณิชย์มูลค่ารวม 2.057 แสนล้านหยวน (3.2 หมื่นล้านดอลลาร์) หรือราว 1 ล้านล้านบาท ณ สิ้นปี 2563

ขณะที่ หนี้สินมากกว่า 3 แสนล้านดอลลาร์ หรือราว 10 ล้านล้านบาท เทียบเท่ากับ 2% ของตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของจีน หลังจากที่บริษัทได้ทำการกู้เงินมาเป็นเวลาหลายปีเพื่อรองรับการขยายตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีน

และกรณีดังกล่าว ทำให้ ธนาคารกลางจีนประกาศอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบ 9 หมื่นล้านหยวน (1.4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพื่อหลีกเลี่ยงภาวะสภาพคล่องตึงตัวในระบบหลัง เอเวอร์แกรนด์ ประสบปัญหาสภาพคล่องลดลง และมีความเสี่ยงที่จะเผชิญกับการผิดนัดชำระหนี้

ล่าสุดผิดนัดชำระหนี้แล้ว 2 งวด มีเวลา 30 วัน ระดมทุนก่อนถูกประกาศว่าผิดนัดชำระหนี้

เอเวอร์แกรนด์ ได้ผิดนัดชำระหนี้หุ้นกู้ 2 งวดที่มีกำหนดชำระเมื่อวันที่ 23 ก.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งมีกำหนด ชำระดอกเบี้ยหุ้นกู้ 2 งวดวงเงิน 232 ล้านหยวน หรือราว 35.88 ล้านดอลลาร์สำหรับหุ้นกู้สกุลเงินหยวนที่จะครบกำหนดไถ่ถอนในเดือน ก.ย.2568 รวมทั้งจ่ายดอกเบี้ยอีกก้อนหนึ่งวงเงิน 83.5 ล้านดอลลาร์ ราว 2.7 พันล้านบาท สำหรับหุ้นกู้สกุลดอลลาร์ที่จะครบกำหนดไถ่ถอนในเดือนมี.ค.2565

และกำหนดชำระดอกเบี้ยวงเงิน 47.5 ล้านดอลลาร์ (1.5 พันล้านบาท) ในวันที่ 29 ก.ย.สำหรับหุ้นกู้สกุลดอลลาร์ที่จะครบกำหนดไถ่ถอนในเดือนมี.ค.2567

ซึ่งหลังจากนี้ เอเวอร์แกรนด์ยังคงมีเวลาอีก 30 วันในการหาทางระดมทุน ก่อนที่จะถูกประกาศว่าบริษัทผิดนัดชำระหนี้

ต้องยอมรับว่า การผิดนัดชำระหนี้ของ เอเวอร์แกรนด์ สร้างความกังวลให้กับนักลงทุนทั่วโลก โดยเฉพาะการรับมือกับเรื่องนี้ของรัฐบาลจีน เพราะภาคอสังหาริมทรัพย์ ถือเป็น  ภาคส่วนสำคัญในการขับเคลื่อน เศรษฐกิจจีน 

ผลกระทบโดยตรงต่อนักลงทุนไทย

ตามความเห็นของ ดร.ดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายเสถียรภาพระบบการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย  มองว่า หากเอเวอร์แกรนด์มีการผิดนัดชำระหนี้ ผลกระทบต่อนักลงทุนไทยนั้น มีจำกัดมาก เนื่องจากผลประกอบการของบริษัทย่ำแย่มาสักพักแล้ว และหุ้นกู้ของเอเวอร์แกรนด์ ก็มีอันดับความน่าเชื่อถือต่ำกว่าระดับ Investment grade มาหลายปีแล้วเช่นกัน

กองทุนรวมของไทยจึงมีการไปลงทุนในหุ้นและหุ้นกู้ของเอเวอร์แกรนด์ในมูลค่าที่น้อยมาก อย่างไรก็ดี หากตลาดหุ้นและตลาดตราสารหนี้ของจีนถูกเทขายรุนแรงไปด้วย กองทุนรวมหลายแห่งอาจจะได้รับผลกระทบพอสมควร เพราะจีนเป็นประเทศหลักที่ไทยไปลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศ

แต่เอเวอร์แกรนด์ สามารถเป็นกรณีศึกษาสำหรับการติดตามความเสี่ยงบริษัทใหญ่ในไทย เบื้องต้น 30 บริษัท

บทเรียนสำคัญจากกรณีเอเวอร์แกรนด์ คือ บริษัทขนาดใหญ่ที่มิใช่สถาบันการเงินสามารถส่งผ่านความเสี่ยงต่อเสถียรภาพของระบบการเงินได้ การติดตามสถานะและความเสี่ยงของบริษัทที่มีความสำคัญต่อระบบแบบเอเวอร์แกรนด์ เพื่อให้สามารถตัดไฟตั้งแต่ต้นลมได้ จึงมีความจำเป็นมากในการดูแลเสถียรภาพระบบการเงิน ซึ่งในกรณีนี้ ผมคิดว่าทางการจีนปล่อยให้ปัญหาลุกลามใหญ่โตเกินไป

ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้มีการติดตามและประเมินความเสี่ยงของบริษัทขนาดใหญ่มานานแล้ว โดยในช่วงแรก จะเน้นบริษัทที่กู้ยืมสินเชื่อจากสถาบันการเงินเป็นจำนวนมาก แต่ในระยะหลังที่ตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชนมีขนาดใหญ่ขึ้นมาก ก็จะรวมบริษัทที่มีการออกหุ้นกู้ในปริมาณมากด้วย 

แต่ปัจจุบัน ธปท. มีการติดตามความเสี่ยงของกลุ่มบริษัทขนาดใหญ่ที่มีความสำคัญต่อระบบประมาณ 30 กลุ่มบริษัท โดยใช้ข้อมูลจากงบการเงิน จากสถาบันการเงินที่ปล่อยกู้ จากบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ จากนักวิเคราะห์ รวมถึงจากการพูดคุยกับบริษัทเหล่านี้โดยตรง 

ข่าวดี คือ โอกาสที่กลุ่มบริษัทเหล่านี้จะส่งผลกระทบอย่างมีนัยต่อเสถียรภาพระบบการเงินไทยในระยะหนึ่งปีข้างหน้ามีต่ำมาก ทั้งนี้ ถ้าไม่นับบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) หุ้นกู้ที่ได้รับการจัดลำดับที่ออกโดยกลุ่มบริษัทเหล่านี้ มีอันดับความน่าเชื่อถือในระดับ Investment grade ทั้งหมด

ส่วนในภาพรวม กลุ่มบริษัทเหล่านี้สามารถผ่านพ้นวิกฤตโควิด-19 ไปได้ค่อนข้างดี ถ้าเรานึกถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยแบบรูปตัว K กลุ่มบริษัทเหล่านี้ส่วนใหญ่จะอยู่ในขาที่ชี้ขึ้นของตัว K 

อย่างไรก็ดี การที่กลุ่มบริษัทเหล่านี้ฟื้นตัวได้ค่อนข้างดี หมายความว่า กลุ่มบริษัทเหล่านี้จะทวีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆในระบบเศรษฐกิจไทย มีอำนาจการต่อรองกับสถาบันการเงินที่สูงขึ้น และเป็นที่ต้องการมากขึ้นของนักลงทุน ซึ่งจะยิ่งทำให้กลุ่มบริษัทเหล่านี้สามารถระดมทุนในต้นทุนที่ต่ำได้ง่ายขึ้นไปอีก 

มองในแง่ดี กลุ่มบริษัทขนาดใหญ่ที่เข้มแข็งจะช่วยนำพาการเติบโตของประเทศ แต่มองในแง่ร้าย อำนาจตลาดที่สูงอาจจะนำไปสู่การแข่งขันที่ลดลง และความเสียเปรียบของบริษัทเล็กบริษัทน้อยได้ ที่สำคัญ ในแง่ของเสถียรภาพเศรษฐกิจ ถ้ากลุ่มบริษัทเหล่านี้เกิดปัญหาขึ้นมา จะทำให้เกิดความเสียหายต่อระบบการเงินที่รุนแรงทวีคูณขึ้นไปอีก และยิ่งบริษัทใหญ่ขึ้นเท่าไร บริษัทอาจจะยิ่งระวังตัวเองน้อยลง เพราะเชื่อว่า ถ้าใหญ่ถึงระดับ Too big to fail แล้ว สุดท้ายภาครัฐต้องเข้ามาอุ้ม 

การติดตามความเสี่ยงของกลุ่มบริษัทขนาดใหญ่ที่มีความสำคัญต่อระบบ การชั่งน้ำหนักระหว่างมาตรการเพื่อจำกัด Exposure ของระบบสถาบันการเงินกับประโยชน์ที่ประเทศจะได้รับจากการลงทุนของกลุ่มบริษัทเหล่านี้ และการจำกัดไม่ให้ปัญหาฐานะทางการเงินของกลุ่มบริษัทเหล่านี้ถ้าเกิดขึ้นกระทบระบบการเงินในวงกว้าง จึงเป็นความท้าทายที่สำคัญของผู้ดำเนินนโยบายในระยะต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโลกหลังโควิด-19 ที่ Disruption ของธุรกิจสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา

ทั่วโลกจับตาใกล้ชิดหวั่นผลกระทบการลงทุนและเศรษฐกิจจีน

แน่นอนว่าธนาคารกลางทั่วโลก รวมถึง ไอเอ็มเอฟ เอง ต่างจับตาการผิดนัดชำระหนี้ของเอเวอร์แกรนด์อย่างใกล้ชิด เนื่องจากตลาดเงินทั่วโลกมีความเชื่อมโยงกันและอาจส่งผลกระทบถึงกันได้ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง  

กิตา โกปินาธ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ IMF ระบุว่า การผิดนัดชำระหนี้ของเอเวอร์แกรนด์ อาจส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจและเสถียรภาพทางการเงินของจีน "เรากำลังติดตามสถานการณ์ในจีนอย่างใกล้ชิด" แต่ยังเชื่อว่าจีนมีเครื่องมือและนโยบายเพื่อป้องกันไม่ให้เรื่องนี้กลายเป็นวิกฤติเชิงระบบ

คริสติน ลาการ์ด ประธานธนาคารกลางยุโรป (ECB) เชื่อว่า  การผิดนัดชำระหนี้ของเอเวอร์แกรนด์จะส่งผลกระทบโดยตรงกับยุโรปเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ซึ่งจีนจะเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบไปเต็มๆ แต่สำหรับยุโรปเชื่อว่าผลกระทบเพียงเล็กน้อย

เจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมนโยบายการเงินเมื่อวานนี้ (22 ก.ย.) ว่า การผิดนัดชำระหนี้ของบริษัทอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่อันดับสองของจีนรายนี้จะไม่ส่งผลกระทบโดยตรงกับสหรัฐ แต่ก็อาจจะส่งผลกระทบต่อภาวะการเงินทั่วโลก แต่จะส่งผลกระทบต่อจีนมากเป็นพิเศษ และอาจส่งผลกระทบต่อภาวะการเงินโลกในแง่ของการที่ประชาชนขาดความเชื่อมั่น

หลี่ เต้าคุย อดีตที่ปรึกษาของธนาคารกลางจีน (PBOC) มองว่า วิกฤตของเอเวอร์แกรนด์จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ โดยการพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์หลายแห่งจะชะลอตัวลง แต่ในส่วนของภาคการเงินจะส่งผลกระทบไม่มาก เพราะ เอเวอร์แกรนด์ไม่มีหนี้สินในรูปของตราสารอนุพันธ์

พาเหรดหั่นจีดีพีจีน - ลดอันดับความน่าเชื่อถือ จากปัญหาเอเวอร์แกรนด์ 

ฟิทช์ เรทติ้งส์ ระบุว่า เศรษฐกิจจีนฟื้นตัวจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้อย่างรวดเร็ว แต่รัฐบาลออกมาตรการใหม่เพื่อควบคุมบริษัทอสังหาริมทรัพย์ ส่งผลให้ภาคอสังหาริมทรัพย์ชะลอตัว และเป็นสาเหตุให้บริษัทเอเวอร์แกรนด์มาถึงจุดวิกฤต เนื่องจากการลงทุนด้านที่อยู่อาศัยคิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 10% ของตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของจีน และการชะลอตัวของการทำธุรกรรมในตลาดอสังหาริมทรัพย์ได้ลุกลามไปยังอุตสาหกรรมประเภทอื่น ๆ ของจีน

ส่งผลให้ ฟิทช์ เรทติ้งส์ ปรับลดคาดการณ์ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของจีนในปีนี้ลงสู่ระดับ 8.1% จากระดับ 8.4% 

ขณะที่ แบงก์ ออฟ อเมริกาได้ปรับลดคาดการณ์ตัวเลข GDP ปีนี้ของจีนลงสู่ระดับ 8% จากระดับ 8.3%

นอกจากนั้นแล้ว เอสแอนด์พี โกลบอล เรทติ้งส์ (S&P) ยังประกาศลดอันดับความน่าเชื่อถือของเอเวอร์แกรนด์ลงสู่ระดับ CC จากระดับ CCC โดยให้แนวโน้มการจัดอันดับความน่าเชื่อถือเป็นลบ เนื่องจากสภาพคล่องของเอเวอร์แกรนด์ลดน้อยลง และบริษัทมีความเสี่ยงที่จะเผชิญกับการผิดนัดชำระหนี้ ซึ่งรวมถึงความเป็นไปได้ที่จะมีการปรับโครงสร้างหนี้

เอเวอร์แกรนด์ นับเป็นบริษัทที่เราเรียกว่า บริษัทที่มีความสำคัญต่อระบบ (Systemically important corporation) หรือพูดง่ายๆว่า เป็นบริษัทที่ล้มแล้วจะส่งผลกระทบในวงกว้างต่อระบบสถาบันการเงิน และ/หรือตลาดทุน 

เรียบเรียงจาก  : ​วิกฤต Evergrande: กรณีศึกษาสำหรับผู้ดำเนินนโยบายไทย / CNBC / reuters / 

TOP เศรษฐกิจ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ