การประชุมสุดยอดผู้นำเขตเศรษฐกิจ เอเปคครั้งที่ 33 ที่ไทยเป็นเจ้าภาพ วานนี้ (17 พ.ย.) สาระสำคัญอยู่ที่การประชุมรัฐมนตรีเอเปค ซึ่งตั้งแต่ช่วงเช้าที่ผ่านมา นายเชิดชาย ใช้ไววิทย์ อธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ เจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปคของไทย แถลงหลังการประชุมว่า ที่ประชุมได้ผลักดันร่างเอกสาร Bangkok Goals on BCG Economy โดยเน้น 3 ประเด็นหลัก คือ การร่วมกันฟื้นฟูเศรษฐกิจในเอเชีย-แปซิฟิค หลังการระบาดของโควิด 19 , การรับมือกับความเปลี่ยนแปลงของราคาพลังงานจากผลกระทบของสงครามรัสเซีย-ยูเครน
เช็กที่นี่ ปิดถนน18 พ.ย.65 ประชุม APEC 2022 แนะเลี่ยงเส้นทาง
เอกชนเขตเศรษฐกิจเอเปค เสนอ 69 ข้อ หวังให้ดันเศรษฐกิจ
และภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย ซึ่งหลังจากรัฐมนตรีเอเปคทั้งหมดได้เห็นชอบแล้วจะมีการลงนามในเอกสารนี้วันเสาร์ที่ 19 พฤศจิกายนนี้ ขณะเดียวกัน ในช่วงบ่ายวานนี้ ยังมีการประชุมแผนการนำเสนอการขับเคลื่อนไปสู่การจัดทำเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก หรือ Free Trade Area of the Asia-Pacific (FTAAP) ซึ่งถ้าจัดตั้งสำเร็จ ก็จะทำให้ภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกเป็นเขตการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลก
ส่วนช่วงเช้าที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวเปิดการประชุม APEC CEO Summit เพื่อผลักดันความร่วมมือกับภาคเอกชนส่งเสริมการเจริญเติบโตที่ครอบคลุมและยั่งยืน พร้อมสร้างบรรยากาศการดำเนินธุรกิจที่เปลี่ยนผ่านไปสู่ดิจิทัล พร้อมเน้นย้ำถึงความสำคัญของเวทีนี้ว่า เป็นการรวมตัวของภาคธุรกิจที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในภูมิภาค
ซึ่งในเวที APEC CEO summit ผู้นำจีน ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง จะต้องมาปาฐกถาในงานแต่มีการยกเลิกไม่ได้ขึ้นกล่าวในที่ประชุม แต่ส่งคำปราศรัยเป็นลายลักษณ์อักษร ว่า จีนมุ่งหวังสมาชิกกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก อาศัยบทเรียนในอดีตรับมือกับความท้าทายยุคใหม่ และเน้นย้ำถึงความร่วมมือทางเศรษฐกิจของเอเชีย-แปซิฟิกที่มีบทบาทอย่างมากต่อการพัฒนาในภูมิภาค
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรี ยังมีเวทีย่อย แบบ "ทวิภาคี" โดยวานนี้ได้มีการหารือทวิภาคีกับผู้นำทั้ง ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น และแคนาดา
เริ่มจากฝรั่งเศส ซึ่งนายกรัฐมนตรี เปิดทำเนียบรัฐบาล ต้อนรับ เอมานูว์แอล มาครงของฝรั่งเศส ในฐานะแขกพิเศษของเจ้าภาพ APEC 2022 ประเด็นที่ทั้งสองฝ่ายมีการหารือกัน ก็มีทั้งเรื่องเศรษฐกิจ ความมั่นคง วิชาการ รวมถึงการที่ทั้ง2ฝ่าย พร้อมสนับสนุนซึ่งกันและกัน ต่อการมีส่วนร่วมและมีบทบาทในภูมิภาคหรือเวทีโลก
ผู้นำอีกคณะหนึ่งที่ นายกรัฐมนตรี หารือทวิภาคีด้วย ก็คือ คณะของนายจอห์น ลี คา-ชิว ผู้บริหารเขตพิเศษฮ่องกง โดยที่ผ่านมาไทยและฮ่องกงมีความร่วมมืออย่างใกล้ชิด ทั้งในด้านการค้า การลงทุน ฯลฯ ซึ่งมีการระบุด้วยว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ผ่านมา จะเป็นโอกาสให้ทั้งสองฝ่ายร่วมแก้ปัญหาท่ามกลางความท้าทาย และยกระดับความร่วมมือ เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ สังคม รวมถึงแสวงหาความร่วมมือเพิ่มเติมในด้านต่าง ๆ ต่อไป
และเมื่อช่วงเย็นที่ผ่านมา คณะของนายคิชิดะ ฟูมิโอะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ก็มีการหารือทวิภาคีกับ นายกรัฐมนตรีไทยในโอกาสเยือนประเทศไทยเพื่อร่วมการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค และปิดท้ายด้วยการหารือทวิภาคกับ นายจัสติน ทรูโด นายกรัฐมนตรีแคนาดา