เปิดสถิติแม่พันธุ์สุกรลดลง พร้อมแผนหนุนรายย่อยกลับมาเปิดฟาร์ม


โดย PPTV Online

เผยแพร่




ปศุสัตว์เปิดสถิติแม่พันธุ์สุกร พบ มีจำนวนลดลงส่งผลลูกสุกรขุน และเนื้อสุกรสดมีแนวโน้มไม่เพียงพอ เร่งหนุนเกษตรกรรายย่อยกลับมาเปิดฟาร์มอีกครั้ง

นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยระหว่างเป็นประธานการประชุม เพื่อรับฟังปัญหาและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับสถานการณ์การผลิตและการตลาดสุกรในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน ระบุว่า

กรมปศุสัตว์ตรวจสอบฟาร์มสุกร ค้นหาสาเหตุโรคระบาดในสุกร ต้นตอเนื้อหมูแพง

จุรินทร์สั่งลุย 667 จุดบริการหมูราคาถูก! ช่วยประชาชน

จากการสำรวจและเก็บสถิติของกรมปศุสัตว์ ในปี 2563 พบว่า ประเทศไทยมีแม่พันธุ์สุกร ประมาณ 1 ล้านตัว สามารถผลิตสุกรขุนออกสู่ตลาดได้ถึง 20 ล้านตัวต่อปี แต่ในปี 2564 พบว่า

จำนวนแม่พันธุ์สุกร "ลดลง" เหลือเพียงประมาณ 900,000 ตัว โดยมีสุกรขุนที่ผ่านโรงเชือดในประเทศประมาณ 18 ล้านตัว และส่งออกนอกประเทศ 1 ล้านตัว ซึ่งมาจากผู้ประกอบการ 190,000 ราย แบ่งเป็นรายย่อย 185,000 ราย มีสุกรประมาณ ร้อยละ 30 ของประเทศ ในขณะที่รายกลาง และรายใหญ่ 4,000 - 5,000 ราย มีปริมาณการเลี้ยงสุกร ร้อยละ 70 ของประเทศ

ดังนั้น การที่ปริมาณแม่พันธุ์สุกรในประเทศลดลง จึงทำให้ผลผลิตลูกสุกรขุน และเนื้อสุกรสดมีแนวโน้มไม่เพียงพอต่อความต้องการบริโภคในประเทศ ราคาเนื้อสุกรจึงปรับตัวสูงขึ้นในระยะนี้

อย่างไรก็ตามจากการสำรวจของกรมปศุสัตว์ ยังพบว่า พื้นที่ภาคเหนือมีผู้เลี้ยงรายเล็ก รายย่อยกระจายอยู่เป็นจำนวนมาก ประมาณ 70,000 ราย และมีความเหมาะสมในการสนับสนุนให้เกษตรกรในพื้นที่ซึ่งผ่านการประเมินความเสี่ยงแล้ว กลับมาเลี้ยงสุกรได้อีกครั้ง ภายใต้การกำกับดูแลอย่างใกล้ชิดของกรมปศุสัตว์ โดยคาดว่าจะสามารถเก็บข้อมูลได้ครบถ้วน และพร้อมเริ่มสนับสนุนได้ทันทีภายในสิ้นเดือนมกราคมนี้

 

สำหรับพันธ์ุสุกรที่จะนำมาสนับสนุนให้กับผู้เลี้ยงรายเล็ก รายย่อยนั้น จะเร่งจัดหามาจากศูนย์วิจัยของกรมปศุสัตว์ เครือข่ายสัตว์พันธ์ุดีของกรมปศุสัตว์ ซึ่งมีแม่พันธ์ุอยู่ประมาณ 5,000 ตัว และยังได้มีการเจรจาขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการรายใหญ่ มหาวิทยาลัยต่างๆ และวิทยาลัยเกษตรทั่วประเทศ รวมถึงบริษัทเอกชน ในการช่วยผลิตลูกสุกร

โดยกรมปศุสัตว์จะจัดสรรให้ผู้เลี้ยงรายเล็ก รายย่อยที่สนใจ รายใดต้องการเลี้ยงแม่พันธุ์ จะจัดหาแม่พันธุ์ 2 ตัว รายใดต้องการลูกสุกรขุน จะจัดให้รายละ 20 ตัว หรือตามความเหมาะสม พร้อมอาหารสัตว์ เวชภัณฑ์ ยารักษาโรค โดยให้ปศุสัตว์ในพื้นที่เข้าไปดูแลเรื่องโรคระบาด และเเนะนำการยกระดับและปรับปรุงระบบการเลี้ยงภายใต้มาตรฐานฟาร์มแบบ Good Farming Management (GFM) "ฟาร์มที่มีระบบการป้องกันโรคและการเลี้ยงสัตว์ที่เหมาะสม"  สำหรับในส่วนของเรื่องเงินทุน จะใช้แหล่งเงินกู้จากธนาคาร ธ.ก.ส. ภายใต้ “โครงการสานฝันสร้างอาชีพ ยกระดับรายได้เกษตรกร” เข้ามาสนับสนุน เพื่อใช้เป็นต้นทุนในการดำเนินการ

 

TOP เศรษฐกิจ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ