ข่าวเท็จ อย่าแชร์ “แบงก์พันปลอมหมายเลขเดียวกันจากต่างประเทศระบาดเข้าไทย”


โดย PPTV Online

เผยแพร่




ตามที่มีข่าวสารในสื่อออนไลน์กล่าวถึงเรื่องแบงก์พันปลอมหมายเลขเดียวกันจากต่างประเทศระบาดเข้าไทย ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยธนาคารแห่งประเทศไทย กระทรวงการคลัง พบว่าข้อมูลดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลเท็จ

กรณีข้อความเตือนภัยเรื่องธนบัตรปลอมมูลค่า 1,000 บาทไทย หมายเลขเดียวกันทั้งหมด ระบาดทั่วประเทศไทย ทางธนาคารแห่งประเทศไทย กระทรวงการคลัง ได้ตรวจสอบและชี้แจงว่า ข้อมูลดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นในขณะนี้ซึ่งภาพตามที่เป็นข่าวคือภาพเหตุการณ์การจับกุมธนบัตรปลอมที่จังหวัดเพชรบูรณ์ จำนวน 21 ฉบับตั้งแต่เมื่อปี พ.ศ. 2558

แบงค์พันปลอมระบาดหนัก วันเดียวหมู่บ้านย่านบางบัวทองโดนเกือบ 30 ใบ

"คลัง" โร่แจงเหตุเก็บภาษีย้อนหลัง "ร้านค้าคนละครึ่ง" ปัดเชื่อมระบบสรรพากร

โดยภาพข่าวดังกล่าวถูกนำมาเผยแพร่วนซ้ำเป็นระยะๆ โดย เปลี่ยนแปลงข้อความในข่าวซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยได้เคยชี้แจงข่าวดังกล่าวนี้แล้ว เมื่อปี พ.ศ. 2559 ว่า ไม่เป็นความจริง

 

ดังนั้น ขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อข้อมูลดังกล่าว และขอความร่วมมือไม่ส่ง หรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ และเพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารจากธนาคารแห่งประเทศไทย กระทรวงการคลัง สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ www.bot.or.th หรือโทร. 02-356-7799

ดังนั้น บทสรุปของเรื่องนี้คือ : ไม่เป็นความจริง เนื่องจากแป็นการนำภาพข่าวเก่ามาเผยแพร่ซ้ำและเปลี่ยนแปลงข้อความใหม่

 

สำหรับการตรวจสอบแบงก์หรือธนบัตร ใบละ 1,000 บาท ว่าจริงหรือปลอมนั้น ข้อมูลจาก ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า  ธนบัตรมีลักษณะพิเศษที่ยากต่อการปลอมแปลง แต่ง่ายต่อการสังเกตและตรวจสอบ ซึ่งสามารถทำได้ง่ายๆ ด้วยวิธีการดังนี้ สัมผัส ยกส่อง และพลิกเอียง​ และเพื่อความมั่นใจควรตรวจสอบอย่างน้อย 3 จุดขึ้นไป

  1.  กระดาษธนบัตร  ทำจากกระดาษที่มีใยฝ้ายเป็นส่วนป​ระกอบหลัก จึงมีความแกร่ง ทนทาน และไม่ยุ่ยง่าย เมื่อจับสัมผัสจะให้ความรู้สึกแตกต่างจากกระดาษทั่วไป 
  2. ลายพิมพ์เส้นนูน เกิดจากการพิมพ์โดยใช้แม่พิมพ์ที่มีร่องหมึกลึกและใช้แรงกดพิมพ์สูง หมึกพิมพ์จึงนูนขึ้นมาจากเนื้อกระดาษ ภาพและลายเส้นที่ได้จึงมีรายละเอียดคมชัด ซึ่งใช้ในการพิมพ์พระบรมฉายาสาทิสลักษณ์ คำว่า "รัฐบาลไทย" ตัวอักษรและตัวเลขแจ้งชนิดราคา เมื่อสัมผัสด้วยปลายนิ้วมือ ​จะรู้สึกสะดุด 

3. ลายน้ำ ​เป็นส่วนหนึ่งในเนื้อกระดาษ เกิดขึ้นจากขั้นตอนการผลิตกระดาษโดยใช้กรรมวิธีพิเศษที่ทำให้เนื้อกระดาษมีความหนาบางไม่เท่ากันจนเกิดเป็นภาพตามต้องการ ลายน้ำในธนบัตรไทยเป็นพระบรมฉายาสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อยกส่องกับแสงสว่างจะเห็นได้อย่างชัดเจนทั้ง

4. ตัวเลขแฝง  ตัวเลขแจ้งชนิดราคาซ่อนอยู่ในลายประดิษฐ์ มองเห็นได้เมื่อเอียงธนบัตรเข้าหาแสงสว่าง 

5.หมึกพิมพ์พิเศษ ลายดอกประดิษฐ์ ชนิดราคา 500 บาท และ 1000 บาท พิมพ์ด้วยหมึกพิมพ์แม่เหล็กสามมิติเปลี่ยนสีได้ ภายในมีตัวเลขแจ้งชนิดราคา เมื่อพลิกธนบัตรขึ้นลงหรือพลิกซ้ายขวา จะเห็นการเคลื่อนไหวและเปลี่ยนสลับสี  ส่วนชนิดราคา 100 บาท ลายดอกประดิษฐ์พิมพ์ด้วยหมึกพิมพ์พิเศษเมื่อพลิกธนบัตรไปมาจะเห็นเป็นประกาย

6.แถบสี เกิดขึ้นตั้งแต่ขั้นตอนการผลิตกระดาษโดยใช้กรรมวิธีพิเศษที่ฝังแถบพลาสติกขนาดเล็กเคลือบด้วยสีโลหะไว้ในเนื้อกระดาษตามแนวตั้ง และมีบางส่วนของแถบปรากฎให้เห็นเป็นระยะ จะเปลี่ยนสีเมื่อเปลี่ยนมุมมอง ภายในแถบมีตัวเลขและตัวอักษรแจ้งชนิดราคาขนาดเล็ก เมื่อยกธนบัตรส่องดูกับแสงสว่างจะมองเห็นอ่านได้ชัดเจน​

7.แถบฟอยล์ภาพ 3 มิติ  ผนึกไว้ตามแนวตั้ง ภายในมีภาพที่เป็นมิติ เมื่อพลิกเอียงธนบัตรไปมาจะเห็นองค์ประกอบต่างๆ ในแถบฟอยล์เคลื่อนไหว และเปลี่ยนสีสะท้อนแสงวาววับสวยงาม 

8.ลักษณะพิเศษภายใต้รังสีเหนือม่วง พิมพ์ด้วยหมึกพิมพ์พิเศษเรืองแสง เป็นหมึกพิมพ์ซึ่งสามารถมองเห็นการเรืองแสงเมื่ออยู่ภายใต้รังสีเหนือม่วง ลายประดิษฐ์บริเวณกลางธนบัตร ตัวเลขแจ้งชนิดราคา หมวดเลขหมายจะเรืองแสง และเส้นใยที่ฝังในเนื้อกระดาษจะเรืองแสงเป็นสีเหลือง แดง และน้ำเงิน 

PR-โปรแกรมผลบอล-2_B PR-โปรแกรมผลบอล-2_B
TOP เศรษฐกิจ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ