อัปเดตความคืบหน้า "​เงินบาทดิจิทัล" ไทยทำ ไทยใช้ ไทยเจริญ


โดย PPTV Online

เผยแพร่




อัปเดตความคืบหน้า สกุลเงินดิจิทัลสำหรับประชาชนที่ออกโดยแบงก์ชาติ (retail central bank digital currency: retail CBDC) ของไทยคือ "บาทดิจิทัล" กับผู้ว่าแบงก์ชาติ ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผ่านรายการกาแฟดำ

“เงินบาทดิจิทัล” ของธนาคารแห่งประเทศไทย มีรูปแบบคล้ายเงินสดดิจิทัล คือ ไม่ให้ดอกเบี้ยและอาศัยตัวกลางรับแลก/กระจายเงินให้ประชาชน รวมถึงจะมีเงื่อนไขไม่ให้เกิดการแลกเงินฝากเป็นเงินบาทดิจิทัลได้ในปริมาณมากและรวดเร็ว เพื่อไม่ให้กระทบการระดมเงินฝาก/การปล่อยกู้ของระบบสถาบันการเงิน

รู้จัก CBDC "เงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง" ธปท.ทดลองใช้ ไตรมาส 2/65

ธปท. เผย ผลศึกษาสกุลเงินดิจิทัล “CBDC” จ่อทดลองชำระค่าสินค้าในวงจำกัด ไตรมาส 2 ปี’65

โดยแบงก์ชาติมองว่า “เงินบาทดิจิทัล” จะเข้ามาเพิ่มทางเลือกในการชำระเงินที่มีอยู่ ไม่ได้มาทดแทนทำให้ทางเลือกใดหายไป 

 

ดร.เศรษฐพุฒิ กล่าวว่า สาเหตุที่แบงก์ชาติมาสนใจ ดิจิทัลเคอร์เรนซี เพราะมองว่ากระแสนี้อย่างไรก็ต้องมาแน่ ซึ่งแบงก์ชาติต้องการสร้างทางเลือกประชาชนที่ปลอดภัย เข้าถึงได้เท่าเทียม และเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม ไม่ได้หวังกำไร ต่างจากเอกชนที่ต้องการทำกำไร มีความไม่แน่นอน และไม่ชัดเจนว่าคนจะเข้าถึงได้เท่าเทียมหรือไม่

แบงก์ชาติจึงคิด Option (ทางเลือก) นี้ขึ้นมา ให้เกิดเป็นโครงสร้างพื้นฐานอย่างใหม่ให้กับประชาชน ที่สำคัญคือผู้ให้บริการทางการเงิน ทั้งแบงก์ และ นอนแบงก์ เข้ามาเชื่อต่อเพื่อไปพัฒนาเป็นบริการให้กับประชาชนได้

เผยเทคนิครู้เท่าทันภัยคุกคาม “การเงินโลกดิจิทัล” ในยุคคริปโทฯบูม!

ถามว่ามันต่างจากคริปโทเคอร์เรนซีอย่างไร?

ดร.เศรษฐพุฒิ อธิบายว่า บาทดิจิทัล ไม่ใช่คริปโทเคอร์เรนซี เพราะคริปโทเคอร์เรนซี คือ ไม่มีอะไรหนุนหลังเลย มีแต่ Algorithm อยู่ข้างหลัง และอันที่สองที่สำคัญ คือ มันไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย (Legal tender)   แต่ CBDC ทำได้

ขณะที่ในเอกสารของ ธนาคารแหง่ประเทศไทย เคยอธิบายไว้ว่า 

“เงินบาทดิจิทัล” ต่างจากคริปโทเคอเรนซีต่างๆ ที่สร้างขึ้นโดยภาคเอกชน ตรงที่ คริปโทเคอเรนซีมูลค่าผันผวนมากและยังไม่มีกฎหมายเงินตรารองรับ ยกเว้นบางประเทศ เช่น เอลซัลวาดอร์ ที่ประกาศเป็นประเทศแรกยอมรับ บิตคอยน์ เป็นเงินตราใช้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมายได้ แต่ภายหลังคนเริ่มออกมาประท้วง เพราะประสบปัญหาความผันผวนของมูลค่าบิตคอยน์ ทำให้ไม่อยากรับชำระมูลค่ากันด้วยบิตคอยน์ตามที่กฎหมายกำหนด

นอกจากนี้ “เงินบาทดิจิทัล” ยังแตกต่างจากคริปโทเคอร์เรนซีบางประเภท ที่มีกลไกตรึงมูลค่ากับสกุลเงินหลักหรือสินทรัพย์อื่นให้ราคาผันผวนน้อยลง  หรือสเตเบิลคอยน์ (stablecoins) ซึ่งผู้ถือก็อาจไม่สามารถมั่นใจได้ว่า สินทรัพย์ที่ใช้ตรึงมูลค่ามีอยู่จริงและใครจะเป็นผู้รับรองให้

ส่วนความต่างระหว่าง  “เงินบาทดิจิทัล” กับ “เงินสด” ที่อยู่รูปธนบัตรและเหรียญกษาปณ์อย่างไร? 

คำตอบคือ ปกติเวลาจะใช้เงินสด หลายคนต้องถอนเงินฝากมานับและใช้จ่ายเงินผ่านมือกัน ซึ่งจะต่างจาก “เงินบาทดิจิทัล” ที่ไม่มีอะไรให้จับต้องได้ แต่เป็นเงินที่ออกโดยธนาคารกลาง สามารถใช้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย และมีสินทรัพย์ภาครัฐหนุนหลังเหมือนเงินสด ก่อนจะใช้งานได้ประชาชนจะต้องเอาเงินฝาก/เงินสดมาแลกไปเก็บไว้ในกระเป๋าเงินดิจิทัล

วิธีคำนวณภาษี "จากการขายของออนไลน์" ทุกช่องทาง

สำหรับคนทั่วไปที่ไม่มีสมาร์ทโฟน อินเทอร์เน็ต หรือบัญชีเงินฝากกับสถาบันการเงิน ก็จะสามารถเข้าถึงใช้งานได้ด้วย เช่น ผ่านการ์ดที่ใช้แตะเพื่อรับจ่ายเงินได้ 

เมื่อไหร่จะได้ใช้ "บาทดิจิทัล"

ดร.เศรษฐพุฒิ  ขอย้ำว่า สิ่งที่เราดูอยู่ตอนนี้เป็นการทดลองแต่เป็นการทดลองแบบใช้จริง แต่ยังอยู่ในวงจำกัด โดยในช่วงไตรมาส 4 ปีนี้ จะเริ่มทดสอบกับแบงก์และนอนแบงก์บางราย

ในทางปฏิบัติ เราอยากให้แน่ใจว่าในเชิงเทคนิคมันสามารถใช้ได้ไม่มีปัญหา และดูว่าจุดที่เป็นความเสี่ยงมีอะไรบ้างและแก้ไขอะไรบ้าง

ในต่างประเทศก็ศึกษาเรื่องนี้ซึ่ง ไทยไม่ถือว่าช้าหรือเร็วไป

ดร.เศรษฐพุฒิ  ยืนยัน ว่า ธนาคารกลางของไทยเป็นธนาคารแรกๆ ที่ศึกษาเรื่องนี้ แต่ตอนแรกดูในฝั่งระหว่างธนาคารกับซัพลายเออร์ ธนาคารกลางไทย กับ ธนาคารกลางต่างประเทศ  ดูเรื่องของการโอนเงิน เพราะค่าธรรมเนียมการโอนเงินต่างประเทศค่อนข้างสูง จากนั้นก็มีโอกาสที่จะพัฒนา โดยเป็นความร่วมมือระหว่างธนาคารกลาง ฮ่องกง จีน ยูเออี ธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ (บีไอเอส) และเฟสต่อไปที่กำลังดูอยู่คือ เรื่องการทำ CBDC สำหรับรายย่อย 

ขณะที่ในต่างประเทศ  ส่วนใหญ่เน้นพัฒนาใช้เทคโนโลยีบล็อกเชน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการชำระเงินระหว่างสถาบันการเงิน (wholesale CBDC) ซึ่งปกติจะตัดชำระกันผ่านบัญชีเงินฝากที่ธนาคารกลาง สำหรับไทยทดลองใช้ wholesale CBDC ได้ผลสำเร็จดีแล้ว ก็เริ่มมีแผนขยับขยายไปยังภาคธุรกิจและประชาชนให้ได้รับประโยชน์จากเทคโนโลยีการเงินใหม่นี้ด้วย

ผลสำรวจธนาคารกลาง กว่า 60 ประเทศโดยธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ (Bank for International Settlements) ในปี 2020 พบว่า ธนาคารกลางกว่า 86% สนใจศึกษาพัฒนา CBDC ซึ่งเพิ่มขึ้นมากเกือบ 1 ใน 3 จากการสำรวจครั้งแรกในปี 2017

อั้นไม่อยู่! ไข่ อาหารกระป๋อง ขยับขึ้นราคา ขณะที่ค่าไฟฟ้าจ่อปรับขึ้น 4 บ./หน่วย พ.ค.นี้

มารอลุ้นกันว่า ประเทศไทยจะได้ใช้ "บาทดิจิทัล" กันจริงๆ เมื่อใด 

TOP เศรษฐกิจ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ