ส.สินทรัพย์ดิจิทัลไทย ชี้ เก็บภาษีคริปโต ไม่กระทบ นลท.รายเก่า ส่วนใหญ่เทรดตปท. ตรวจสอบยาก


โดย PPTV Online

เผยแพร่




นักเทรดคริปโทเคอร์เรนซี เตรียมตัวพร้อมกันหรือยัง กรมสรรพากร ออกมาประกาศชัดเจนแล้วว่า จะเริ่มจัดเก็บภาษีสินทรัพย์ โดยให้นักลงทุนที่เทรดคริปโต แล้วมีกำไรเมื่อปี 2564 จะต้องเสียภาษีหัก ณ ที่จ่าย 15% ของกำไร และจะต้องยื่นแบบแสดงการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปีอีกด้วย

ข่าวแห่งปี 2564 : ปีแห่งการเทรด "เหรียญดิจิทัล" ฟีเวอร์

เจาะ"ภาษีคริปโต" พร้อมวิธีกรอกแบบการยื่นภาษี

 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการยื่นแบบภาษีเงินได้ในเดือนมีนาคม 2565 กรมสรรพากรมีช่องให้เลือกสำหรับผู้ที่มีกำไรจากการซื้อขาย "คริปโตเคอร์เรนซี" เพื่อให้ผู้เสียภาษีแสดงเงินได้ ซึ่งหากใครมีรายได้แล้วหลบเลี่ยงไม่ยอมยื่น  ทางกรมมีระบบ data analytics เพื่อตรวจสอบข้อมูล รวมทั้งยังมีอำนาจในการออกหมายเรียกพยานเข้ามาให้ข้อมูลได้ ดังนั้นกรมสรรพากรขอให้นักเทรดคริปโต ดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมาย จะไม่ต้องมีภาระย้อนหลัง

นางสมหมาย ศิริอุดมเศรษฐ โฆษกกรมสรรพากร กระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า  ตามพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 ระบุว่าการซื้อขาย คริปโตเคอเรนซี และโทเคนดิจิทัล หากมีกำไรจะต้องเสียภาษีหัก ณ ที่จ่ายร้อยละ 15 ของกำไร และบุคคลที่มีเงินได้จากการซื้อขายคริปโตจะต้องยื่นแบบแสดงการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เป็นเงินได้ตามมาตรา 40(4) จัดอยู่ในหมวดของการลงทุนแบบเดียวกับ ดอกเบี้ยเงินฝาก ดอกเบี้ยเงินกู้ ซึ่งผู้จ่ายเงินได้มีหน้าที่ต้องเสียภาษี

 

ด้านนายนเรศ เหล่าพรรณราย เลขาธิการสมาคมสินทรัพย์ดิจิทัลไทย มองว่า การเก็บภาษีคริปโตฯ อาจกระทบต่อผู้ลงทุนหน้าใหม่ที่จะลังเลใจในการเปิดพอร์ตลงทุน แต่สำหรับนักเทรดคริปโตฯมือเก่า ไม่กระทบ เพราะวิธีการบันทึกกำไร และ การจัดเก็บภาษีมีช่องโหว่เยอะ

ถ้ามีการจัดเก็บภาษีคริปโต อย่างจริงจัง  ก็น่าจะส่งผลต่อนักลงทุนหน้าใหม่ที่อาจจะลังเลในการเข้ามาในตลาดนี้ ครับ เพราะว่าประเด็นเรื่องของภาษีค่อนข้าง Sensitive ของนักลงทุนไทยอยู่แล้ว  แต่ถ้าเป็นนักลงทุนหน้าเก่าอาจไม่กระทบมากนัก เพราะว่าส่วนใหญ่มีช่องทางในการไปลงทุนในตลาดต่างประเทศอยู่แล้ว ซึ่งต้องยอมรับว่ายังมีจุดบกพร่องในการติดตามการทำธุรกรรมอยู่พอสมควร  นายนเรศ กล่าว

สำหรับกรณีที่กรมสรรพากร เตรียมใช้ Data analytics ในการตรวจสอบนั้น  นายนเรศ มองว่าทำได้ เนื่องจาก Exchange ในประเทศไทยมีหน้าที่ต้องส่งข้อมูลให้กับกรมสรรพากรอยู่แล้ว แต่ถ้าเป็น Exchange จากต่างประเทศ ยังเชื่อว่า ยากในการดำเนินงาน

TOP เศรษฐกิจ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ