ส่งออกไทยแผ่ว ขยายตัวต่ำสุดในรอบ 17 เดือน ตลาดจีนหดตัวกดดัน


โดย PPTV Online

เผยแพร่




โมเมนตัมส่งออกไทย ก.ค. แผ่วลง จากการส่งออกไปจีนหดตัวรุนแรง มูลค่าการส่งออกสินค้าไทยขยายตัวต่ำสุดในรอบ 17 เดือน สินค้าส่งออกหลายรายการหดตัว

มูลค่าการส่งออกสินค้าของไทยกรกฎาคม 2022 อยู่ที่ 23,629.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 4.3%  เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ชะลอตัวลงมากจากเดือนมิถุนายนที่ 11.9% แม้ว่าจะเป็นการขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 17 แต่การขยายตัวเดือนนี้ชะลอลงมากที่สุดในรอบ 17 เดือน

ส่งออกมันสำปะหลังครึ่งปีแรก 8.2 หมื่นล้าน หวังดันทั้งปีทำสถิติสูงสุดรอบ 15 ปี

ส่งออกเดือนก.ค.โต 4.3% ขยายตัว 17 เดือนติด วิกฤติอาหารดันภาคเกษตรพุ่ง

มูลค่าการส่งออกหักทองคำเดือนนี้ขยายตัวได้ 4.7% ชะลอลงจากเดือนก่อนที่ 11.5% อยู่มาก หากพิจารณาการส่งออกเดือนกรกฎาคมเทียบกับเดือนมิถุนายน (แบบปรับฤดูกาล) พบว่า การส่งออกไทยหดตัวจากเดือนก่อนหน้าที่ -7.8% แต่หากไม่รวมทองคำจะหดตัวสูงถึง -11.9%

ในภาพรวมการส่งออกไทยในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2022 ยังขยายตัวได้ดีที่ 11.5% และหากหักทองคำขยายตัวที่ 9.7%

ส่งออกรายตลาดมีสัญญาณชะลอตัวมากขึ้น โดยเฉพาะในจีน ฮ่องกง และญี่ปุ่น

การส่งออกรายตลาดามีสัญญาณชะลอตัวมากขึ้น อย่างตลาดจีนการส่งออกไปเดือนกรกฎาคมหดตัว -20.6% สูงกว่าเดือนก่อนหน้าที่ -2.7% อยู่มาก สอดคล้องกับข้อมูลการนำเข้าของจีนในเดือนกรกฎาคมที่แม้จะขยายตัวได้เล็กน้อยที่ 2.3% แต่ยังต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ที่ 4% นอกจากนี้ มูลค่าการนำเข้าของจีนจากไทยหดตัว -8.6% 

ซึ่งส่งออกไปจีนหดตัวรุนแรง โดยเฉพาะเคมีภัณฑ์ ผลไม้สด รถยนต์ฯ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง เม็ดพลาสติก ในขณะที่ผลิตภัณฑ์ยาง ไก่ และทองแดงฯ เป็นสินค้าหนุนสำคัญ

ส่วนตลาดอื่นทั้ง ญี่ปุ่นและฮ่องกงก็หดตัวลงเช่นกันคือ -4.7% และ -31.3% ตามลำดับ

ขณะที่การส่งออกไปสหรัฐฯ ยังส่งสัญญาณชะลอตัวต่อเนื่องจากการชะลอตัวและความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจ การส่งออกไปยุโรป (EU28) ยังขยายตัวได้ดีที่ 9.3% แม้ยุโรปจะเผชิญแรงกดดันทางเศรษฐกิจมาก
การส่งออกไปรัสเซียและยูเครนหดตัวต่อเนื่องสูงถึง -42.6% และ -87.5% แต่ไม่ได้มีนัยต่อเศรษฐกิจไทยมากเนื่องจากเป็นตลาดส่งออกขนาดเล็กของไทย

ส่วนการส่งออกไปยัง CLMV และ ASEAN5 ยังขยายตัวได้ดีต่อเนื่องตามการทยอยฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

การส่งออกในระยะถัดไปมีแนวโน้มชะลอตัวจากความเสี่ยงเศรษฐกิจโลกถดถอย

การส่งออกไทยขยายตัวได้ดีในช่วงครึ่งแรกของปีขยายตัวได้ดีที่ 11.5% และชะลอตัวลงมากในเดือนกรกฎาคม โดย EIC ประเมินว่าการส่งออกมีแนวโน้มชะลอลงในช่วงที่เหลือของปี โดยเฉพาะตั้งแต่เดือนกันยายนจากความเสี่ยงและความเปราะบางในเศรษฐกิจคู่ค้าสำคัญ

โดยเฉพาะตลาดสหรัฐฯ และยุโรปที่เริ่มเห็นสัญญาณเศรษฐกิจชะลอตัวมากขึ้นจากภาวะเงินเฟ้อและนโยบายการเงินตึงตัว รวมถึงการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวที่จะสนับสนุนดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยที่อาจทำให้ค่าเงินบาทมีแนวโน้มกลับมาแข็งค่าขึ้นบ้างในระยะถัดไป อย่างไรก็ตาม ตัวเลขการส่งออก อาจเร่งตัวขึ้นได้ในเดือนสิงหาคมเป็นการชั่วคราวจากปัจจัยฐานต่ำในเดือนสิงหาคม 2021

ส่วนปัจจัยอื่นๆ ทั้งความขัดแย้งระหว่างจีน สหรัฐฯ และไต้หวัน จะยังไม่ยกระดับความรุนแรง ผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการค้าโลกมีจำกัด

ขณะที่การนำเข้าชะลอตัวลงเล็กน้อย

ด้านมูลค่านำเข้าในเดือนกรกฎาคมอยู่ที่ 27,289.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 23.9% ชะลอตัวจากเดือนก่อนหน้าที่ 24.5% เล็กน้อย แม้ระดับราคาสินค้ากลุ่มพลังงานในตลาดโลกปรับตัวลดลงบ้างและทำให้การนำเข้าสินค้าเชื้อเพลิงขยายตัวในอัตราลดลงเป็น 79% จาก 124.8% ในเดือนก่อนหน้า

สินค้ากลุ่มยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่งที่หดตัวต่อเนื่อง -21% รวมถึงสินค้าทุนและสินค้าอุปโภคบริโภคพลิกกลับมาหดตัวที่ -1% และ -4.6% ตามลำดับ

อย่างไรก็ดีการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูปที่มีสัดส่วนในตะกร้าสินค้านำเข้าใหญ่สุด คิดเป็น 43.6% ของการนำเข้าทั้งหมดในปี 2021 ขยายตัวมากถึง 30.2% ในเดือนนี้ เร่งตัวขึ้นมากจาก 11.6% ในเดือนก่อน สำหรับดุลการค้าเดือนนี้ขาดดุล -3,660.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้ในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2022 มูลค่าการนำเข้าขยายตัว 21.4% และดุลการค้าขาดดุล -9,916.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ 

อย่างไรก็ตาม EIC อยู่ระหว่างการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและจะปรับประมาณการมูลค่าการส่งออกของไทยทั้งปี 2022 ใหม่ จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัว 5.8% ในปี 2022 

TOP เศรษฐกิจ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ