ผู้ว่าฯแบงก์ชาติ เตือน นักการเมืองช่วงหาเสียง ออกนโยบายนึกถึงเสถียรภาพทางการเงินประเทศ


โดย PPTV Online

เผยแพร่




คำต่อคำ กับ ผู้ว่าฯแบงก์ชาติ เตือนนักการเมืองช่วงหาเสียง ออกนโยบายให้นึกถึงเสถียรภาพทางการเงินของประเทศ อย่าเน้นนโยบายที่ทำแล้วคนติด เลิกยาก

ในช่วงหนึ่งของรายการ กาแฟดำ Double shot ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ  ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ให้สัมภาษณ์คุณสุทธิชัย หยุ่น จากคำถามที่ว่า

เศรษฐกิจ ปี 2566 จะเป็นปีที่ยากลำบาก เมื่อมหาอำนาจล้วนอ่อนแอ

เปิด 4 ธีมการลงทุนปี 2566 เกาะเทรนด์การเติบโตโลก ลดเสี่ยงพอร์ตหุ้น

พูดถึงหนึ่งในความกังวลเรื่องเศรษฐกิจที่ต่อเนื่องจากปีก่อนหน้ามาถึงปีนี้ (66) เป็นอย่างไรบ้าง

ตอบ : มีบางเรื่องที่ยังต่อเนื่องมาจากปีที่แล้ว อย่างเรื่องภายในประเทศ เช่น หนี้ครัวเรือน เป็นปัญหาต่อเนื่องและต้องแก้ ซึ่งไม่ได้แก้ได้ในเร็ววัน

และเรื่องของการวางพื้นฐานให้รองรับกับเรื่องความท้าทายใหม่ เช่น  เรื่องความยั่งยืน (sustainability) แต่ถามว่ามีความกังวลใหม่ๆ หรือไม่ มี 2 อย่างหลักๆ

1.ตลาดเงินโลก เพราะสัญญาณช่วงหลังมันเริ่มชัดขึ้นตามสุภาษิตไทย น้ำลดตอผุด คือตอมันเริ่มผุดมากขึ้น จากน้ำที่ลง คือ ธนาคากลางหลายประเทศ ประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ย เร็ว แรง ทำให้ ตอต่างๆ ผุดขึ้น เพราะหนี้ในภาพรวมของโลกหลายมีระดับสูง เพราะฉะนั้นเมื่อดอกเบี้ยมันขึ้นเร็วจะมีความเปราะบางเกิดขึ้น โดยเฉพาะความเปราะบางในประเทศที่เราไม่ค่อยเห็น อย่าง อังกฤษ หรือ สหรัฐอเมริกา

ความผิดปกติของตลาดโลกจะมากระทบเราอย่างไร

ตอบ : กระทบแน่อยู่แล้ว เวลาที่เกิดความผิดปกติกับตลาดโลก สิ่งที่เกิดขึ้นนักลงทุนก็จะวิ่งไปหาของที่ปลอดภัย เงินไหลออก เรากระทบแน่ แต่เมื่อเทียบกับประเทศอื่นเราสามารถรองรับได้ดีกว่าประเทศอื่น ซึ่งจะนำไปสู่เรื่องที่ 2 ที่กังวล  คือ เรื่องภายในประเทศ

ดร.เศรษฐพุฒิ อธิบายว่า หากมีการออกนโยบายแปลกๆ ที่กระทบเสถียรภาพทางการเงิน ก็จะไปบั่นทอนกับภูมิคุ้มกันต่างๆ ของเรา เพราะช่วงนี้ตลาดโลกให้ความสำคัญกับเรื่องเสถียรภาพเป็นพิเศษมากกว่าการไปกระตุ้น

เพราะฉะนั้นอย่าทำอะไรหวือหวา นโยบายการเงินการคลังไปคนละทาง ซึ่งในอังกฤษ นายกฯรัฐมนตรีคลังก็ต้องออก นายกรัฐมนตรีก็ต้องเปลี่ยน สะท้อนได้ว่าตลาดพร้อมที่จะลงโทษทุกคนไม่ว่าจะเป็นใคร ถ้าคุณทำนโยบายแปลกๆ ลองนึกภาพตลาดลงโทษอังกฤษขนาดนั้น ถ้าเราประเทศเล็กๆ อย่างไทย ทำอะไรไม่เหมาะสมก็จะได้ไม่คุ้มเสีย แต่ตอนนี้ผมเข้าใจว่ามันก็เป็นเรื่องช่วงที่พรรคการเมืองหาเสียง

กังวลตรงนี้เพราะมีสัญญาณบอกมาหรือไม่ 

ตอบ : ตอนนี้ก็เข้าใจว่าเป็นช่วงหาเสียง แต่มันชัดนะครับว่าสภาวะโลกต่างๆ ตลาดมันพร้อมลงโทษ มันไม่เอื้อต่อการที่ทำอะไรที่บั่นทอนเรื่องเสถียรภาพทางการเงิน เป็นความกังวลเกี่ยวกับนโยบายที่หาเสียงและความต้องการของคนที่มองหาคำตอบง่ายเกินไป ซึ่งฟังดูดีแต่ไม่นึกถึงผลข้างเคียงที่จะตามมา อาจจะไม่เห็นตอนนี้แต่ผลข้างเคียงมันมีอยู่แล้ว

ความแตกต่างระหว่างมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจกับนโยบายหาเสียง บางครั้งมีเส้นบางๆ ระหว่างกัน แบงก์ชาติแบ่งอย่างไร

ตอบ : ผลข้างเคียง คือ บางอย่างที่เป็นนโยบาย ถ้ายกตัวอย่างกระตุ้นแบบสไตล์การคลัง เหมือนจบในตัวเอง สำหรับผมอาจเถียงได้ว่ากระทบกับฐานะการคลัง แต่โดยรวมฐานะการคลังไม่ได้ย้ำแย่ขนาดนั้นถ้าทำแล้วมันหมดไป ทำแล้วจบ ผลข้างเคียงไม่เยอะ

แต่...อะไรที่ทำแล้วคนเริ่มติด อันนี้ไม่ดี เริ่มติด ชิน ทำแล้วทำให้วินัยเสีย ผลข้างเคียงยาว แล้วบ้านเรามันติดเวลาทำอะไรแล้วช่วยคนมันง่าย แต่พอจะเลิกมันยาก ตัวอย่างที่จำได้ดีมาก และเตือนตัวเองกับทีมตลอดคือ

ตอนปี 2540 มีการลดภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จาก 10% เป็น 7% เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะตอนนั้นเศรษฐกิจลำบากจริง และบอกว่าจะทำ 2 ปี แต่นี่กลายเป็น 20 กว่าปี ยังกลับไม่ได้ ซึ่งอะไรแบบนี้ เพราะขาลงมันง่าย ขาขึ้นมันยาก

หรือมาตรการบางอย่างช่วยไปแล้วมันมีวันหมดอายุ ก็จะมีแรงกดดันจะให้ต่อไปเรื่อยๆ มันไม่มีวันหยุด แล้วหลายคนก็จะบอกว่าตอนนี้มันยังไม่พร้อม เศรษฐกิจมันยังไม่พร้อม คำถามคือแล้วเมื่อไหร่พร้อม จะบอกว่ารับหู รับตา ไม่ดูก็ไม่ได้ แต่บอกว่าพร้อมคือทุกคนยอมรับมันก็ไม่ใช่

ตลอด 2 ปีกว่าบนเก้าอี้ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ เคยต้องเตือนรัฐบาลแบบไม่เป็นทางการหรือไม่ ถึงนโยบายที่มีผลกระทบต่อวินัยการเงิน การคลัง

ตอบ : มีอยู่แล้วครับ ซึ่งเป็นหน้าที่ปกติ และแรงตีกลับก็แล้วแต่เรื่อง

ตอนนี้กำลังเข้าสู่ช่วงหาเสียงนโยบายเหล่านี้ก็ยิ่งจะมีมากขึ้น ทำอย่างไร

ตอบ : อันนี้ที่กังวล ก็เข้าใจเป็นเรื่องปกติ อยู่บนโลกของความเป็นจริงว่านโยบายสไตล์แบบนี้ก็ต้องมี แต่อย่างที่บอกอยากให้ดูนโยบายที่ผลข้างเคียงมันไม่เยอะ อยากกระตุ้น สนับสนุนอะไรก็ทำ แต่ให้แบบมันจบในตัวมันเองอย่าให้ผลข้างเคียงเยอะ คนเริ่มเสพติดอันนี้ไม่ดี

แต่พรรคการเมืองไม่สามารถประเมินได้ เพราะเป้าหมายหลักทำอย่างไรให้ประชาชนชอบ หาเสียง ได้ผลระยะสั้น แล้วแบงก์ชาติจะไปถ่วงอำนาจ ข้อมูลอย่างไร

ตอบ : เราคงไม่อยากปะทะ เพราะมันเป็นเรื่องการเมืองเพราะหน้าที่เราที่จะพูดและอธิบายให้คนเข้าใจว่าทำไมเสถียรภาพสำคัญ และการทำอะไรที่มันกระทบเสถียรภาพมาก และต้องชั่งผลที่ได้ระยะสั้นและระยะยาว

 

นโยบายค่าแรง 600 บาทต่อวัน แบงก์ชาติว่าอย่างไร

ตอบ : เรื่องค่าแรงต่างๆ ต้องดูภาพรวมหลายๆ อย่างด้วยกัน ต้องชั่งน้ำหนักหลายอย่าง ค่าครองชีพ แต่เงินเฟ้อเราไม่เพิ่ม ปี 66 โดยรวม 3% ไม่ได้โตเร็วแรงขนาดนั้น และมองในมิติอื่นด้วย เช่น ขีดความสามารถในการแข่งขัน แต่ท้ายที่สุด การลงทุน การสร้างผลิตผลที่มีประสิทธิภาพ แทบจะเป็นวิธีเดียวที่สร้างความยั่งยืน มั่งคั่ง คือถ้านึกภาพ ถ้าสามารถยกระดับความเป็นอยู่ของคนได้ทั้งหมด ทั่วถึง ถาวร จากการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำได้อย่างเดียวโลกก็คงไม่มีความยากจน ซึ่งไม่เถียงว่าความเหมาะสมในการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำมีไหม มี แต่ต้องดูหลายๆ อย่างด้วย

 

PR - ตารางคะแนน-2_B PR - ตารางคะแนน-2_B
TOP เศรษฐกิจ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ