ฟังผู้เชี่ยวชาญวิเคราะห์ “ราคาน้ำมันไทย” แพงจริงหรือ? เพราะอะไร?


โดย PPTV Online

เผยแพร่




คณะผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานและเชื้อเพลิงวิเคราะห์ปัญหาราคาน้ำมันไทย ชี้มีข้อจำกัดและเสนอทางออก

จากกรณีที่มีเสียงร้องเรียนและวิพากษ์วิจารณ์เรื่องราคาน้ำมันในประเทศไทยที่ปรับตัวสูงขึ้น จนเกิดข้อสงสัยตามมาว่า ราคาน้ำมันไทยแพงจริงมั้ย? และแพงเพราะอะไร?

ล่าสุด สมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ ได้จัดงานสัมมนาออนไลน์เรื่อง “เจาะลึกราคาน้ำมันไทย แพงจริงหรือ?” โดยมีคณะผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับน้ำมันของไทยร่วมอธิบายและแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ในปัจจุบัน

"ศักดิ์สยาม" จ่อชง นายกฯ เคลียร์ปมน้ำมันแพง

กบง. มีมติใช้กองทุนฯตรึง “ดีเซล” 30บาท/ลิตร จ่อกู้เงินเพิ่ม หากน้ำมันโลกพุ่งต่อ

ราคาน้ำมันไทย แพงเพราะปรับราคาเอง จริงหรือ?

คุณกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน อธิบายว่า ประเทศไทยนั้นมีสัดส่วนการนำเข้าน้ำมันเกือบ 90% ผลิตเองได้เพียงบางส่วน “เรามีการจัดหาน้ำมันดิบ 965,000 บาร์เรลต่อวัน ทั้งจากตะวันออกกลาง มาเลเซีย อินโดนีเซีย สหรัฐฯ หรือรัสเซีย เราผลิตเองได้เพียง 11% หรือประมาณ 1 แสนบาร์เรลต่อวัน เมื่อเรามีการนำเข้าเป็นหลัก ราคาน้ำมันในประเทศจึงเปลี่ยนตามราคาในตลาดโลกและตลาดเอเชีย”

ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ในช่วงที่ผ่านมา หลายประเทศที่เคยส่งออกน้ำมันดิบ ก็ปรับลดกำลังการผลิต จนเมื่อสถานการณ์ในหลายพื้นที่เพิ่มกลับสู่สภาวะปกติ ความต้องการเชื้อเพลิงเริ่มกลับมาสูงขึ้น แต่กำลังการผลิตกลับยังไม่ปรับกลับมาเท่าเดิม ความต้องการที่สูงในสินค้าที่มีจำกัด จึงเป็นปัจจัยหนึ่งที่ผลักให้ราคาน้ำมันโลกพุ่งสูง จนอยู่ในระดับ 80-90 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล (ราว 2,600-3,000 บาท)

คมนาคม รับแก้ไขขึ้นค่าทางด่วนไม่ได้ ออกคูปอง แก้ปัญหาขึ้นราคา

สำหรับราคาน้ำมันขายปลีกหรือราคาหน้าปั๊มน้ำมันนั้น จะคำนวณจากราคาหน้าโรงกลั่น หรือต้นทุนราคาน้ำมันสำเร็จรูปที่ผลิตจากโรงกลั่น ซึ่งอ้างอิงราคาตามตลาดกลางภูมิภาคเอเชีย บวกกับภาษีสรรพสามิต ตกประมาณ 5.99 บาท ซึ่งภาษีส่วนนี้มีการเก็บมาตลอด แต่อัตราจะเพิ่มลดตามสถานะทางการคลังของประเทศ ยังมีภาษีเทศบาล/ภาษีท้องถิ่น อยู่ประมาณ 10% ของภาษีสรรพสามิต หรือเท่ากับ 60 สตางค์ บวกภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) อีก 7% ของภาษีสรรพสามิต ประมาณ 40 สตางค์ บวกเข้ามา และมีการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงและกองทุนเพื่อการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน 10 สตางค์

ปัจจุบันค่าการตลาดจากการขายปลีกน้ำมัน (ต้นทุน ค่าใช้จ่าย และกำไรของธุรกิจค้าปลีกน้ำมัน) อยู่ที่ช่วงระหว่าง 70 สตางค์ ถึง 1.20 บาท ซึ่งคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) กำหนดไว้ที่ 1.40 บาท ก็ยังถือว่าอยู่ในช่วงตัวเลขดังกล่าว

ในส่วนกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงนั้น คุณกุลิศอธิบายว่า กองทุนเชื้อเพลิงเกิดขึ้นตาม พรก.แก้ไขน้ำมันขาดแคลน พ.ศ. 2516 เพื่อตรึงราคาน้ำมันช่วยประชาชน ถ้าน้ำมันมีราคาสูง จนปี พ.ศ. 2562 ยกเลิกเปลี่ยนเป็น พรบ.กองทุนเชื้อเพลิง

กองทุนฯ เป็นกลไกลดผลกระทบเมื่อราคาน้ำมันโลกสูง รัฐบาลจะใช้กองทุนมาชดเชยให้ผู้ค้าน้ำมัน เพื่อตรึงราคา อย่างที่กำลังทำอยู่ในปัจจุบัน ที่ตรึงราคาน้ำมันดีเซลไว้ที่ไม่เกิน 30 บาท จนกว่าราคาน้ำมันโลกจะลดลง ปัจจุบันประเทศไทยเหลือเงินในกองทุนประมาณ 7 พันล้านบาท ซึ่งจะตรึงราคาต่อไปได้จนถึงเดือน ม.ค. ปีหน้า แต่กำลังยื่นเรื่องขออนุมัติกู้ 2 หมื่นล้านบาท เพื่อในสถานการณ์เลวร้าย จะสามารถตรึงราคาน้ำมันได้ถึงเดือน เม.ย.-พ.ค. ปีหน้า

โดยช่วงนี้งดการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงชั่วคราวแล้ว ส่วนกองทุนเพื่อการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน กำลังจะมีการประชุมลดการเก็บเงินเข้ากองทุนจาก 10 สตางค์ให้เหลือ 5 สตางค์

“ในส่วนของน้ำมันดีเซลในต่างประเทศ สิงคโปร์อยู่ที่ 52 บาทต่อลิตร สปป.ลาวอยู่ที่ 30 บาทต่อลิตร กัมพูชา 30 บาทต่อลิตร เมียนมา 27 บาทต่อลิตร อินโดนีเซีย 27 บาทต่อลิตร เวียดนาม 24 บาทต่อลิตร มาเลเซีย 17 บาทต่อลิตร ซึ่งในประเทศที่ราคาค้าปลีกน้ำมันถูก เพราะเขาผลิตได้เอง และเราต้องบวกภาษีด้วย” คุณกุลิศบอก

ส่วนในเรื่องการตรึงราคาน้ำมันดีเซลให้อยู่ต่ำกว่า 25 บาทต่อลิตรตามข้อเรียกร้องของกลุ่มผู้ประกอบการและคนขับรถบรรทุกนั้น คุณกุลิศบอกว่า จะต้องใช้งบประมาณถึง 1.2 หมื่นล้านบาทต่อเดือน จึงเป็นเรื่องที่ไม่สามารถทำได้

เมื่อราคาน้ำมันไทยเป็นผลมาจากราคาน้ำมันโลก คุณดิษทัต ปันยารชุน รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ หน่วยธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ก็ได้อธิบายเพิ่มเติมว่า สถานการณ์การผลิตน้ำมันโลกอยู่ในขั้นวิกฤตในปัจจุบัน โดยเฉพาะการประชุมแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศ COP26 ที่กำลังดำเนินอยู่ในขณะนี้ และกระแสของมหาอำนาจ เช่น สหรัฐฯ หรือจีน ที่ประกาศเห็นชอบลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเท่ากับการใช้น้ำมันที่เป็นเชื้อเพลิงฟอสซิลจะถูกลดความสำคัญลง ก็เป็นปัจจัยที่กดดันราคาน้ำมันโลก

พลังงาน ยอมรับลดดีเซลเหลือ 25 บาทไม่ได้

“ไตรมาส 4 ปีนี้ถึงต้นปีหน้า ความต้องการจะสูงขึ้น โดยเฉพาะเมื่อเข้าหน้าหนาว พรุ่งนี้ (4 พ.ย.) กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (OPEC) จะมีการหารือว่าจะเพิ่มอัตราการผลิตน้ำมันหรือไม่” คุณดิษทัตบอก

โดยหากอัตราการผลิตน้ำมันอยู่ในระดับเท่าเดิม หรือน้อยลง หรือเพิ่มขึ้นไม่มาก โอกาสที่ราคาน้ำมันโลกจะลดลงก็เกิดขึ้นได้น้อย

ส่วนในประเด็นที่ว่า มีโอกาสที่ราคาน้ำมันโลก จะขึ้นไปแตะถึงระดับ 100 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล (ราว 3,600 บาท) หรือไม่นั้น คุณดิษทัตมองว่า “มีความเป็นไปได้” เพราะทรัพยากรมีจำกัดแต่ความต้องการสูง

ด้าน ดร.คุรุจิต นาครทรรพ ผอ.สถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย สรุปให้เข้าใจโดยง่ายว่า สาเหตุที่คนมองว่าราคาน้ำมันไทยแพง มีดังนี้

  1. ต้นทุนแพง ราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับขึ้นสูงมาก
  2. การขายปลีกน้ำมันในประเทศไทยมีกลไกการเก็บภาษีสรรพสามิต ภาษีเทศบาล/ท้องถิ่น VAT และการเก็บเงินเข้ากองทุน
  3. กฎหมายประเทศเพื่อความมั่นคงทางเชื้อเพลิง ผู้ค้าที่นำเข้าน้ำมัน จะต้องสำรองน้ำมันไว้ 4-6% ห้ามเอาไปขาย กลายเป็นต้นทุนที่เป็นภาระของผู้ผลิต
  4. น้ำมันเชื้อเพลิงประเทศไทยมีการผสมน้ำมันปาล์มในดีเซล หรือสารชีวภาพในน้ำมันกลุ่ม E และ B ทั้งหลาย ยิ่งผสมมากยิ่งแพง ซึ่งหากจะไม่ผสม ก็จะไปขัดนโยบายเดิมที่ช่วยสนับสนุนผลผลิตเกษตรกรมาใช้ในด้านเชื้อเพลิง
  5. น้ำมันในไทยมีมาตรฐานสิ่งแวดล้อม ลดกำมะถัน ลดสารไอระเหยที่เป็นอันตราย โรงกลั่นต้องลงทุนปรับคุณภาพ ทำให้น้ำมันบ้านเราคุณภาพสูงกว่าเพื่อนบ้าน และกกับต้นทุนที่เพิ่มขึ้น
  6. ค่าเงินบาทอ่อนตัวตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว เป็น 30 บาทต่อดอลลาร์ เดือนที่แล้วเกือบ 34 บาทต่อดอลลาร์ ถึงราคาน้ำมันโลกไม่ขึ้น ค่าเงินก็เปลี่ยนอยู่แล้ว

ดร.คุรุจิตมองว่า ถ้าลดภาษีหรือการผสมสารชีวภาพลงไปได้ อาจลดค่าน้ำมันหน้าปั๊มได้ถึง 10 บาท แต่ในความเป็นจริงอาจทำไม่ได้

ศ.ดร.พรายพล คุ้มทรัพย์ นักวิชาการอิสระอธิบายในประเด็นดังกล่าวว่า “ภาษีสรรพสามิต ถ้าลดภาษี 5 บาท ก็ปรับราคาน้ำมันได้ 25 บาทพอดี ฟังดูง่าย แต่เงินภาษีรัฐบาลจะหายไป 1 หมื่นล้านบาทต่อเดือน ปีหนึ่ง 1.2 แสนล้านบาท รัฐบาลตอนนี้เรียกได้ว่ากรอบเลย เก็บภาษีไม่เข้าเป้ายังต้องไปกู้เงินมาอีก” แต่ถ้าลดภาษีลง 1-2 บาท อาจจะพอเป็นไปได้

อีกหนึ่งประเด็นที่ อ.พรายพล พูดถึงคือ การที่น้ำมันราคาถูก อาจขัดต่อแนวทางลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในอนาคต เพราะหากน้ำมันราคาถูก คนก็จะใช้น้ำมันไปเรื่อย ๆ ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพิ่งประกาศในการประชุม COP26 ไปว่า ประเทศไทยจะลดการปล่อยคาร์บอนให้เป็นกลางให้ได้ภายในปี 2050 หรืออีก 29 ปีข้างหน้า การปล่อยให้ราคาน้ำมันในไทยผันแปรไปตามราคาตลาดโลก อาจดีต่อประเทศและโลกในระยะยาวมากกว่า

“ในระยะยาว เราต้องการให้มีการใช้น้ำมันอย่างมีประสิทธิภาพ เรากำลังผลักดันให้ประเทศไปสู่ประเทศคาร์บอนต่ำ ในอีก 20-30 ปี ‘ปริมาณการใช้น้ำมัน’ ต้องลดลง เราก็ไม่อยากให้ราคาถูกเกินไปจนคนไม่มูฟออนไปใช้เชื้อเพลิงพลังงานสะอาด ต้องคำนึงถึงลูกหลาน ถึงโลกส่วนรวมด้วย” อ.พรายพลกล่าว

ดังนั้น ถึงที่สุดแล้ว นี่จึงเป็นจุดที่รัฐบาลไทยต้องชั่งใจว่า จะดำเนินมาตรการอย่างไรต่อไปที่จะทำให้ทุกฝ่ายพึงพอใจ โดยต้องเป็นจุดที่รัฐบาลเองยังมีรายได้จากภาษีเพียงพอ เกษตรกรไม่เสียผลประโยชน์ ประชาชนและผู้ประกอบการที่ต้องใช้รถใช้น้ำมันพอใจในราคาหน้าปั๊ม

ไทยพาณิชย์ ซื้อกิจการ “บิทคับ” ถือหุ้น 51% มูลค่า 17,850 ล้านบาท คาดแล้วเสร็จต้นปี'65

และเพื่อเป้าหมายระยะยาวในประเด็นสภาพภูมิอากาศโลก อาจถึงเวลาแล้วหรือไม่ ที่รัฐบาลต้องเร่งการพัฒนาเทคโนโลยีเชื้อเพลิงพลังงานสะอาด/หมุนเวียนให้ทันกับเป้าหมายลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลย่างน้ำมัน และต้องพยายามสื่อสารให้ประชาชนเข้าใจถึงความสำคัญของการลดใช้น้ำมัน รวมถึงต้องมีนโยบายรองรับช่วยเหลือประชาชนในความเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้น

 

ภาพจาก AFP / Getty Image

TOP เศรษฐกิจ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ