ทำความรู้จัก “Pet Humanization” กับโอกาสทางธุรกิจ เมื่อสัตว์เลี้ยงคือ“ครอบครัว”


โดย PPTV Online

เผยแพร่




คาดการณ์ปรากฏการณ์ “Pet Humanization” ทำให้มูลค่าตลาดธุรกิจเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงโลกปี 2026 สูงถึง 6.9 ล้านล้านบาท

ผลพวงของการระบาดของโควิด-19 ทำให้คนเรามองหากิจกรรมคลายเครียดเมื่อต้องใช้ชีวิตและกักตัวอยู่ที่บ้านนานๆ ซึ่งหนึ่งในนั้น คือ การเลี้ยงสัตว์เลี้ยง  โดยจากข้อมูลของ The American Pet Products Association (APPA) ระบุว่า ในปี 2021 สัดส่วนครอบครัวชาวอเมริกันที่มีสัตว์เลี้ยง (Pet Ownership) จะเพิ่มขึ้นเป็น 70% จากเฉลี่ยที่ 67% ในช่วงปี 2018-2020 โดยเฉพาะสุนัข และแมวที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นมากกว่าประเภทอื่น จนกลายเป็นปรากฎการณ์ “Pet Humanization”
ธุรกิจคิดนอกกรอบ : Pet Paradise Spa
เปิดใจเจ้าของธุรกิจเงินล้าน "ฌาปนกิจสัตว์เลี้ยง" (คลิป)

ทำความรู้จัก “Pet Humanization”
"Pet Humanization" โดยทั่วไปจะหมายถึงพฤติกรรมการเลี้ยงของเจ้าของที่เลี้ยงดูสัตว์เลี้ยงของตัวเองเสมือนลูก หรือเป็นหนึ่งในสมาชิกของครอบครัว หรือที่เรียกว่า “Pet Parents” พร้อมทุ่มเท ทั้งเงิน และการเลี้ยงดู จนแทบไม่ต่างจากมนุษย์

ซึ่งจะแตกต่างจาก “เจ้าของสัตว์เลี้ยง” ที่มีทัศนคติต่อสัตว์เลี้ยงของตัวเองว่าเป็นเพียงสัตว์เลี้ยง นั่นคือ จะเลี้ยงสัตว์เลี้ยงไว้เพื่อไว้ใช้งานหรือต้องการประโยชน์บางอย่างจากสัตว์เลี้ยง เช่น เลี้ยงไว้เพื่อเฝ้าบ้าน และมีรูปแบบการเลี้ยงเป็นไปแบบง่ายๆ

สำหรับ "Pet Humanization" มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยและต่อเนื่อง โดยผลการสำรวจของ Morgan Stanley Research ชี้ว่า
-เกือบ 70% ของผู้เลี้ยงสัตว์ในปัจจุบันให้ความสำคัญกับสัตว์เลี้ยงของตัวเองเสมือนสมาชิกในครอบครัว
-66% ของผู้เลี้ยงมีความรักความผูกพันกับสัตว์เลี้ยงของตัวเองมาก
-47% ของผู้เลี้ยงยังเลี้ยงสัตว์เลี้ยงของตัวเองเสมือนลูกอีกด้วย
-37% ของผู้เลี้ยง หากน้องหมา น้องแมว อยากได้อะไร ผู้เลี้ยงเหล่านี้ก็จะหามาให้

พฤติกรรม Pet Humanization ส่งผลอย่างไรต่อธุรกิจที่เกี่ยวกับสัตว์เลี้ยง?
1. มูลค่าการใช้จ่ายเพื่อสัตว์เลี้ยงเพิ่มขึ้น 
     จากความรักความผูกพันของผู้เลี้ยงที่มีต่อสัตว์เลี้ยง ทำให้ผู้เลี้ยงมีความเต็มใจที่จะจ่ายสำหรับสินค้าและบริการต่างๆ เพื่อให้สัตว์เลี้ยงของตัวเองมีความสุข หนึ่งในค่าใช้จ่ายสัตว์เลี้ยงที่สำคัญ คือ ค่าอาหาร ซึ่งมีแนวโน้มว่าผู้เลี้ยงมองหาอาหารสำหรับสัตว์เลี้ยงในระดับ Premium มากขึ้น เพราะมองว่าการใช้วัตถุดิบที่มีคุณภาพและมีมาตรฐานการผลิตที่ดี จะส่งผลดีต่อสุขภาพร่างกายของสัตว์เลี้ยง 

ปัจจัยข้อนี้ จะส่งผลให้ ตลาดอาหารสัตว์เลี้ยงแบบพรีเมี่ยมของโลกยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก 

2. เกิดบริการใหม่ๆ เพื่อตอบโจทย์เทรนด์ Pet Humanization
     เนื่องจากการบริการสำหรับสัตว์เลี้ยงแสนรักเข้าใกล้บริการของมนุษย์เข้าไปทุกที โดยปัจจุบันเราเริ่มเห็นบริการใหม่ๆ หรือการต่อยอดธุรกิจสำหรับสัตว์เลี้ยงที่ตอบโจทย์ความต้องการใน Segment ที่เฉพาะกลุ่มมากขึ้น ตัวอย่างเช่น บริการด้านสุขภาพที่มีการนำเครื่องมือหรือเทคโนโลยีเฉพาะทางมาให้บริการสัตว์เลี้ยง 

นอกจากนี้ ในยุคเทคโนโลยีดิจิทัล ทำให้บริการสำหรับสัตว์เลี้ยงถูกพัฒนาและนำเสนอในรูปของแพลตฟอร์มออนไลน์มากขึ้น 

3. การใช้สัตว์เลี้ยงมาทำแคมเปญเพื่อโฆษณาหรือเป็นจุดขายในสินค้ามากขึ้น 
     ปัจจุบัน เราจะเห็นว่าสินค้าต่างๆ แม้ไม่ใช่สินค้าที่เกี่ยวกับ หรือใช้กับสัตว์เลี้ยงโดยตรง ก็มักจะใช้สัตว์เลี้ยงมาเป็นจุดขายหรือ Tie-in ร่วมกับสินค้ามากขึ้น 

สอดคล้องกับข้อมูลของ Mandala Analytics (www.mandalasystem.com) ที่พบว่าคนไทยค้นหา และให้ความสนใจเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยง โดยเฉพาะสุนัขและแมวอยู่ตลอด

โดยจากแนวโน้มปริมาณการค้นหาใน Google ทำให้เห็นว่ามีเพจจำนวนมากเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงที่ผลิตคอนเทนต์บนโลกออนไลน์  นอกจากนี้ การทำโฆษณาร่วมกับสัตว์เลี้ยงทำให้แบรนด์สามารถเชื่อมต่อกับคน และน่าจดจำมากขึ้น เพราะคนสามารถจินตนาการความเชื่อมต่อระหว่างสินค้ากับสัตว์ที่รู้จักได้ง่าย 

พฤติกรรม Pet Humanization อยู่ในกลุ่มผู้บริโภควัยไหนมากที่สุด
     กลุ่มอายุ 18-34 ปี เป็นกลุ่มใหญ่ที่สุดที่มีสัตว์เลี้ยงเป็นของตนเอง และมีแนวโน้มในอนาคตจะเลี้ยงสัตว์เลี้ยงเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งมีพฤติกรรมเลี้ยงดูสัตว์เลี้ยงเสมือนลูกในสัดส่วนที่มากที่สุด  

ธุรกิจไหนที่ได้รับประโยชน์บ้าง?
     
ปรากฏการณ์ Pet Humanization จะส่งผลดีกับธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องในห่วงโซ่อุปทานของธุรกิจสัตว์เลี้ยงซึ่งมีจำนวนมาก ทั้งตลาดส่งออกและตลาดในประเทศไทย นอกจากนี้ บางธุรกิจอาจยังไม่มีในไทย ซึ่งก็อาจเป็นโอกาสดีที่ผู้ประกอบการอาจมอง Success Case ในต่างประเทศมาประยุกต์และต่อยอดธุรกิจในไทยได้ 
     1. ธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยง และกลุ่มอาหารเสริม 
         ข้อมูลของ Euromonitor คาดว่า ในปี 2021 มูลค่าตลาดอาหารสัตว์เลี้ยงของโลก จะอยู่ที่ 110,268 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และจะเพิ่มขึ้นเป็น 156,960 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2026 หรือมีอัตราเติบโตเฉลี่ยอยู่ที่ 7.3% ต่อปี
         ส่วนมูลค่าตลาดอาหารสัตว์เลี้ยงของไทย ในปี 2021 คาดว่าจะอยู่ที่ 40,638 ล้านบาท และจะเพิ่มขึ้นเป็น 60,495 ล้านบาท ในปี 2026 หรือมีอัตราเติบโตเฉลี่ยอยู่ที่ 8.3% ต่อปี
     2. ธุรกิจให้บริการดูแลสัตว์เลี้ยง 
         ได้แก่ การให้บริการโรงแรมหรือที่พักสำหรับสัตว์เลี้ยง การฝึกสัตว์เลี้ยง และการบริการตัดแต่งสำหรับสัตว์เลี้ยง รวมถึงบริการเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงผ่านแอปพลิเคชั่น
     3. ธุรกิจอุปกรณ์ และเฟอร์นิเจอร์สำหรับสัตว์เลี้ยง
         เช่น ปลอกคอ ภาชนะอาหาร บ้านสัตว์ กรง แผ่นรองฉี่สัตว์เลี้ยงและทรายแมว เป็นต้น
     4. ธุรกิจคาเฟ่สัตว์เลี้ยง 
         ตอบโจทย์ทั้งกลุ่มผู้เลี้ยงสัตว์และกลุ่มคนรักสัตว์ได้เป็นอย่างดี โดยผู้เลี้ยงก็สามารถรับประทานอาหารไปพร้อมกับสัตว์เลี้ยง นอกจากนี้ สำหรับกลุ่มคนรักสัตว์แต่อาจจะไม่สามารถเลี้ยงสัตว์เองได้ก็สามารถมานั่งเล่น หรือใช้เวลากับสัตว์เลี้ยงที่ทางคาเฟ่จัดหามาให้ได้
     5. ธุรกิจประกันสัตว์เลี้ยง 
         ธุรกิจประกันภัยได้เข้ามามีบทบาทในการรับประกันอุบัติเหตุและเจ็บป่วยของสัตว์เลี้ยง เพื่อสร้างความอุ่นใจและสามารถควบคุมค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของผู้เลี้ยง 
     6. ธุรกิจจัดนิทรรศการและการแสดงสินค้าเพื่อคนรักสัตว์ 
         คาดว่าภายหลังที่การระบาดของโควิด-19 ผ่อนคลาย การจัดงานลักษณะนี้จะกลับมาคึกคักขึ้นอีก โดยในช่วงก่อนการระบาดของโควิด-19 มีการงานอีเว้นท์ใหญ่ๆ เกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงเกิดขึ้นเกือบทุกเดือนตลอดปี และกระจายไปในหัวเมืองใหญ่ในภูมิภาคด้วย 

จากเทรนด์ดังกล่าว ผู้ประกอบการควรเร่งพัฒนาสินค้าเพื่อสร้างจุดขายและตอบโจทย์ความต้องการของผู้เลี้ยงและสัตว์เลี้ยงที่ไม่หยุดนิ่ง เพื่อโอกาสในการส่งออกและตลาดในประเทศที่ยังเปิดกว้าง นอกจากนี้ สำหรับกลุ่มกิจการผลิตอาหารสัตว์หรือส่วนผสมอาหารสัตว์ ผู้ประกอบการยังมีโอกาสเข้าถึงการสนับสนุนการลงทุนจากภาครัฐ และที่สำคัญ อย่าลืม ให้ความสำคัญกับช่องทางการจำหน่ายทางออนไลน์ โดยเฉพาะ E-Commerce 

หมั่นสังเกตท่าทางน้องหมา สัญญาณบ่งบอกอาการ "เครียด" ที่เจ้าของควรรู้

กลุ่มวีลแชร์ฟรีเพื่อสัตว์พิการโคราช แจกรถเข็นฟรีสำหรับสัตว์พิการ 4 ขา

ที่มา   Krungthai COMPASS 

TOP เศรษฐกิจ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ