ราคาน้ำมันดิบพุ่งขึ้นกว่า 4% เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ต่อเนื่องจากสัปดาห์ก่อน จากกลุ่มโอเปกพลัสเตรียมลดกำลังการผลิตและวิตกความขัดแย้งในลิเบีย แม้ว่าจะมีปัจจัยฉุดความต้องการน้ำมันโลกลดลงจากเศรษฐกิจสหรัฐชะลอตัวและค่าเงินดอลลาร์แข็งค่า
ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ เพิ่มขึ้น 4.10 ดอลลาร์ หรือ 4.1% อยู่ที่ 105.09 ดอลลาร์/บาร์เรล เพิ่มขึ้น 4.4% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนน้ำมันดิบสหรัฐ (WTI) เพิ่มขึ้น 3.95 ดอลลาร์ หรือ 4.2% อยู่ที่ 97.01 ดอลลาร์/บาร์เรล ขยับขึ้น 2.5% จากสัปดาห์ที่ผ่านมา
ราคาน้ำมันดิบ "ฟื้นตัว" หลังซาอุฯจ่อหั่นกำลังการผลิต
เฟดมุ่งแก้เงินเฟ้อมากกว่าการขยายตัวเศรษฐกิจ เดินหน้าขึ้นดอกเบี้ย
ซาอุดิอาระเบีย ผู้นำในกลุ่มโอเปกระบุว่ามีความเป็นไปได้จะลดกำลังการผลิต เพื่อรับกับกรณีที่อิหร่านจะกลับมาส่งออกน้ำมันอีกครั้ง หลังบรรลุข้อตกลงด้านนิวเคลียร์กับชาติตะวันตก โดยกลุ่มโอเปกพลัสจะมีการประชุมในวันที่ 5 ก.ย.นี้
ด้านทีมวิเคราะห์ตลาดต่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT ระบุว่า ราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยในสัปดาห์ล่าสุดเพิ่มขึ้น กว่า 3-5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล โดยนักลงทุนกังวลว่าอุปทานพลังงานโลกอาจลดลง หลังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานของซาอุดีอาระเบีย เจ้าชาย Abdulaziz bin Salman ทรงส่งสัญญาณว่ากลุ่ม OPEC และชาติพันธมิตร (OPEC+) อาจพิจารณาทางเลือกที่จะลดการผลิตน้ำมันดิบเพื่อกระตุ้นราคา
ปัจจุบันความสัมพันธ์ระหว่างตลาดน้ำมันกับตลาดอนุพันธ์แยกขาดจากกันมากขึ้น เกิดความผันผวนรุนแรงบั่นทอนเสถียรภาพของตลาดน้ำมัน จึงอาจต้องแก้ไขสถานการณ์ ซึ่งจะหารือกันในการประชุม OPEC+ ครั้งหน้าในวันที่ 5 ก.ย. 65
นักวิเคราะห์ Commerzbank ชี้ว่าซาอุฯ กำลังพยายามพยุงราคาน้ำมันไม่ให้ต่ำกว่า 90 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
Reuters รายงานสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์แสดงท่าทีสนับสนุนซาอุฯ โดยกำลังพิจารณาความเป็นไปได้ในการลดการผลิตน้ำมันดิบของกลุ่ม OPEC+ เพื่อรับมือกับอุปทานน้ำมันที่อาจอิหร่านเพิ่มขึ้น หากข้อตกลงนิวเคลียร์ (The Joint Comprehensive Plan of Action: JCPOA) ระหว่างอิหร่านและชาติมหาอำนาจ P5+1 (สหรัฐฯ, รัสเซีย, จีน, ฝรั่งเศส, สหราชอาณาจักร และเยอรมนี) บรรลุผลสำเร็จลุล่วง
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก
- Argus รายงานปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของกลุ่ม OPEC+ ในเดือน ก.ค. 65 อยู่ที่ 38.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน ต่ำกว่าโควตาอยู่ 2.75 ล้านบาร์เรลต่อวัน
- Reuters รายงานการขนส่งน้ำมันดิบทางท่อ Caspian Pipeline Consortium (CPC: 1.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน) จากคาซัคสถานไปยังท่าเรือรัสเซีย จะลดลง 30% จากปกติที่ระดับ 1.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน เป็นเวลาอย่างน้อย 1 เดือน เนื่องจากต้องซ่อมแซม Single Point Mooring (SPM: 800,000 บาร์เรลต่อวัน) 2 ใน 3 จุด ซึ่งได้รับความเสียหายจากพายุเมื่อวันที่ 20 ส.ค. 65
- Ministry of Petroleum and Natural Gas ของอินเดียรายงานโรงกลั่นนำน้ำมันดิบเข้ากลั่น (Throughput) ในเดือน ก.ค. 65 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 10.5% อยู่ที่ 5.06 ล้านบาร์เรลต่อวัน ขณะที่ผลิตน้ำมันดิบลดลงจากปีก่อน 3.8% อยู่ที่ 600,000 บาร์เรลต่อวัน และปริมาณนำเข้าน้ำมันดิบเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 35.4% อยู่ที่ 4.80 ล้านบาร์เรลต่อวัน
- บริษัทที่ปรึกษาทางด้านพลังงาน IIR คาดการณ์โรงกลั่นในสหรัฐฯ หยุดดำเนินการจากการปิดซ่อมบำรุงและลดอัตราการกลั่น (Offline Refining Capacity) สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 26 ส.ค. 65 ลดลงจากสัปดาห์ก่อนหน้า 165,000 บาร์เรลต่อวัน อยู่ที่ 441,000 บาร์เรลต่อวัน และคาดว่าในช่วงสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 2 ก.ย. 65 จะอยู่ที่ 392,000 บาร์เรลต่อวัน
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ
- Rosstat ของรัสเซียรายงานปริมาณการผลิตน้ำมันดิบและคอนเดนเสทในเดือน ก.ค. 65 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 60,000 บาร์เรลต่อวัน อยู่ที่ 10.76 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยรัสเซียผลิตคอนเดนเสทประมาณ 700,000-800,000 บาร์เรลต่อวัน
- ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ นาย Jerome Powell แถลงหลังการประชุม Central Bank’s Annual Economic Symposium ที่ Jackson Hole รัฐ Wyoming ในสหรัฐฯ เมื่อ 26 ส.ค. 65 ว่าสหรัฐฯ ยังมีภารกิจในการต่อสู้กับภาวะเงินเฟ้อ ส่งสัญญาณว่าจะยังเดินหน้าเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อสกัดภาวะเงินเฟ้อ แม้อาจกระทบกับการเติบโตทางเศรษฐกิจ ตลาดแรงงาน ภาคธุรกิจและครัวเรือน
เริ่มใช้จ่าย 1 ก.ย.นี้ “คนละครึ่ง เฟส 5” พบยังไม่ยืนยันสิทธิเกือบ 8 ล้านราย
แรงส่งท่องเที่ยวยังหนุนเศรษฐกิจไทย "ยังขยายตัวต่อเนื่อง"